คำถามเกี่ยวกับโรค
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
เรื่อง : หูด
หูด (Warts) คือ โรคติดเชื้อของผิวหนังและเยื่อบุที่เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เอชพีวี (HPV หรือ Human papilloma virus) ซึ่งเชื้อไวรัสตัวนี้มีมากกว่า 100 ชนิดย่อย โดยแต่ละชนิดย่อยใช้ตัวเลขในการเรียกชื่อและทำให้เกิดหูดที่ตำแหน่งต่างๆ ซึ่งมีหน้าตาหูดแตกต่างกันไป เช่น เอชพีวี 1 ก่อให้เกิดหูดที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า และ เอชพีวี 6 ก่อให้เกิดหูดที่บริเวณอวัยวะเพศภายนอก เป็นต้น
หูดเป็นโรคติดต่อที่ติดต่อได้ด้วยการสัมผัสของผิวหนังโดยมีระยะฟักตัวประมาณ 2 - 6 เดือน เนื่องจากเชื้อหูดจะแบ่งตัวเฉพาะที่ผิวหนังและเยื่อบุเท่านั้น ไม่ลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและไม่แพร่เชื้อเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ เชื้อหูดจึงไม่ติดต่อผ่านทางอื่นๆ เช่น ไอ จามรดกัน อย่างไรก็ดีบางคนอาจเป็นพาหะโรคได้ กล่าวคือ ผิวหนังดูปกติ ไม่มีตุ่มนูน แต่มีเชื้อหูดอยู่ที่ผิวหนังซึ่งทำให้สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้โดยการสัมผัสผิวหนังส่วนที่มีเชื้อ
1. หูดที่ผิวหนัง: อาจจะเรียบหรือนูนเล็กน้อย จนกระทั่งนูนออกมามาก มีผิวขรุขระ แข็งกว่าหนังธรรมดา และเวลาตัดส่วนยอดของหูดแล้ว จะเห็นเส้นเลือดฝอยเล็กๆ ที่อุดตันภายใน และมีจุดเลือดออกเล็กๆ ในบางครั้งการติดเชื้อหูดอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังใดๆ เลยก็ได้
2. หูดอวัยวะเพศ: อาจเรียกว่าหูดหงอนไก่ (Condyloma accuminata) พบที่อวัยวะเพศภายนอกทั้งชายและหญิง ในกลุ่มชายรักร่วมเพศอาจพบหูดบริเวณรอบปาก/รูทวารหนัก หูดมีลักษณะนูน ผิวตะปุ่มตะป่ำคล้ายหงอนไก่
3. หูดที่เยื่อบุ: เช่น ที่เยื่อบุตา สายเสียง กล่องเสียง ซึ่งลักษณะหูดจะเป็นตุ่มนูน มีผิวขรุขระคล้ายหูดทั่วไป
แพทย์จะประเมินจากหลายๆ ปัจจัย เช่น ขนาดของหูด จำนวนหูดที่เกิด ลักษณะของหูด ตำแหน่งที่เกิด อายุผู้ป่วย และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย รวมทั้งดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปวิธีรักษาหูดได้แก่
1. การไม่รักษา: ประมาณ 65% ของผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันปกติ โรคหูดจะยุบหายเองภายในประมาณ 2 ปี ดังนั้นถ้าเป็นหูดขนาดเล็กและมีจำนวนเล็กน้อย อาจเลือกวิธีนี้ได้
2. การรักษาด้วยยา: ซึ่งควรเป็นการรักษาโดยแพทย์เท่านั้น โดยมียาหลายชนิดให้เลือกใช้ เช่น ยาทา ยาฉีดเฉพาะที่ ยากินและยาฉีดเข้าเส้นเลือด แต่ยังไม่มีวิธีไหนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
3 การผ่าตัด: เช่น การรักษาโดยใช้ความเย็น การใช้เลเซอร์ การจี้ด้วยไฟฟ้า การผ่าตัดแบบใช้มีด
ในบุคคลที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องมักไม่หายเอง การรักษาก็ไม่ค่อยได้ผล มีอัตราการเกิดเป็นใหม่สูง และหูดอาจกลายเป็นมะเร็งได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
- การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
- การหลีกเลี่ยงการสัมผัสรอยโรค
- ล้างมือเป็นประจำ เมื่อสัมผัสสิ่งของสาธารณะ
- ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกัน และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า เสื้อผ้า รองเท้า เป็นต้น
- การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีบางสายพันธุ์