logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ ฝีมะม่วง

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ฝีมะม่วง

โรคฝีมะม่วง หรือ กามโรคต่อมน้ำเหลือง หรือกามโรคท่อน้ำเหลือง (Lymphogranuloma venereum ย่อว่า LGV) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดียทราโคมาติส ติดต่อโดยการร่วมเพศหรือสัมผัสถูกหนองของฝีมะม่วงโดยตรง ทำให้เกิดแผลขนาดเล็ก ไม่เจ็บ ที่อวัยวะเพศก่อน ซึ่งเพราะไม่เจ็บบางครั้งผู้ป่วยจึงไม่สังเกตเห็น ต่อมาจะทำให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ทำให้เกิดอาการปวดบวม เดินลำบาก เรียกตามภาษาทั่วไปว่า ไข่ดันบวม ทำให้เกิดมีการอักเสบบริเวณอวัยวะเพศหรือในอุ้งเชิงกราน (การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) นำไปสู่การมีบุตรยาก การตั้งครรภ์นอกมดลูก การปวดท้องน้อยเรื้อรัง การอักเสบที่ลูกอัณฑะ ท่อปัสสาวะอักเสบ หรือกรณีที่มีอักเสบที่รูทวารจะทำให้ปวดทวารตลอดเวลา อาจถ่ายอุจจาระไม่ออก หรืออาจมีการตีบตันของรูทวาร

โรคนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 3-30 วัน ส่วนมากจะใช้เวลา 7-10 วันหลังจากการสัมผัสเชื้อ โดยการเกิดแผลมักเกิดในช่วง 3-10 วันหลังสัมผัสเชื้อ ส่วนการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองมักเกิดประมาณ 10-30 วันหลังสัมผัสเชื้อ

  1. การมีคู่นอนหลายคน
  2. การไม่สวมถุงยางอนามัยชายขณะร่วมเพศ
  3. การมีรักร่วมเพศระหว่างชายกับชาย

ก. อาการระยะเริ่มแรก: มักเกิดหลังได้รับเชื้อประมาณ 3-30 วัน (ทั่วไป 3-10วัน) จะมีตุ่มนูน ใส หรือ แผลขนาดเล็กเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศหรือใกล้ทวารหนัก หรือ มีแผลในช่องปากหรือลำคอกรณีมีเพศสัมพันธ์ทางปาก โดยแผล/ตุ่มจะหายไปเองภายใน 2-3 วันโดยที่ผู้ป่วยมักไม่ทันได้สังเกตพบ

ข. อาการระยะต่อมา:

  • ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวมโตติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่ และ เจ็บมาก ตรงกลางเป็นร่องของพังผืดคล้ายร่องของมะม่วงอกร่อง จึงเรียกว่า "ฝีมะม่วง" ซึ่งอาจเกิดโรคเพียงข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้
  • ผิวหนังบริเวณที่เป็นฝีจะมีอาการอักเสบมีลักษณะบวมแดงร้อนร่วมด้วย
  • บางคนอาจปวดฝีมากจนเดินไม่ถนัด
  • บางครั้งจะทำให้อัณฑะบวม หรือบริเวณปากช่องคลอดบวมมาก
  • ปวดแสบเมื่อปัสสาวะและอุจจาระ
  • บางคนอาจมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดข้อ เยื่อตาอักเสบ มีผื่นขึ้นตามตัว

ทั้งนี้ ฝีมะม่วง มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ถ้าไม่ได้รักษา ฝีอาจยุบหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือเป็นเดือน แต่บางรายฝีอาจแตกเป็นรูหลายรูและมีหนองไหล กลายเป็นแผลเรื้อรัง ซึ่งปัจจุบันโรคนี้มีแนวโน้มพบสูงขึ้น โดยเฉพาะในชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายด้วยกัน และในกลุ่มที่มีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ทำให้เกิดการอักเสบของช่องทวารหนักอย่างมาก (Ulcerative proctitis) มีอาการปวดก้น อยากถ่ายอุจจาระตลอดเวลา มีหนองไหลทางรูทวาร และมีเลือดออกทางทวารหนักได้

การรักษาโรคฝีมะม่วง ต้องรักษาทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้ป่วยและคู่นอนทุกคน เพื่อให้โรคหายและไม่ไปเป็นพาหะโรค ทั้งนี้ โรคนี้สามารถรักษาหายได้ในคนปกติที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายปกติ ส่วนในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เช่น โรคเอดส์ มีแนวโน้มจะติดเชื้อซ้ำหรือรักษาแล้วไม่หายขาด อาจต้องเปลี่ยนชนิดของยาปฏิชีวนะโดยการตรวจเพาะเชื้อเพื่อหาการตอบสนองของโรคต่อยาปฏิชีวนะชนิดต่างๆ