ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลไทย
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 5 กุมภาพันธ์ 2562
- Tweet
ห้องฉุกเฉินทุกโรงพยาบาลมีสภาพที่แออัด ผู้ป่วยเต็มไปหมด หมอเวร พยาบาลทำงานกันอย่างหนัก แทบไม่ได้พัก ส่งผลให้การบริการได้ไม่มีประสิทธิภาพที่ดี มีข้อร้องเรียน ฟ้องร้อง ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ป่วย ประชาชนทั่วไป และผู้ให้บริการ ไม่ว่าโรงพยาบาลของรัฐจะจัดบริการเพิ่มการบริการที่ห้องฉุกเฉินอย่างไร ก็ยังไม่เพียงพอต่อผู้มารับบริการ เพราะอะไร ทำไมผู้มารับบริการถึงมีจำนวนมากมายขนาดนั้น ผมลองทบทวนถึงผู้ป่วยที่มารับบริการ ณ ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งมีหมอปฏิบัติงานจำนวนมาก ทั้งหมอเวรเวชปฏิบัติฉุกเฉิน หมออายุรกรรม หมอเด็ก หมอศัลยกรรม และหมอเวชปฏิบัติทั่วไป แต่ก็ยังบริการไม่ทันความต้องการของผู้ป่วยและญาติ เป็นเพราะอะไร
1. ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งที่มารับการรักษานั้นไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินจริงๆ ตามเกณฑ์การคัดแยกของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่แพทย์ พยาบาลต้องให้การรักษานั้นมีจำนวนเกินความเหมาะสม ส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ ได้รับการรักษาที่ล่าช้า จากการสำรวจความเข้าใจของผู้มารับการรักษาพบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ผู้ป่วยจะทราบว่าอาการเจ็บป่วยที่ฉุกเฉินคืออะไรบ้าง แต่ไม่รู้ว่าอาการรุนแรง เร่งด่วนแบบไหนที่ไม่ฉุกเฉิน จึงทำให้มารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินหมด
2. การรับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินในเกือบทุกโรงพยาบาลก็สามารถให้บริการรักษาได้ทุกโรคทุกอาการ แต่ระยะเวลารอคอยไม่นานมากนัก คือเร็วกว่าการตรวจผู้ป่วยนอกแบบปกติ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจึงเลือกมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน จึงส่งผลให้ผู้ป่วยห้องฉุกเฉินมีเป็นจำนวนมาก
3. ผู้ป่วยบางส่วนทำงานเป็นผลัด ไม่สะดวกมารับการรักษาช่วงเวลากลางวัน เพราะต้องทำงานทุกวัน ดังนั้นจึงมีเวลาหลังเลิกงาน จึงมารักษาในช่วงเวรบ่าย หรือเวรดึกของโรงพยาบาล กรณีนี้ก็น่าเห็นใจของทั้งผู้ป่วยและผู้ให้การรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องทำงานตั้งแต่เช้าถึงดึก เช่น พนักงานห้าง ขับรถรับจ้าง
4. ผู้ป่วยมีอาการตั้งแต่กลางวันแต่ไม่มีใครพามาโรงพยาบาล ลูกๆ เลิกงานมาตอนค่ำก็เลยพามาตรวจที่ห้องฉุกเฉิน
5. ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง ไม่ฉุกเฉิน แต่ก็กลัวว่าพรุ่งนี้อาการจะไม่หาย หรือแรงมากขึ้น จึงมาหาหมอที่ห้องฉุกเฉินตอนกลางคืน
6. ผู้ป่วยยาหมดพอดี วันรุ่งขึ้นก็ไม่ว่าง หรือไม่มีนัด ก็เลยรีบมารับยาตอนกลางคืนที่ห้องฉุกเฉิน
7. ผู้ป่วยเด็กเล็ก พ่อแม่ไม่มั่นใจในการดูแลลูก เนื่องจากมีอาการไข้สูง กลัวชัก ท้องเสียไม่ดูดนม หรือมีไข้ชัก ก็จะรีบพาลูกมาที่ห้องฉุกเฉิน
8. ผู้ป่วยมาทำแผล ฉีดวัคซีนบาดทะยักตอนเลิกงาน เพราะกลางวันไม่ว่างต้องทำงาน
9. ผู้ป่วยตั้งใจจะมาตรวจตอนเช้า แต่เดินทางมาถึงกลางดึก จึงมาตรวจที่แผนกฉุกเฉิน เพราะเห็นว่าไหนๆ ก็มาถึงแล้ว และคนไข้ไม่เยอะด้วย ได้ตรวจเร็ว
10. ผู้ป่วยถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลชุมชน แต่กว่ามาถึงโรงพยาบาลจังหวัดก็ค่ำ จึงต้องมาตรวจที่ห้องฉุกเฉิน
สมมุติว่าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีแพทย์ พยาบาลพร้อมให้บริการตลอดเวลา รอผู้ป่วยมารักษา ผมเชื่อว่าผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนก็น่าจะพอใจ ไม่มีปัญหาด้านการให้บริการ เพราะโรงพยาบาลมีรายได้เกิดขึ้น และโรงพยาบาลมีความพร้อม แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐที่เป็นปัญหา เพราะเรามีข้อจำกัดในทุกๆ ด้าน ดังนั้นเราคงต้องหาทางออกที่ทุกคนน่าจะยอมรับได้ และทำให้การรักษาพยาบาลเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผมลองเสนอวิธี ดังนี้
1. ประชาสัมพันธ์แนวทางการคัดกรองแยกผู้ป่วยที่มารักษาในห้องฉุกเฉินว่ามีกี่รูปแบบ แบบไหนที่จัดว่าเป็นฉุกเฉินจริง แบบไหนที่รอได้ แนะนำผู้ป่วยและญาติจนเข้าใจอย่างดี และยอมรับการคัดกรองดังกล่าว
2. เปิดบริการห้องตรวจกรณีไม่ฉุกเฉิน เพื่อบริการผู้ป่วยที่ไม่สามารถมารับบริการในเวลาปกติได้ โดยคิดค่าบริการรักษาพยาบาล เพื่อนำค่าบริการนั้นมาใช้ในการบริหารจัดการด้านการรักษาพยาบาล
3. สร้างความตะหนักให้กับประชาชนทราบว่าการที่ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินแล้วมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินนั้นส่งผลเสียอะไรบ้าง เพื่อให้สังคมรับรู้สิ่งนี้ด้วย
4. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงพยาบาลและชุมชน ให้มีการพูดคุยปัญหานี้ร่วมกัน เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมในแต่ละโรงพยาบาล