โรงพยาบาลขาดทุน กับ คนไทยล้มละลาย
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 18 มกราคม 2562
- Tweet
ดราม่าในวงการแพทย์ที่ทุกคนต้องพูดถึงคือ การขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐ จนกระทั่งรัฐบาลต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 5000 ล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาขาดทุนดังกล่าว และทุกคนก็มุ่งไปที่ สปสช. เป็นผู้ทำให้เกิดการขาดทุนด้วยเหตุผลต่างๆ วันนี้ผมอยากมาชวนผู้อ่านคิดว่าการที่โรงพยาบาลรัฐขาดทุน กับ คนไทยล้มละลายอะไรสำคัญกว่ากัน แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าโรงพยาบาลของรัฐขาดทุนไปเรื่อยๆ โรงพยาบาลจะต้องถูกปิด เพราะเป็นหน่วยงานที่ไม่สามารถเปิดบริการได้เนื่องจากการขาดสภาพคล่องด้านการเงิน
1. โรงพยาบาลขาดทุนกับคนไทยล้มละลาย จะเลือกอะไร ผมตอบได้เลยว่าไม่เลือกอะไรเลยถ้าเป็นไปได้ แต่ถ้าเรามีคนไข้ต้องตายต่อหน้าถ้าเราไม่รักษาผู้ป่วยรายนั้น เพราะโรงพยาบาลไม่มีเงินจะซื้อยา ซื้อเครื่องมือต่างๆ มารักษาผู้ป่วย ผมยังเชื่อว่าหมอและทีมสุขภาพทุกคนจะพยายามหาวิธีรักษาและพยายามรักษาให้ถึงที่สุด ถึงแม้จะไม่มีเงิน ถ้าการรักษานั้นเป็นมาตรฐานที่เหมาะสมกับประเทศไทย คงไม่มีใครปล่อยให้ผู้ป่วยตายไปต่อหน้าต่อตาแน่นอน
2. แล้วถ้าโรงพยาบาลไม่มีเงินจริงๆ จะบริหารอย่างไร ผมก็ตอบไม่ได้หรอกครับ แต่ก็คิดว่าทางผู้บริหารก็ต้องพยายามหาทางประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่สามารถพัฒนาโครงการใหม่ๆ หรืองานด้านการพัฒนางาน พัฒนาบุคคลได้ แต่การรักษาพยาบาลต้องเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะตัดงบประมาณ เพราะเราต้องรักษาผู้ป่วย
3. แล้วถ้าโรงพยาบาลไม่มีเงินจริงๆ จะต้องปิดหรือไม่ ผมคิดว่าไม่น่าจะปิดแน่นอนครับ ผมยังเคยเห็นว่าหน่วยงานของรัฐหรือวิสาหกิจจะถูกปิดเลย เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย ขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร การบินไทย แล้วโรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานบริการของรัฐด้านสุขภาพมีความสำคัญต่อความมั่นคงและการพัฒนาประเทศอย่างมากถึงมากที่สุด ผมจึงเชื่อว่าไม่มีทางที่จะปิดตัวลงอย่างแน่นอน แต่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการอะไรบางอย่าง เพื่อความอยู่รอด
4. แล้วเราจะทำอย่างไร เพราะตอนนี้ก็ยังขาดทุน ผมก็เองก็แปลกใจว่าเวลาหน่วยงานอื่นๆ ขาดทุนก็จะมีการปรับโครงสร้าง ปรับรูปแบบการทำงาน ปรับลดต้นทุน เพิ่มการหารายได้ โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน บัญชี การบริหารเข้ามาช่วย แต่โรงพยาบาลของรัฐนั้นบริหารโดยแพทย์ที่น่าจะเป็นผู้มีความรู้ด้านการบริหารไม่มากนัก เพราะตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ก็ไม่เคยเรียนมาเลย มาศึกษาจากหน้างานที่ทำหรือไม่ก็เป็นการเข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับต่างๆ แต่ก็ไม่น่าจะเชี่ยวชาญเท่ากับผู้บริหารตัวจริงที่อาจไม่ได้เป็นแพทย์เข้ามาร่วมด้วย และก็ไม่เคยให้ทางเจ้าหน้าที่ทั้งโรงพยาบาล คนในชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลหรือระบบสุขภาพเข้ามาร่วมปรึกษาหารือกัน
5. แล้วทำไมเราถึงไม่เชิญผู้เชี่ยวชาญต่างๆ หรือปรับระบบการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารบุคคล การลดค่าใช้จ่าย การเพิ่มรายรับ การมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งในระดับพื้นที่โรงพยาบาลนั้นๆ ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ
ผมยังเชื่อมั่นว่าปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐน่าจะได้รับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ดีขึ้น ถ้ามีการระดมความคิด ระดมผู้ร่วมอุดมการณ์มาช่วยกันคิดแก้ปัญหา น่าจะดีกว่าการโทษว่า สปสช. ทำให้ขาดทุนครับ