ระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองและโรคระบบประสาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

drsomsaktalk-28


      

      ภาคอีสานเป็นภาคที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ 20 จังหวัด และประชากรมากกว่า 22 ล้านคน ประชาชนส่วนใหญ่มีเศรษฐานะไม่ดี และมีปัญหาสุขภาพจำนวนมาก แต่การเข้าถึงระบบบริการด้านสุขภาพไม่ดี เพราะการเดินทางที่ไกล แพทย์เฉพาะทางมีจำนวนไม่เพียงพอ และกระจุกอยู่เฉพาะเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ดังนั้นโรคที่มีความเร่งด่วนในการรักษา เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพาต) มีความจำเป็นต้องที่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะมีระยะเวลาที่สมองจะเกิดการขาดเลือดได้นานที่สุด ก็ต้องไม่เกิน 270 นาที การรักษายิ่งเร็วที่สุดเท่าไหร่ โอกาสหายเป็นปกติก็มีสูงมากขึ้น โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนก็ต่ำ ดังนั้น การสร้างระบบการรักษาที่มีเครือข่ายมากที่สุดให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ในภาคอีสาน จึงจะทำให้คนอีสานได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน การพัฒนาระบบการรักษาจึงได้เริ่มขึ้น ดังนี้

      1. การพัฒนาความพร้อมของโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ในภาคอีสานให้มีความพร้อมในการเปิดบริการ stroke fast track ที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ โดยการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองให้กับทีมสุขภาพ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ กลุ่มที่สำคัญคือ อายุรแพทย์ และพยาบาล โดยการสร้างความรู้และสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นในทีมผู้ให้บริการ เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ทุกคนไม่เคยทราบมาก่อน โดยการจัดประชุมวิชาการ และเดินสายให้ความรู้ในโรงพยาบาลต่างๆ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

      2. การพัฒนาระบบการฝึกอบรมอายุรแพทย์ให้มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ตรงในการรักษา โดยประสานขอความร่วมมือไปยังสมาคมประสาทวิทยา และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ เพื่อให้แพทย์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรแพทย์นั้น ต้องมีประสบการณ์ตรงในการรักษาผู้ป่วยด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด รวมทั้งการสอนนักศึกษาแพทย์ในชั้นคลินิก ปีที่ 4-6 ให้มีประสบการณ์ที่มากพอในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

      3. การพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่สงสัยโรคหลอดเลือดสมองโดยร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และการจัดทำแผนบริการด้านสาธารณสุขของประเทศ (service plan)

      4. การพัฒนาด้านความรู้ ความเข้าใจและการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการสงสัยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งประชาชนทั่วไปยังมีความรู้และการปฏิบัติตัวที่ยังไม่เหมาะสม เช่น ไม่ทราบว่าการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ต้องเข้าถึงระบบบริการด้วย stroke fast track ต้องรีบมารักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ให้เร็วที่สุด ไม่เคยทราบว่าการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดเป็นการรักษาที่ดี เป็นต้น

      5. การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการให้บริการของทีมผู้ให้บริการ เพราะการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนั้นต้องให้การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คือ รวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูงสุด

      ซึ่งการทำงาน 5 ข้อข้างต้นนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในสังคมอย่างมาก ซึ่งในภาคอีสานนั้นประสบความสำเร็จในการสร้างและพัฒนาระบบบริการ stroke fast track ซึ่งปัจจัยหลักนั้น คือ ความเป็นขอนแก่น หมายความว่าในทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นทั้งสิ้น เมื่อมีการประสานงานขอความร่วมมือ ก็จะได้รับความร่วมมืออย่างดี ทำให้ระบบบริการ stroke fast track ในภาคอีสานสามารถดำเนินการไปด้วยดี