แนวทางการพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมอง
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 14 ธันวาคม 2561
- Tweet
ปัญหาโรคหลอดเลือดสมองซึ่งประกอบด้วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด และเลือดออกในเนื้อสมองนั้น เป็นปัญหาที่สำคัญของระบบสาธารณสุขและชีวิตของคนไทยอย่างมาก เนื่องจากมีอัตราการเสียชีวิตและความพิการสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ถึงแม้ประเทศไทยจะมีระบบบริการ stroke fast track และมีเครือข่ายการให้บริการทั่วทั้งประเทศไทย แต่ก็ยังพบว่าผู้ป่วยมีการเข้าถึงระบบบริการดังกล่าวไม่มากนัก ดังนั้นเราต้องมาร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องในการพัฒนาระบบบริการดังกล่าว เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ผมมีแนวคิดดังนี้
1. การส่งเสริมความรู้และการตะหนักของคนไทยต่อโรคหลอดเลือดสมอง ปัจจุบันเรายังพบว่าคนไทยยังมีความรู้ ความเข้าใจและการปฏิบัติตัวต่อโรคหลอดเลือดสมองไม่ดีนัก ยังไม่รู้ถึงปัจจัยเสี่ยงในการก่อโรค อาการที่บอกว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และไม่ทราบว่าเมื่อมีอาการผิดปกติแล้วต้องรีบไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทันที เพื่อให้ทันต่อการรักษา อย่างช้าต้องไม่เกินเวลา 270 นาที จากการเก็บข้อมูลการเข้าถึงระบบบริการของผู้ป่วยในเขตสุขภาพที่ 7 จำนวน 1600 ราย พบว่าผู้ป่วยเข้าถึงระบบดังกล่าวในโรงพยาบาลชุมชนประมาณ ร้อยละ 55 การเข้าถึงโรงพยาบาลจังหวัดเพียงร้อยละ 45 เท่านั้น เป็นเพราะว่าผู้ป่วยไม่รู้ว่าอาการผิดปกติดังกล่าวนั้นเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง และที่สำคัญไม่รู้ว่าเมื่อมีอาการผิดปกติ ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที ซึ่งการสร้างความตะหนักดังกล่าวนี้ต้องใช้หลากหลายวิธี เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจและการปฏิบัติที่ถูกต้อง เขตสุขภาพที่ 7 ได้มีกิจกรรมสร้างความรู้ และเพิ่มความตะหนักในหลากหลายกิจกรรม เช่น การสอนนักเรียน ครู การจัดกิจกรรมกับผู้สูงอายุในชุมชนในวันรับเบี้ยผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมรณรงค์ความรู้ในโอกาสต่างๆ เช่น วันอัมพาตโลก การจัดทำปฏิทินรูปในหลวงและให้ความรู้ร่วมด้วย การจัดทำหนังสือ infographic ภาพยนตร์โฆษณา บทความผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ FaceBook เพจหมอสมศักดิ์ รวมทั้ง application Fast Track หรือ เรียกรถพยาบาล แต่ก็ยังพบว่าคนไทยยังมีความรู้ไม่ดีพอ โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยง การคัดกรองความดันโลหิตสูง ผมจึงมีแนวคิดว่าเราน่าจะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน สามารถเข้าถึงหรือเห็นได้ตลอดเวลา เช่น การประชาสัมพันธ์ผ่านร้านสะดวกซื้อต่างๆ และควรมีเครื่องวัดความดันโลหิตเหมือนที่ร้านสะดวกซื้อมีเครื่องชั่งน้ำหนักอยู่ที่หน้าร้าน ลองนึกภาพดูครับ ถ้าทุกร้านสะดวกซื้อมีเครื่องวัดความดันโลหิตให้สามารถตรวจวัดได้ตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศไทย ผมว่านอกจากจะทำให้คนไทยรู้ความดันโลหิตตนเองแล้ว ยังส่งผลต่อความตะหนักในด้านสุขภาพ และอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ผมว่าน่าจะลองดูนะครับ หรือถ้าให้ดี ทุกหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจต่างๆ ก็มีเครื่องวัดความดันโลหิตด้วย ผมเชื่อมั่นเลยว่าคนไทยจะมีความตะหนักในด้านสุขภาพอย่างแน่นอน ผมอยากเห็นโครงการนี้จริงๆ ครับ Convenience Store for Life : CSL
2. การเข้าถึงระบบบริการ stroke fast track เมื่อคนไทยทุกคนรู้จักโรคหลอดเลือดสมองเป็นอย่างดี มีความรู้ ความตะหนัก ก็ต้องพัฒนาระบบรองรับการเข้าถึงให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นต้องเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงโดยการพัฒนาระบบการส่งต่อให้ดีทั้งในส่วนของภาครัฐและองค์กรต่างๆ ในชุมชน เช่น การร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในการนำส่งผู้ป่วยในชุมชนถึงโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง ดังนั้นไม่ว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติเวลาใด จะมีรถส่วนตัวหรือไม่มี ก็สามารถใช้บริการรถพยาบาลขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในชุมชนได้ตลอดเวลา One Tambol One Car (ambulance)
3. ระบบบริการ stroke fast track ที่เป็นมาตรฐานระดับชาติทั่วทั้งประเทศ โดยการสร้างความรู้ที่ถูกต้องให้ทีมสุขภาพทั้งระบบทั่วทั้งประเทศ โดยผ่านการอบรมในโรงพยาบาลแม่ข่ายที่ได้มาตรฐาน ร่วมกับการอบรมผ่านแบบเรียนออนไลน์ (stroke nurse online) ที่ทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นกำลังพัฒนาในขณะนี้ ถ้าเจ้าหน้าที่ในทีมทุกคนมีความรู้ที่ถูกต้องก็จะทำให้ระบบบริการ stroke fast track ในทุกโรงพยาบาลได้มาตรฐานเดียวกัน ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้มาตรฐานเดียวกัน
4. การเพิ่ม node ที่สามารถให้บริการรักษาได้ครบวงจร คือตั้งแต่การคัดกรอง จนถึงการให้ยาละลายลิ่มเลือด rt-PA และทำกายภาพบำบัดได้ ซึ่งต้องร่วมมือกับศูนย์เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ของภาคเอกชน ในการเพิ่มจุดบริการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองทุกๆ ระยะทาง 60-80 กิโลเมตรควรมีโรงพยาบาลที่สามารถให้การรักษาได้ ซึ่งผมมั่นใจว่าการร่วมมือของภาครัฐกับเอกชนน่าจะทำได้
5. การพัฒนาระบบบริการดูแลรักษาระยะยาวในชุมชน เนื่องจากข้อมูลผลการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลันในปัจจุบัน พบว่าอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลดีขึ้นมาก คือต่ำกว่าร้อยละ 7 แต่การเสียชีวิตเมื่อ 30 วันหลังจากออกจากโรงพยาบาลพบว่ายังมีแนวโน้มที่สูงมาก คือ มากกว่าร้อยละ 13 เนื่องมาจากการดูแลเมื่อผู้ป่วยกลับไปรักษาต่อเนื่องระยะยาวในชุมชนและที่บ้านยังมีความไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน เช่น การดูแลจากญาติ เนื่องจากญาติไม่มีความรู้ที่เพียงพอ หรือไม่มีญาติดูแลอย่างต่อเนื่อง การทำกายภาพบำบัดที่ไม่เพียงพอ หรือการรักษาเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำยังไม่ดีพอ ถ้าเราสามารถพัฒนาระบบการดูแลต่อเนื่องได้ดี ก็จะทำให้การเสียชีวิตของผู้ป่วยและความพิการก็ลดลง
6. การพัฒนาด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย และการป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยการเพิ่มกำลังคนทั้งในระบบและนอกระบบ เพราะในขณะนี้จำนวนบุคลากรที่ทำหน้าที่นี้มีไม่เพียงพอ ร่วมกับการพัฒนาคนในครอบครัวและชุมชน เช่น ผู้ดูแลผู้ป่วย หมอนวดในชุมชน เพื่อให้มีความรู้ที่เพียงพอในการดูผู้ป่วยได้ ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การสำลัก ติดเชื้อในปอด แผลกดทับ
7. การพัฒนาระบบบริการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระยะหลังจากให้ออกจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยส่งกลับมารักษาในระยะ intermediate care ที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านที่มีความพร้อมในการดูแลระยะนี้ ต้องสอนให้ทางบ้านของผู้ป่วยสามารถเตรียมพร้อมในการดูแลเพื่อฟื้นฟูร่างกาย ป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยการพัฒนาให้มีโรงพยาบาลที่พร้อมในการดูแลในหลายๆ พื้นที่
8. การพัฒนาผู้ดูแลผู้ป่วย (caregiver) ให้มีจำนวนมาก เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้น โดยร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้การฝึกอบรมคนในชุมชน
9. การร่วมกับวัดในการเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมอง เช่น การพิมพ์เผยแพร่หนังสือความรู้รูปแบบหนังสือธรรมะ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มาทำบุญได้รับรู้เรื่องดดังกล่าว หรือนำหนังสือมาเป็นของที่ระลึกผู้มาร่วมงานศพ รวมทั้งการเทศน์ของพระให้สอดแทรกเรื่องโรคหลอดเลือดสมองด้วย
All for Health and Help for All