ทำไมคนไข้จึงล้นโรงพยาบาล

drsomsaktalk-19


      

      ไม่มีใครอยากเจ็บป่วย แต่ถ้าเจ็บป่วยก็ต้องไปพบแพทย์รักษา อาจไปพบแพทย์ที่คลินิกแพทย์ โรงพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่แล้วก็จะไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ เราจะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการเต็มหรือล้นโรงพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่ในหอผู้ป่วย ระเบียงตึก ทางเดิน หน้าลิฟท์ หรือนอนเตียงเดียว 2 คนก็มีมาแล้ว มีผู้ให้ความเห็นว่าเป็นเพราะระบบการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันการเกิดโรคล้มเหลว หรือเป็นเพราะระบบบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นต้นเหตุของผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ผมเองมีความเห็นว่า เหตุที่ทำให้ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล เพราะ

      1. ระบบบริการด้านสาธารณสุขของประเทศไม่สามารถบริหารจัดการให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่เหมาะสมกับการเจ็บป่วยได้ ผมเห็นว่าผู้ป่วยมากกว่าครึ่งที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่นั้น ไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางมาไกล เพราะภาวะเจ็บป่วยที่เป็นนั้นสามารถรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านก็ได้ แต่ด้วยเพราะความเชื่อมั่นในศักยภาพของโรงพยาบาลขนาดใหญ่มากกว่าโรงพยาบาลใกล้บ้านในชุมชน จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เดินทางมารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่ ส่งผลให้ผู้ป่วยล้นที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่รักษาใกล้บ้านก็ได้

      2. ความเชื่อมั่นของผู้ป่วย และญาติยังเชื่อมั่นในตัวบุคคล ชื่อเสียงของแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไม่ค่อยมั่นใจว่าแพทย์ที่ให้การรักษาในโรงพยาบาลชุมชนนั้นจะสามารถให้การรักษาได้ดีเท่าเทียมกับแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนเป็นแพทย์จบใหม่ แต่จริงแล้วโรคส่วนใหญ่รักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้จริงๆ

      3. ความเข้าใจของผู้ป่วยและประชาชน ว่าการรักษาภาวะเจ็บป่วยใดๆ ก็ต้องรักษากับแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น การรักษากับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวไม่ดีพอ ซึ่งจริงแล้วผมเห็นว่ามากกว่าครึ่งของการเจ็บป่วยสามารถไม่จำเป็นต้องรักษากับแพทย์เฉพาะทางเลย

      4. ผู้ป่วยและประชาชนยังเชื่อว่ายาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ดีกว่ายาในโรงพยาบาลชุมชน ทั้งๆ ที่เป็นยาชนิดเดียวกัน แต่อาจต่างยี่ห้อเท่านั้น

      5. ผู้ป่วยยังเข้าใจระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่ไม่ดีพอ คือ เมื่อมีการส่งต่อผู้ป่วยที่โรงพยาบาลชุมชนไม่สามารถรักษาได้มายังโรงพยาบาลจังหวัด และเมื่อรักษาหายดีแล้ว แพทย์จะส่งตัวกลับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้านต่อเนื่อง แต่ผู้ป่วยก็ไม่อยากกลับ หรือไม่ยอมกลับไปรักษาต่อเนื่องใกล้บ้าน เพราะกังวลใจว่าจะรักษาไม่ได้ เพราะที่ต้องถูกส่งตัวมาก็เพราะรักษาไม่ได้ แล้วแพทย์ก็ยังจะส่งกลับไปรักษาต่อใกล้บ้านอีกได้อย่างไร

      6. การเข้าถึงระบบบริการที่ง่ายขึ้น และไม่เสียค่าใช้จ่ายในทุกสิทธิ์ เช่น สิทธิ์ข้าราชการก็สามารถทำบัตรจ่ายตรงได้ในทุกๆ โรงพยาบาลที่ต้องการ บัตรทองถ้าแพทย์ไม่ส่งตัวก็ถูกร้องเรียน จึงทำให้แพทย์ต้องออกเอกสารการส่งต่อ เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยจึงเข้ามารักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่โดยไม่จำเป็น

      7. การร้องเรียน หรือฟ้องร้องเมื่อมีผลการรักษาที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติ ประเด็นนี้ก็ทำให้แพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชนไม่สามารถรักษาโรคบางอย่างที่สามารถรักษาได้ แต่ต้องส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งหมด

      8. การเดินทางที่สะดวก รวดเร็วมากขึ้นกว่าในอดีตก็เป็นเหตุหนึ่งของการนิยมเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่

      9. การเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพที่ง่าย และมากขึ้นจากสื่อโซเชียลต่างๆ รวมทั้งความตะหนักและตะหนกตกใจต่อปัญหาสุขภาพทำให้ผู้ป่วยมีความกังวลใจว่าจะเป็นโรคที่ร้ายแรง ดังนั้นเมื่อเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยก็จะเดินทางมาตรวจรักษาในโรงพยาบาลทันที ไม่มีการดูแลรักษาตนเองเบื้องต้น

      10. ความคาดหวังในการรักษาว่าทุกอย่างต้องหายได้ ทั้งจากแพทย์และผู้ป่วย ทำให้มีผู้ป่วยที่มีอาการหนักหนาสาหัสจำนวนมากนอนรักษาในโรงพยาบาล ถ้าทุกคนมีความเข้าใจว่าคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร สัจจะธรรมของชีวิต ก็น่าจะแก้ปัญหาส่วนนี้ได้บ้าง ถ้าสังคมมีความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผมเชื่อว่าก็จะแก้ปัญหาส่วนนี้ได้อย่างมาก

      ดังนั้นผมว่าเราต้องมาร่วมมือกันค่อยๆ แก้เหตุข้างต้น อย่าไปโทษองค์กร หน่วยงาน หรือใครครับ ผมว่ามันเป็นจากหลายๆ เหตุร่วมกับสังคมที่เปลี่ยนไป ความต้องการของคนในสังคมที่มีแต่ความต้องการสูงขึ้น ไม่ค่อยคำนึงถึงส่วนรวม แต่ผมก็ยังเชื่อว่าถ้าเรามาจับมือกันค่อยๆ แก้ทีละปม ทีละปัญหา เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาที่ดีขึ้น ไม่แออัด และทีมผู้ให้การรักษาเองก็จะได้ไม่เครียดมากครับ