เครือข่ายการรักษาโรคระบบประสาท

drsomsaktalk-15


      

      โรคระบบประสาทเป็นโรคที่มีความซับซ้อน ต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการให้การวินิจฉัยและรักษาโรค ควรมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ อายุรแพทย์ กุมารแพทย์ และศัลยแพทย์ระบบประสาทในทุกๆ จังหวัด แต่ในความเป็นจริงนั้นมีเพียงบางพื้นที่เท่านั้นที่มีความพร้อมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ส่งผลให้การเข้าถึงระบบการรักษาที่ดีนั้นเป็นไปได้ยากมาก ผู้ป่วยมีการรอคิวในการตรวจกับแพทย์และการตรวจเพิ่มเติมเป็นระยะเวลานาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็มีเวลาในการดูแลผู้ป่วยแต่ละรายไม่มาก อาจทำให้การวินิจฉัยและการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการพัฒนาระบบการบริการการรักษาโรคระบบประสาทให้มีความพร้อมและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ดังนี้

1. การสร้างเครือข่ายแพทย์ผู้ให้การรักษา

2. การพัฒนาระบบการส่งต่อ

3. การพัฒนาระบบการกระจายยา

4. การพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาต่อผู้ป่วย

5. การสร้างความรู้โรคระบบประสาทต่อสังคม

      การสร้างเครือข่ายแพทย์ผู้ให้การรักษา การขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละจังหวัด แต่ละอำเภอเป็นปัญหาที่สำคัญ เนื่องจากจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีไม่พอ และการกระจายตัวก็ไม่ดีด้วยส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างมาก การแก้ไขอาจทำได้โดยการเพิ่มตำแหน่งการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มีจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น แต่ก็ต้องใช้เวลานานแล้วก็ไม่มั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขการกระจายตัวของแพทย์ หรือความคงอยู่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่นั้นๆ ได้นานหรือไม่ การสร้างเครือข่ายการให้บริการของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญน่าจะเป็นทางออกหนึ่งของการแก้ไขปัญหา โดยการจัดทำฐานข้อมูลแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกพื้นที่ทั่วทั้งภาคอีสาน และทุกภูมิภาค ตารางการออกตรวจของแพทย์ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ แม้กระทั่งการเปิดคลินิกส่วนตัว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับสถานพยาบาล และผู้ป่วยในการถูกส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้คือการพัฒนาความรู้ของแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เช่น อายุรแพทย์ให้มีความรู้ ความสามารถเบื้องต้นในการคัดกรอง ประเมินอาการทางระบบประสาทได้ดีขึ้น ให้การรักษาได้ในระดับหนึ่ง และมีระบบการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อย่างดี ผมว่าการทำแบบนี้ก็สามารถช่วยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบประสาทก็ได้รับความสะดวกและได้ผลดีขึ้น

      การพัฒนาระบบส่งต่อ ปัจจุบันระบบการส่งต่อที่เป็นทางการของแต่ละโรงพยาบาล แต่ละจังหวัดและเขตสุขภาพนั้นมีอยู่แล้ว แต่อาจมีประสิทธิภาพไม่ดีนัก ยังไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้ดี เช่น การส่งต่อผู้ป่วยมาแต่ข้อมูลทางการแพทย์ไม่สมบูรณ์ ผู้ป่วยไม่ได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเมื่อมาถึง อาจเป็นเพราะระบบภายในของแต่ละโรงพยาบาลที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันอย่างดี หรืออาจเกิดจากการขาดการประสานงานระหว่างโรงพยาบาลต้นทางกับปลายทาง เป็นต้น

      การพัฒนาฐานข้อมูลด้านศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาลทั้งบุคลากร เครื่องมือทางการแพทย์ ความพร้อมของหอผู้ป่วยที่จะรับผู้ป่วย ตารางการออกตรวจของแพทย์ ตารางการทำหัตถการ วิธีการส่งตรวจหรือนัดตรวจ ผมยกตัวอย่างการส่งตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ในปัจจุบันแพทย์ก็จะส่งผู้ป่วยมาพบแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลศูนย์ เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลศูนย์เพื่อพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่วันที่มาก็อาจไม่พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยหลากหลายเหตุผล หรือได้พบ ก็ไม่ได้ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในวันที่มาพบ เพราะอาจคิวเต็ม เลยเวลา หรือถึงแม้จะได้ตรวจก็ยังไม่ทราบผลการตรวจอยู่ดี ถ้าลองมาปรับเป็นแบบนี้ดูครับว่าจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน เช่น มีแบบประเมินให้แพทย์ในแต่ละโรงพยาบาลคัดกรองมาก่อนว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ก็ให้เจ้าหน้าที่ประสานงานมายังเจ้าหน้าที่ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองโดยตรง แล้วนัดวันตรวจให้เรียบร้อย ผู้ป่วยก็มาตรวจในวันที่นัดไว้ เมื่อตรวจเสร็จก็ให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ ส่วนผลการตรวจก็จะส่งให้ผู้ป่วย หรือเจ้าหน้าที่ หรือแพทย์ที่ส่งตรวจภายใน 1 สัปดาห์หลังการตรวจ จะเห็นว่าผู้ป่วยก็มาเพียงครั้งเดียว ได้รับการตรวจและผลการตรวจครบถ้วน เพราะด้วยการสื่อสารในปัจจุบันมีให้เลือกใช้ได้มากมาย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การใช้ line group เป็นต้น จะเห็นว่าการพัฒนาระบบการส่งต่อที่ให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางนั้นน่าจะดี และทำได้ไม่ยาก เพียงแค่การปรับวิธีการให้บริการเท่านั้น เช่นเดียวกับการส่งผู้ป่วยมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ผมเชื่อว่าในบางกรณีผู้ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องมาตรวจที่โรงพยาบาลศูนย์กับแพทย์เฉพาะทาง เพียงแต่มีระบบการปรึกษากับแพทย์เฉพาะทาง โดยการส่ง clip อาการผิดปกติที่พบ พูดคุยปรึกษากันระหว่างแพทย์ก็สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาได้อย่างรวดเร็ว แทนการส่งต่อ

      การพัฒนาระบบการกระจายยา ความพร้อมด้านระบบยาของโรงพยาบาลต่างๆ เป็นปัญหาหลักอีกปัญหาหนึ่งของระบบสาธารณสุขไทย ถึงแม้เราจะพัฒนาระบบเครือข่ายแพทย์ ระบบการปรึกษา หรือส่งต่อให้ดีอย่างไร แต่ถ้าระบบยาไม่ได้มีการเตรียมพร้อมก็เกิดปัญหาด้านการรักษา เพราะไม่มียาให้ใช้รักษาอยู่ดี เนื่องด้วยในปัจจุบันบัญชีรายการยาของแต่ละโรงพยาบาลนั้นไม่ได้มีการจัดให้มีมาตรฐานเดียวกัน เช่น โรงพยาบาลขนาด F2, F1, M2, M1 หรือระดับ A, S ควรมีรายการยาแบบไหน ต้องมีรายการยาอะไรบ้าง เมื่อเป็นแบบนี้การส่งต่อให้ผู้ป่วยกลับไปรักษาโรงพยาบาลใกล้บ้าน ก็เกิดอุปสรรคที่อาจไม่มียาที่ต้องใช้ และที่สำคัญก็ยังไม่มีระบบการส่งยาจากโรงพยาบาลจังหวัดไปยังโรงพยาบาลชุมชนอย่างเป็นระบบ ปัจจุบันผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้ยาก็ต้องมารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่โดยไม่จำเป็น

      ดังนั้นถ้ามีการพัฒนาระบบการกระจายเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับยา ก็สามารถรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ก็จะเป็นการลดภาระของผู้ป่วยและภาระของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้ด้วย ที่สำคัญคือผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีโดยไม่ต้องเดินทางไกล มีความคุ้มค่า

      การพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาต่อผู้ป่วย การเข้าถึงแพทย์เฉพาะทางไม่สามารถทำได้ง่ายนัก ถ้าเรามีระบบการให้คำปรึกษาต่อผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีความสบายใจและอุ่นใจว่าสามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ มีอาการผิดปกติที่ไม่สบายใจก็สามารถสอบถามอาการได้ รักษาไปแล้วรู้สึกว่ามีอาการไม่ค่อยดี ก็สามารถสอบถามได้ ผมว่าความรู้สึกนี้จะดีมากๆ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจในการรักษา ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยก็จะดีขึ้นด้วย ย้ำว่าเป็นระบบการให้คำปรึกษาไม่ได้ให้ผู้ป่วยคุยกับแพทย์โดยตรง

      การสร้างความรู้โรคระบบประสาทต่อสังคม ปัจจุบันการให้ความรู้หรือการสร้างความตะหนักในโรคระบบประสาทนั้นน่าจะทำได้ไม่ยาก เพราะตอนนี้สังคมมีความตะหนักต่อโรคหลอดเลือดสมองอย่างดี ดังนั้นเราก็น่าจะใช้วิธีเดียวกับที่สร้างความตะหนักต่อโรคหลอดเลือดสมอง ในการสร้างความตะหนักในโรคอื่นๆ ทางระบบประสาท

      ดังนั้นการสร้างเครือข่ายโรคระบบประสาทน่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง เพื่อให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงระบบบริการได้ดียิ่งขึ้น