สปสช. กับคนไทย
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 16 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
ผมเองมีโอกาสการทำงานร่วมกับ สปสช. มานานพอสมควร ตั้งแต่เริ่มมีระบบหลักประกันสุขภาพจนถึงปัจจุบัน ในช่วงแรกๆ ผมเองก็เป็นเพียงแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วย ต่อมาในช่วง 10 ปีหลังมานี้ ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานร่วมกับ สปสช. และผู้บริหารโรงพยาบาล ผมจึงมีความเห็นเกี่ยวกับการทำงานของ สปสช. ทั้งในส่วนของผู้ให้บริการ ผู้บริหาร และผู้มีส่วนร่วมในการออกแบบระบบบางส่วนด้วย ดังนี้
1. บัตรทองทำให้คนไทย 3 ใน 4 มีความมั่นคงด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น ไม่เกิดการล้มละลายเนื่องจากการเจ็บป่วย เพราะสามารถเข้าถึงระบบการรักษาที่ดี มีมาตรฐานที่เหมาะสมในภาพรวมของประเทศไทย
2. บัตรทองทำให้คนไทยได้รับการรักษาในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง โรคไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ เป็นต้น โดยในอดีตก่อนมีบัตรทอง ถ้าผู้ป่วยไม่มีเงินค่ารักษา ก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาโรคเหล่านั้นได้
3. บัตรทองทำให้เกิดการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้นในทุกโรงพยาบาล ตั้งแต่การตรวจสอบสิทธิ์ การให้บริการตามแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐาน การสรุปเวชระเบียน การเบิกจ่าย การลงข้อมูล การตรวจสอบภายในเพื่อให้ข้อมูลถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนด
4. บัตรทองทำให้เกิดการทำงานที่เป็นการทำงานเชิงระบบมากขึ้นทั้งประเทศ ส่งผลให้ภาพรวมของระบบบริการเป็นไปด้วยดี และส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบบริการได้มากยิ่งขึ้น
5. บัตรทองทำให้เกิดการพัฒนาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับคนไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศ เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของนักวิชาการเฉพาะโรคนั้นๆ และหน่วยงานสนับสนุน
6. บัตรทองทำให้ทีมสุขภาพต้องทำงานหนักขึ้น เพราะต้องทำหน้าที่ในการบันทึก และสรุปเวชระเบียนที่ถูกต้อง การเบิกจ่ายต่างๆ ต้องตรงเวลา และเป็นไปตามแนวทางที่กำหนด
7. บัตรทองทำให้ทีมสุขภาพทำงานหนักมากขึ้น เพราะมีจำนวนผู้ป่วยเข้าถึงระบบการรักษามากยิ่งขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรต่างๆ มีจำกัด
8. บัตรทองทำให้แต่ละโรงพยาบาลเกิดข้อจำกัดด้านงบประมาณมากขึ้น เนื่องจากการเบิกค่ารักษาพยาบาลได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายจริง จำนวนมาก คือขาดทุนค่อนข้างมาก ก่อให้เกิดภาระด้านงบประมาณ และการพัฒนาของแต่ละโรงพยาบาล
9. บัตรทองส่งผลให้การพัฒนาของแต่ละโรงพยาบาลหยุดชะงัก เนื่องจากไม่มีงบประมาณเพียงพอ เพราะนำไปใช้ในด้านการรักษาพยาบาล
10. บัตรทองอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยไม่รักษาในโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพราะเชื่อว่าการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะได้รับการรักษาที่ดีกว่า และไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล จึงขอให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนส่งต่อมายังโรงพยาบาลขนาดใหญ่กว่า
ผมมีแนวคิดว่าบัตรทองควรมีการปรับแนวทางการทำงานร่วมกับทีมผู้ให้การรักษาและสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. การกำหนดแนวทางการรักษาควรเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรวิชาชีพ ทีมผู้ให้การรักษา สปสช. และทีมตรวจประเมินเป็นผู้ออกแนวทางร่วมกัน
2. แนวทางการรักษาควรมีหลายแนวทางให้เลือกแนวทางที่เหมาะสมในผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
3. การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลควรมีการคิดค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมมากกว่านี้ เช่น จ่ายค่ารักษาตามราคากลางของค่ารักษา ยา วัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์
4. การตรวจสอบเวชระเบียนควรมีแนวทางที่ยืดหยุ่นมากกว่าในปัจจุบัน และการจ่ายค่ารักษากรณีไม่ผ่านการตรวจสอบ ไม่ควรไม่จ่ายเลย ควรมีการจ่ายในส่วนที่ทำได้เหมาะสม
5. สปสช. ควรทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป และผู้ป่วย เกี่ยวกับแนวทางการเข้ารับบริการ และต้องพยายามสร้างเข้าใจกับสังคมว่าการรักษาที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบัตรทอง
6. สปสช. ต้องทำให้สังคมเข้าใจถึงข้อจำกัดของวิธีการรักษาต่างๆ ไม่ใช่ว่าโรคทุกโรคต้องรักษาให้หาย เพราะจากการประชาสัมพันธ์ที่ สปสช. สื่อถึงประชาชนว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ และมีความคาดหวังสูงจากการสื่อสาร
7. สปสช. ควรพัฒนาระบบร่วมจ่าย เพื่อเป็นการหางบประมาณเพิ่มเติมมาสนับสนุนระบบบริการให้ดียิ่งขึ้น
8. สปสช. ควรเพิ่มระบบที่สามารถให้หน่วยบริการสามารถออกแบบระบบบริการที่เหมาะสมกับปัญหาเฉพาะพื้นที่ของหน่วยบริการนั้นๆ ไม่ควรมีระบบบริการเพียงแบบเดียวที่ทาง สปสช. เป็นผู้ออกแบบมาจากส่วนกลางเท่านั้น
9. สปสช. ควรออกมาเปิดเผยข้อมูลที่สังคมอยากรู้ และไม่ควรมีความลับกับสังคม เช่น เงินเดือนของเลขาธิการ สปสช. รวมทั้งตำแหน่งอื่นๆ เบี้ยประชุม งบที่ใช้ในการจัดสัมมนา งบที่ใช้ในการประชุมต่างประเทศ เป็นต้น
ผมไม่มีเจตนาต่อว่าใคร หรือหน่วยงานใด เพียงแต่มีเจตนาให้ทุกอย่างมีการปรับเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืนของระบบสุขภาพไทย