Resilience ล้มได้ ลุกให้ไว (ตอนที่ 2 และเป็นตอนจบ)

Resilienceล้มได้ลุกให้ไว-2

      

      เมื่อตอนที่แล้ว เขียนกล่าวถึงการสู้ไม่ถอย หรือ Resilience ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผลักดันให้เราประสบความสำเร็จได้ ทั้งยังมีประโยชน์ด้านจิตใจอีกด้วย กล่าวคือ ช่วยป้องกันภาวะทางจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวลได้อีกด้วย เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว หลายท่านคงมีคำถามว่า แล้วจะต้องทำอย่างไรที่จะสร้างคุณสมบัติสู้ไม่ถอยขึ้นมาได้บ้าง ในเรื่องนี้ Edith Grotberg นักจิตวิทยา กล่าวว่า เบื้องต้นแล้วเราต้องเตือนตัวเองว่าเรามีพลังภายในกันทุกคน ดังนั้น มีสามสิ่งพื้นฐานที่ต้องเตือนตัวเองคือ

      ฉันมี (I Have): เช่น ความสัมพันธ์ที่มั่นคง กฎกติกาประจำบ้าน บุคคลในอุดมคติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอกที่ช่วยสนับสนุน และพยุงเรา

      ฉันเป็น (I Am): เช่น เป็นคนที่มีความหวังและศรัทธา เป็นคนใส่ใจผู้อื่น มีความภูมิใจในตัวเอง ซึ่งความคิดนี้เป็นปัจจัยภายในที่จะช่วยพัฒนาพลังของเราได้

      ฉันทำได้ (I Can): เช่น สื่อสารเป็น แก้ปัญหาเป็น รับรู้ถึงอารมณ์ของผู้อื่นเป็น มองหาความสัมพันธ์ที่ดีเป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือทักษะด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและทักษะการแก้ปัญหาที่มีความจำเป็น

      ส่วนเว็บไซต์ www.mayoclinic .org ได้แนะนำแนวทางการสร้าง Resilience ไว้ดังนี้

      ติดต่อสื่อสารกับคนอื่น (Get connected) การมีความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้างจะช่วยให้เราได้รับการสนับสนุนและการยอมรับ อาจเริ่มด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัคร หรือร่วมกลุ่มทำกิจกรรมตามความสนใจ

      ทำทุกวันให้มีความหมาย (Make every day meaningful) ทำสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าทำสำเร็จและเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ทุก ๆ วัน ตั้งเป้าหมายที่อยากทำให้สำเร็จทุกวันเพื่อจะได้ตั้งตารอความสำเร็จอย่างมีความหมาย

      เรียนรู้จากประสบการณ์ (Learn from experience) กลับไปคิดถึงการรับมือกับปัญหาที่ผ่านมา ว่าเราได้ใช้ทักษะหรือวิธีการใดในการก้าวผ่านเวลาที่ยากลำบากนั้น อาจเขียนบันทึกประสบการณ์ต่าง ๆ ลงในไดอารี เพื่อช่วยให้คิดได้ดีขึ้น และเป็ฯการช่วยหาวิธีที่ดีขึ้นในอนาคต

      มีความหวัง (Remain hopeful) อดีตเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราสามารถรอคอยอนาคตอย่างมีหวังได้ การยอมรับและการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงการเปลี่ยนแปลงทำให้ปรับตัวได้ง่ายขึ้น และทำให้เราเผชิญความท้าทายได้โดยกังวลน้อยลง

      ดูแลตัวเอง (Take care of yourself) ตามใจตัวเองบ้าง เช่น ออกไปทำกิจกรรมที่ชอบ ออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เป็นต้น

      ใช้ชีวิตเชิงรุก (Be proactive) อย่าเพิกเฉยต่อปัญหา เราควรค่อย ๆ คิดว่าจะจัดการปัญหาอย่างไรด้วยการวางแผนและลงมือทำ แม้ว่าปัญหาบางอย่างจะต้องใช้เวลาในการแก้ไข แต่ทุกอย่างจะแก้ไขได้ถ้าลงมือทำ

      วิธีที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เป็นวิธีที่ช่วยให้เรามีความสู้ไม่ถอยหรือ Resilience มากขึ้น ซึ่งต้องการเวลาในการฝึกฝน หากฝึกได้ตั้งแต่ยังเล็กจะเกิดประโยชน์มากในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หากยังรู้สึกว่าฝึกฝนด้วยตัวเองได้ยาก หรือไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นอย่างไร อาจลองพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อขอคำแนะนำได้เช่นกัน

      

แหล่งข้อมูล:

  1. School marks are important. But resilience is the real indicator of success https://www.theguardian.com/commentisfree/2018/jan/10/school-marks-are-important-but-resilience-is-the-real-indicator-of-success [2019, April 28].
  2. The Art of Resilience https://www.psychologytoday.com/us/articles/200305/the-art-resilience [2019, April 28].
  3. Resilience: Build skills to endure hardship https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/resilience-training/in-depth/resilience/art-20046311 [2019, April 28].
  4. How resilience can lead to more career success https://this.deakin.edu.au/career/how-resilience-can-lead-to-more-career-success [2019, April 28].