Resilience ล้มได้ ลุกให้ไว (ตอนที่ 1)
- โดย พ.ท.หญิง กุลกานต์ ฤทธิ์ฤๅชัย รัตนวราหะ
- 29 เมษายน 2562
- Tweet
สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ต้องการในชีวิตคือความสำเร็จ จะเห็นได้จากเวลาที่เราอวยพรให้คนที่เรารัก เรามักจะพ่วงคำอวยพรให้เขาประสบความสำเร็จไว้ด้วย การที่เราต้องอวยพรหรือขอพรให้ประสบความสำเร็จนั้น แสดงว่าความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยง่าย แต่การอวยพรหรือขอพรเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าเราจะประสบความสำเร็จดังที่ใจหวังด้วยเช่นกัน
ดังนั้น จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญที่จะผลักดันให้มนุษย์เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบดังกล่าว Angela Duckworth นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Grit: The Power of Passion and Perseverance” พบว่า องค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จคือ ความสามารถที่จะฟื้นตัวเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก มีแรงกดดันและความเครียดสูง หรือที่เรามักเรียกกันว่า “สู้ไม่ถอย” นั่นเอง Angela Duckworth กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญสำหรับความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ไอคิวหรือความสามารถพิเศษแต่อย่างใด หากอยู่ที่ “grit” หรือความสามารถในการสู้ไม่ถอยแม้ว่าจะเผชิญอุปสรรคต่างๆ นั่นเอง
นักจิตวิทยาหลายท่านพบว่า ปัจจัยที่ทำให้คนมีคุณสมบัติสู้ไม่ถอย คือการคิดบวก ซึ่งช่วยให้มีอารมณ์ที่มั่นคง และมองว่าความล้มเหลวที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนคำติชมสำหรับการพัฒนาตนเองต่อไป มีการศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการคิดบวกช่วยลดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้เกิดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผลถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและแนวทางการแก้ไขในอนาคต การสู้ไม่ถอยไม่ใช่คุณสมบัติวิเศษแต่อย่างใด แต่ต้องใช้พลังใจมหาศาลในการข้ามผ่านช่วงเวลาที่โหดร้ายไปได้ คนที่สู้ไม่ถอยสามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสและประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังได้
การสู้ไม่ถอยอาจไม่สามารถขจัดปัญหาได้ แต่ช่วยให้เรามองทะลุปัญหาเหล่านั้น เพื่อมีความสุขกับชีวิต และรับมือกับความเครียดได้ การสู้ไม่ถอยจะช่วยเพิ่มพลังจากภายในที่จะทำให้เราฟื้นตัวจากสถานการณ์อันเลวร้ายหรือความท้าทาย เช่น การถูกไล่ออก ความเจ็บป่วย หายนะต่าง ๆ หรือการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม หากเราเป็นคนท้อถอย เราอาจจมปลักอยู่กับปัญหาต่าง ๆ รู้สึกตกเป็นเหยื่อ หรือมีวิธีการจัดการปัญหาแบบผิด ๆ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด เป็นต้น
การสู้ไม่ถอยยังสามารถป้องกันเราจากภาวะผิดปกติทางจิตหลายอย่าง เช่น ภาวะซึมเศร้า และภาวะวิตกกังวล
นอกจากนั้นยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะผิดปกติทางจิตเหล่านั้นอีกด้วย เช่น การถูกรังแก หรือเหตุการณ์เขย่าขวัญ เป็นต้น การสู้ไม่ถอยสามารถเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับภาวะต่าง ๆ เหล่านั้น
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านคงอยากทราบถึงวิธีที่จะช่วยสร้างคุณสมบัติสู้ไม่ถอย หรือ Resilience นี้กันบ้างแล้ว จริงอยู่ที่การสู้ไม่ถอยจะทำให้เราคิดว่าจะต้องเกี่ยวกับการเป็นคนทรหดหรืออึดอย่างแน่นอน รองศาสตราจารย์ Marcus O’Donnel แห่งมหาวิทยาลัย Deakin ประเทศออสเตรเลียกล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้วการสู้ไม่ถอยนั้น ประกอบด้วยคุณสมบัติหลากหลาย ซึ่งใช้ความยืดหยุ่นเป็นหลัก เช่น การรู้จักหาทางออกด้วยการขอความช่วยเหลือ หรือ การดูแลตัวเอง เป็นต้น หากมีการฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ที่เสริมให้เกิดการสู้ไม่ถอยแล้ว โดยเฉพาะถ้าฝึกแต่ยังเล็ก ก็จะมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จสูงทีเดียว ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะกล่าวถึงวิธีที่จะช่วยสร้างคุณสมบัติสู้ไม่ถอย หรือ Resilience ต่อไป
แหล่งข้อมูล:
- School marks are important. But resilience is the real indicator of success https://www.theguardian.com/commentisfree/2018/jan/10/school-marks-are-important-but-resilience-is-the-real- indicator-of-success [2019, April 28].
- Resilience Failure, Rejection, Grit https://www.psychologytoday.com/us/basics/resilience [2019, April 28].
- Resilience: Build skills to endure hardship https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/resilience-training/in-depth/resilience/art-20046311 [2019, April 28].
- How resilience can lead to more career success https://this.deakin.edu.au/career/how-resilience-can-lead-to-more-career-success [2019, April 28].