Post Traumatic Stress Disorder (ตอนที่ 1)

PostTraumaticStressDisorder-1

      

      ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ หลายท่านคงจะได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการยิงกราดในที่ชุมชนที่เกิดขึ้นในเมือง Christchurch ประเทศนิวซีแลนด์ และเมือง Ultrecht ประเทศเนเธอแลนด์ และแม้ว่าจะเป็นเพียงผู้รับทราบข่าวเท่านั้น ท่านคงจะรู้สึกตกใจและกังวลอยู่ไม่น้อย สำหรับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้นเองหรือเป็นผู้ใกล้ชิดแล้ว ความรู้สึกตกใจ หวาดผวาคงจะมากกว่านั้นหลายเท่า

      หลังจากเหตุการณ์กราดยิงในเมือง Christchurch สำนักข่าว BBC ของอังกฤษได้สัมภาษณ์สามีของผู้เสียชีวิตรายหนึ่ง เขากล่าวว่า เขาได้ยกโทษให้ผู้ก่อเหตุแล้ว แต่ในชีวิตจริง น้อยคนนักที่จะทำใจได้อย่างรวดเร็วหลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้

      Scott Simon จาก National Public Radio สหรัฐอเมริกา ได้สัมภาษณ์ Sheri Lawson ซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์กราดยิงที่ Washington Navy Yard เมื่อปี 2013 เธอได้กล่าวว่า ทันทีหลังจากเกิดเหตการณ์นั้น เธอรู้สึกตกใจและสับสน ต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าที่จะลำดับได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และหลังจากนั้นประมาณหนึ่งเดือน อาการของเธอก็แย่ลง เธอมีอาการนอนไม่หลับ ฝันร้ายเกือบทุกคืน รวมทั้งหวาดผวา และไม่มีสมาธิ เวลาไปซื้อของที่ร้านขายของชำ เธอมักจะตรวจตราดูสถานที่โดยรอบอยู่ตลอดเพื่อหาทางออกในกรณีฉุกเฉิน หลังจากมีอาการเหล่านี้อยู่ประมาณสามเดือน เธอได้ตัดสินใจไปพบแพทย์ซึ่งวินิจฉัยว่าเธอมีภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic stress disorder -PTSD)

      PTSD เป็นภาวะป่วยทางจิตที่เกิดจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ไม่ว่าจะเกิดกับตนเองหรือเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ก็ตาม อาการของ PTSD นั้น รวมถึง การมีภาพในอดีตที่กลับคืนมา ฝันร้าย อาการวิตกกังวลขั้นรุนแรง และไม่สามารถควบคุมความคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงที่ประสบมาได้

      คนส่วนใหญ่ที่ประสบเหตุสะเทือนขวัญอาจมีปัญหาในการปรับตัวและในการใช้ชีวิตบ้างเพียงชั่วคราว และจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปและมีการดูแลตัวเองที่ดีพอ แต่หากมีอาการแย่ลง และกินระยะเวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปี และอาการเหล่านั้นรบกวนการใช้ชีวิตแล้วละก็อาจเป็นอาการของ PTSD ได้

      อาการของ PTSD แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ความทรงจำที่รบกวนจิตใจ (Intrusive memories), ภาวะหลีกเลี่ยง (Avoidance), ความคิดและทางอารมณ์เปลี่ยนแปลงในไปในทางลบ (Negative changes in thinking and mood) และมีการเปลี่ยนแปลงทางการตอบสนองของร่างกายและอารมณ์ (Changes in physical and emotional reactions) อาการจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบุคคลและระยะเวลา

กลุ่มอาการความทรงจำที่รบกวนจิตใจ มักมีอาการดังนี้

  • เกิดภาพความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญย้อนมาให้เห็นเป็นระยะๆโดยที่ไม่ต้องการ
  • เห็นภาพในอดีตเหมือนว่าเหตุการณ์สะเทือนขวัญนั้นเกิดขึ้นจริงอีกครั้ง
  • ฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว
  • ภาวะเครียดทางจิตใจและการตอบสนองทางร่างกายต่อสิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้น

      ยังมีอีกสามกลุ่มอาการที่บ่งบอกถึงภาวะ PTSD คือ ภาวะหลีกเลี่ยง (Avoidance), ความคิดและทางอารมณ์เปลี่ยนแปลงในไปในทางลบ (Negative changes in thinking and mood) และมีการเปลี่ยนแปลงทางการตอบสนองของร่างกายและอารมณ์ (Changes in physical and emotional reactions) ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป

      

แหล่งข้อมูล:

  1. “Christchurch shooting survivor says he forgives his wife's killer” https://www.bbc.com/news/av/world-asia-47602781/christchurch-shooting-survivor-says-he-forgives-his-wife-s-killer [2019, April 6].
  2. “Dealing with trauma after a mass shooting – over the long term” https://www.npr.org/2019/03/30/708332971/dealing-with-trauma-after-a-mass-shooting-over-the-long-term [2019, April 6].
  3. Post-traumatic stress disorder (PTSD)https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/post-traumatic-stress-disorder/symptoms-causes/syc-20355967[2019, April 6].