เพทสะแกน หรือ เพท-ซีทีสะแกน (PET scan หรือ PET-CT Scan)
- โดย นายแพทย์ สามารถ ราชดารา
- 8 เมษายน 2560
- Tweet
- เพทสะแกนคืออะไร? เพท-ซีทีสะแกนคืออะไร?
- เพท-ซีทีสะแกนมีประโยชน์อย่างไร?
- ข้อจำกัดและข้อห้ามในการตรวจเพท-ซีทีมีอะไรบ้าง?
- มีผลข้างเคียงจากการตรวจเพท-ซีทีสะแกนไหม?
- เพท-ซีทีสะแกนต่างจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และอมอาร์ไออย่างไร?
- เตรียมตัวก่อนตรวจเพท-ซีทีสะแกนอย่างไร?
- วิธีตรวจเพท-ซีทีสะแกนเป็นอย่างไร? ขณะตรวจปฏิบัติตนอย่างไร?
- หลังตรวจเพท-ซีทีสะแกนดูแลตนเองอย่างไร?
- ทราบผลตรวจเพท-ซีทีสะแกนเมื่อไร?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- เนื้องอก (Tumor)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ลมชัก (Epilepsy)
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
เพทสะแกนคืออะไร? เพท-ซีทีสะแกนคืออะไร?
เทคโนโลยีใหม่ทางการแพทย์ด้านรังสีวิทยา (รังสีที่ใช้ตรวจและรักษาโรค) ที่เข้ามามีบทบาทในการวินิจฉัยโรคสักระยะหนึ่งแล้ว คือ การตรวจโรคด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (สาขาการแพทย์สาขาหนึ่งด้านรังสีวิทยาที่เกี่ยวกับการนำกัมมันตรังสีที่อยู่ในภาวะของเหลวเพื่อการตรวจและรักษาโรค) ที่เรียกว่า “เพทสะแกน (PET scan, Positron Emission Tomography)”
เพทสะแกนนี้ เป็นการถ่ายภาพความเปลี่ยนแปลงทางชีวะเคมี (Metabolism imaging) ในเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกาย โดยการให้น้ำตาลกลูโคส (Glucose) ชนิดพิเศษ ที่มีกัมมันตรังสีในตัวเอง ที่เราเรียกว่า เอฟดีจี(FDG, Fluorodeoxyglucose) ฉีดเข้าสู่ร่างกาย น้ำตาลชนิดมีกัมมันตรังสีนี้จะซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อเกือบทุกชนิดในร่างกาย โดยเฉพาะเนื้อเยื่อที่มีกิจกรรมการทำงาน หรือการแบ่งตัวมาก (เช่น เนื้อเยื่อมะเร็งหลายๆชนิด และเนื้อเยื่อสมอง) จะจับน้ำตาลนี้ไว้ในปริมาณมากกว่าเนื้อเยื่อปกติ และเปล่งรังสีออกมาในปริมาณสูง จากนั้นแพทย์จะใช้ เครื่องตรวจเพทสะแกน ซึ่งเป็นเครื่องถ่ายภาพรังสี ถ่ายภาพออกมา ซึ่งภาพที่ได้จะแสดงให้เห็นการมีอยู่หรือไม่ของเนื้อเยื่อมะเร็ง/โรคต่างๆ
แต่เนื่องจากภาพเนื้อเยื่อที่ตรวจได้จาก เพทสะแกน นี้ มีลักษณะลอยๆอยู่ ดูเหมือนหมอกควัน เนื่องจากขาดจุดอ้างอิงทางกายภาพ (Anatomical landmark) ทำให้แพทย์ไม่สามารถกำหนดตำแหน่งของรอยโรค/ตำแหน่งที่เกิดโรคได้อย่างชัดเจน จึงได้มีการนำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ ซีทีสะแกน(CT Scan, Computerized axial tomography) ซึ่งเป็นเครื่องตรวจที่ให้ภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะในร่างกายได้ชัดเจน เข้ามารวมไว้เป็นเครื่องมือชิ้นเดียวกัน เรียกว่า “เพท-ซีที สะแกน (PET-CT Scan)” และเครื่องนี้ จะนำภาพทั้ง 2 ชุด คือจากทั้ง เพทสะแกน และ จาก ซีทีสะแกน มารวมไว้ในภาพเดียวกันได้ ทำให้แพทย์สามารถกำหนดตำแหน่งที่เกิดโรคได้แม่นยำกว่าการตรวจเพทสะแกนอย่างเดียวมาก
เพท-ซีทีสะแกนมีประโยชน์อย่างไร?
ดังได้กล่าวแล้วว่า เพท-ซีทีสะแกน เป็นการถ่ายภาพความเปลี่ยนแปลงทางชีวะเคมีภายในเนื้อเยื่อ จึงมีความไว (Sensitivity) สูง ซึ่งทำให้สามารถตรวจพบดวามผิดปกติที่ไม่คาดคิด หรือตรวจไม่พบในการตรวจอื่นได้ เช่น จากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือจากเอมอาร์ไอ
เราใช้ประโยชน์การตรวจ เพท-ซีทีสะแกน นี้ใน 3 โรคหลักได้แก่ โรคมะเร็ง โรคทางสมอง และโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ทั้งนี้กว่า 90%เป็นการตรวจด้านโรคมะเร็ง
ก.โรคมะเร็ง: เราสามารถใช้ เพท-ซีทีสะแกน สำหรับ
1 การกำหนดระยะโรค เป็นที่ทราบดีว่า แนวทางการรักษาโรคมะเร็งขึ้นกับชนิด และระยะโรค การกำหนดระยะโรคที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ และมีผลต่อการรักษาอย่างยิ่ง เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า เพท-ซีทีสะแกน ช่วยกำหนดระยะโรคให้ถูกต้องมากขึ้น และอาจช่วยให้แพทย์ต้องเปลี่ยนแนวทางการรักษาในกลุ่มมะเร็งของ ระบบศรีษะและลำคอ โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งตับอ่อน โรคมะเร็งที่ไม่ทราบปฐมภูมิ/โรคมะเร็งที่ไม่รู้ว่าเกิดจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะใด (Cancer of unknown origin) โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
2 ใช้เป็นมาตรวัดการรักษา ในระหว่างการรักษา บางครั้งการประเมินการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด และ/หรือ ต่อ ยารักษาตรงเป้า ที่ให้ มีความจำเป็นอย่างมาก เช่น การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพท-ซีทีสะแกนจะช่วยตอบคำถามนี้ได้เร็วกว่าการตรวจอื่น ทำให้แพทย์สามารถปรับเปลี่ยนการรักษาหรือปรับเปลี่ยนยาได้ทันท่วงที
3 บอกความรุนแรงของโรค เพราะสามารถตรวจได้ทั้งร่างกายพร้อมกันภายในการตรวจเพียงครั้งเดียว จึงช่วยให้สามารถทราบได้ว่า มีโรคเกิดขึ้น/แพร่กระจายที่จุดใดของร่างกายบ้าง
4 ตรวจการกลับเป็นซ้ำของโรค หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้ว ในระยะต่อมา เมื่อพบข้อสงสัยว่าจะมีการกลับเป็นซ้ำ เพท-ซีทีสะแกนสามารถที่จะตรวจพบสภาวะนี้ได้ดีในหลายชนิดของโรคมะเร็ง เช่น กลุ่มโรคมะเร็งของศีรษะและลำคอ โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งบางอย่างก็ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยเครื่องเพท-ซีทีสะแกนนี้ เช่น โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งปอดและโรคมะเร็งเต้านมบางชนิด ดังนั้นก่อนการตรวจ เพท-ซีทีสะแกน แพทย์จึงจำเป็นต้อง พิจารณาถึงรายละเอียดของผู้ป่วยแต่ละท่านว่า มีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด
ข. โรคทางสมอง: เพท-ซีทีสะแกน มีประโยชน์ ดังนี้
1. สามารถใช้กำหนดตำแหน่งรอยโรคในสมองที่เป็นสาเหตุของโรคลมชัก ซึ่งเมื่อทราบตำแหน่งที่ชัดเจนแล้ว ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคลมชักได้
2. ใช้วินิจฉัยสภาวะความจำเสื่อม
3. ใช้วินิจฉัยโรคพาร์กินสัน
ค. โรคของหัวใจและหลอดเลือด: เพท-ซีทีสะแกนใช้ช่วยวินิจฉัยสภาวะหัวใจขาดเลือด (โรคหลอดเลือดหัวใจ) และโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
ข้อจำกัดและข้อห้ามในการตรวจเพท-ซีทีมีอะไรบ้าง?
ข้อจำกัดในการตรวจด้วย เพท-ซีทีสะแกน ได้แก่
- ในโรคมะเร็งที่เพิ่งเริ่มเกิด หรือเริ่มแพร่กระจาย จึงยังมีเซลล์มะเร็งน้อย (Hypocellular tumor )
- ในโรคมะเร็งที่การสันดาป/การใช้พลังงานของเซลล์มะเร็งต่ำ (Hypometabolic tumor) เช่น โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งตับบาง ชนิด และ
- เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก เป็นต้น กรณีดังกล่าวเหล่านี้ การตรวจด้วย เพทสะแกน อาจให้ผลลบลวงได้ (False negative) กล่าวคือ มีโรคมะเร็งแต่การตรวจให้ผลว่า ไม่พบโรคมะเร็ง
ข้อจำกัดด้านผู้ป่วย ได้แก่
- ผู้ป่วยกลัวที่แคบ เพราะเครื่องตรวจจะมีลักษณะเป็นอุโมงค์แคบ ผู้ป่วยจึงกลัว ไม่กล้าตรวจ และ
- ในผู้ป่วยโรคเบาหวานในบางกรณีเพราะอาจมีปัญหาในการตรวจ เนื่องจากในการตรวจต้องใช้น้ำตาลกลูโคสที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน
ข้อห้ามในการตรวจ เพท-ซีทีสะแกน คือ ห้ามตรวจในหญิงตั้งครรภ์ เพราะสารกัมมันตรังสีจากเพท-สะแกน และรังสีจากการตรวจซีทีสะแกน (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์) อาจส่งผลถึงทารกในครรภ์จนอาจเป็นสาเหตุให้ทารกพิการ หรือเกิดการแท้งบุตรได้ (รังสีจากการตรวจโรค)
นอกจากนั้น ถ้าจำเป็นต้องตรวจในหญิงให้นมบุตร ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า ไอเออีเอ (IAEA, International Atomic Energy Agency) แนะนำว่า ต้องหยุดให้นมบุตรอย่างน้อย ประมาณ 2-3 ชั่วโมงหลังการตรวจ เนื่องจากจะมีสารกัมมันตรังสีปนมากับน้ำนมได้ ซึ่งอาจก่ออันตรายในระยะยาวต่อทารก คือ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเมื่อทารกโตขึ้น ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องตรวจด้วย เพท-ซีทีสะแกน แพทย์จะแนะนำให้มารดาเก็บน้ำนมไว้ก่อนล่วงหน้า และสามารถให้นมบุตรได้ ประมาณ 2-3 ชั่วโมงหลังการตรวจเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้เพราะสารกัมมันตรังสีที่ใช้ตรวจ เป็นชนิดที่สลายตัวหมดคุณสมบัติให้รังสี หรือที่เรียกว่า ช่วงระยะเครึ่งชีวิต (Half life) สั้นมากๆ ประมาณเป็นนาทีขึ้นกับชนิดของสารกัมมันตรังสี ดังนั้นช่วงระยะเวลา 2-3 ชั่วโมงหลังตรวจ ให้มารดาดูดน้ำนมออกทิ้งไป และเริ่มให้นมได้ตามปกติ 2-3 ชั่วโมงหลังการตรวจ
อย่างไรก็ตาม แพทย์มักแนะนำให้หยุดให้นมบุตรประมาณ 1 วัน โดยระหว่างนั้นให้ดูดน้ำนมทิ้ง
มีผลข้างเคียงจากการตรวจเพท-ซีทีสะแกนไหม?
การตรวจ เพท-ซีทีสะแกน เป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยสูง การแพ้สาร FDG แทบไม่พบเลย และสารนี้ไม่เป็นอันตรายต่อตับ หรือ ต่อไต โดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม การตรวจเพท-ซีทีสะแกน มีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นการตรวจที่ต้องใช้รังสี ดังนั้น จึงมีข้อห้ามการตรวจในหญิงตั้งครรภ์ ข้อจำกัดถ้าจำเป็นต้องตรวจในหญิงให้นมบุตร และข้อจำกัดใน 24 ชั่วโมงแรกหลังตรวจ เมื่อต้องคลุกคลีกับหญิงตั้งครรภ์ และ/หรือเด็กอ่อน (รังสีจากการตรวจโรค) ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ข้อจำกัด และข้อห้ามในการตรวจ
เพท-ซีทีสะแกนต่างจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และเอมอาร์ไออย่างไร?
ดังได้กล่าวแล้วว่า การตรวจด้วย เพท-ซีทีสะแกน เป็นการตรวจโดยใช้หลักของชีวเคมี จึงเป็นการตรวจทางด้านสรีรวิทยา จากนั้นจึงนำมาแปลงเป็นภาพ แต่การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และเอมอาร์ไอ เป็นการตรวจภาพทางกายวิภาค ดังนั้นจึงเป็นการตรวจที่มีข้อบ่งชี้ในการตรวจที่แตกต่างกัน ไม่สามารถทดแทนกันได้ แต่ใช้เป็นการตรวจที่เสริมซึ่งกันและกัน (Complementary test) เพื่อเพิ่มความแม่นยำของการตรวจ ให้สามารถช่วยวินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น
เตรียมตัวก่อนตรวจเพท-ซีทีสะแกนอย่างไร?
ผู้รับการตรวจ เพท-ซีทีสะแกน ควรต้องงดอาหารก่อนการตรวจ อย่างน้อย 6 ชั่วโมง ควรบริโภคอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลให้น้อยในวันก่อนวันตรวจ
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องแจ้งแพทย์ผู้ตรวจล่วงหน้าก่อนวันตรวจ เพื่อได้รับคำแนะนำพิเศษในการใช้ยาโรคเบาหวาน
วิธีการตรวจ เพท-ซีทีสะแกนเป็นอย่างไร?
ขณะตรวจปฏิบัติตนอย่างไร?
ผู้รับการตรวจ เพท-ซีทีสะแกน จะได้รับการฉีด FDG เข้าทางหลอดเลือดดำ และจะต้องพักในห้องแยกโดยลำพัง ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงเข้าเครื่องตรวจ เพท-ซีทีสะแกน ซึ่งจะใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 นาที ในบางสถาบัน อาจมีการฉีดสารทึบแสง/ฉีดสี (Contrast media) ร่วมด้วย เช่นเดียวกับในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
การปฏิบัติตนในการตรวจ เพท-ซีทีสะแกน คือ ช่วงแรก หลังฉีด FDG ผู้รับการตรวจต้องนอนพักอย่างสงบในห้องแยกนาน 1 ชั่วโมง ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมีกิจกรรมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยโทรศัพท์ หรืออ่านหนังสือ
ช่วงที่สองเป็นช่วงการถ่ายภาพสะแกน ใช้เวลาประมาณ 15 – 30 นาที ผู้รับการตรวจควรนอนนิ่งๆ หายใจตามปกติ และผ่อนคลาย แต่ต้องไม่ขยับตัว ทั้งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคผู้ควบคุมการตรวจ/เครื่องตรวจ แนะนำเพิ่มเติมแล้วแต่เทคนิคของแต่ละสถาบันที่ให้การตรวจ
หลังตรวจเพท-ซีทีสะแกนดูแลตนเองอย่างไร?
หลังการตรวจ เพท-ซีทีสะแกน ผู้รับการตรวจสามารถเดินทางกลับบ้านและใช้ชีวิตได้ได้ตามปกติ เพราะสารกัมมันตรังสีในร่างกายจะสลายอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีระยะครึ่งชีวิตที่สั้นมากดังได้กล่าวแล้ว
แต่เมื่อต้องสัมผัสคลุกคลีกับเด็กอ่อน หรือหญิงตั้งครรภ์ ที่มีความไวต่อรังสีเป็นพิเศษ ถึงแม้รังสีจากการตรวจเพท-ซีทีสะแกน จะน้อยมากๆ และยังไม่เคยมีรายงานเป็นสาเหตุก่อความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ หรือต่อเด็กอ่อน แพทย์มักแนะนำให้ระมัดระวังในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังตรวจ โดยให้ใช้เวลาให้น้อยที่สุดในการสัมผัสคลุกคลีคนกลุ่มนี้
ทราบผลตรวจเพท-ซีทีสะแกนเมื่อไร?
การทราบผลตรวจ เพท-ซีที่สะแกน ขึ้นอยู่กับการกำหนดของแต่ละสถาบันที่ให้การตรวจ ซึ่งขึ้นกับสัดส่วนระหว่างจำนวนผู้ป่วยและจำนวนแพทย์ด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยทั่วไป ประมาณ 1-3 วันขึ้นไปสำหรับโรงพยาบาลรัฐ และภายใน 24 ชั่วโมงสำหรับโรงพยาบาลเอกชน
บรรณานุกรม
- Abass Alavi. PET Imaging. Radiologic Clinics of North America 2005; 43: 983-1003.
- Eugene Lin. (2005). PET and PET-CT: a clinical guide.
- PET/CT scanning https://rpop.iaea.org/RPOP/RPoP/Content/InformationFor/HealthProfessionals/6_OtherClinicalSpecialities/PETCTscan.htm#PETCT_FAQ08 [2017,March18].
- Stefan Dresel (2008). PET in Oncology.
Updated 2017,March18