2-ไพโรลิโดน (2-Pyrrolidone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สาร 2-ไพโรลิโดน(2-Pyrrolidone) เป็นสารประกอบอินทรีย์ มีลักษณะทางกายภาพเป็นของเหลวไม่มีสี สามารถละลายน้ำ และเป็นตัวทำละลายได้ สารประกอบที่เป็นอนุพันธ์ของสาร 2-Pyrrolidone บางรายการถูกนำมาพัฒนาทางการแพทย์ และใช้เป็นยารักษาโรค อาทิเช่น

  • สาร Cotinine: เป็นสารประเภทอัลคาลอยด์(Alkaloid)ที่พบในยาสูบ ร่างกายสามารถขับสาร Cotinine ทิ้งได้อย่างรวดเร็วโดยผ่านไปกับปัสสาวะ ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาและพัฒนาสาร Cotinine เพื่อใช้บำบัดรักษา โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน
  • ยา Doxapram: ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยากระตุ้นการหายใจหลังจากการผ่าตัดหรือใช้ช่วยผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจอย่างกะทันหันด้วยสาเหตุได้รับยาบางประเภทเกินขนาด เช่น ยานอนหลับ ตัวยานี้มีกลไกออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจในสมองให้ทำงานโดยการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองของผู้ป่วย ยานี้มีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยเฉพาะในห้องผู้ป่วยวิกฤต/ไอ.ซี.ยู. (ICU, intensive care unit) ห้องผ่าตัด หรือห้องฉุกเฉิน เราสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Dopram”
  • ยา Piracetam: เป็นยาในกลุ่มนูโทรปิก (Nootropic drug) ที่มีคุณสมบัติเสริมสร้างกระบวนการรับรู้ของสมอง ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการความจำเสื่อม ซึมเศร้า และวิตกกังวล ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์โดยช่วยเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทประเภท Acetylcholine ผ่านทางตัวรับ(Receptor)ที่เรียกว่า Muscarinic cholinergic receptor ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจดจำของสมอง และยังเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในสมองโดยส่งผลยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดที่อาจก่อตัวเป็นลิ่มเลือดที่อุดกั้นในหลอดเลือดและทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมองทำได้ไม่ดีพอ ยานี้ไม่มีฤทธิ์กล่อมประสาทหรือเป็นยากระตุ้นสมอง/ยากระตุ้นระบบประสาทแต่อย่างใด ซึ่งยานี้ จำหน่ายในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าว่า “Nootropil”
  • ยา Povidone : เป็นสารประเภทโพลิเมอร์ที่ละลายน้ำได้ ใช้เป็นตัวเพิ่มปริมาณพลาสมาสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังใช้เป็นตัวประสานในอุตสาหกรรมการผลิตยาเม็ดอีกด้วย หากนำยา Povidone มาเติมในสารละลายไอโอดีนก็จะได้สารประกอบเชิงซ้อน ที่มีชื่อว่า โพวิโดนไอโอดีน(Povidoiodine) มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อ เราจะพบเห็นการใช้ผลิตภัณฑ์โพวิโดนไอโอดีนในรูปแบบต่างๆเช่น ครีม สบู่เหลว และสครับที่ใช้ในห้องผ่าตัด โดยเป็นที่รู้จักกันภายใต้ชื่อทางการค้าว่า “Pyodine” และ “Betadine”
  • ยา Ethosuximide: เป็นยาทางเลือกแรกๆที่นำมาใช้บำบัดรักษาอาการลมชัก ยานี้ถูกจัดให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้สถานพยาบาล ควรมีสำรองไว้ให้บริการแก่ผู้ป่วย ข้อดีของยาEthosuximide ได้แก่ ไม่ก่อให้เกิดภาวะเป็นพิษต่อตับ/ตับอักเสบ รูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทานและจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Zarontin”

ทั้งนี้กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่ม 2-ไพโรลิโดนที่โดดเด่น และเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์จะเป็นกลไกที่เกิดในสมอง โดยนำมาใช้บำบัดรักษาอาการความจำเสื่อม ซึมเศร้า วิตกกังวล ช่วยกระตุ้นการหายใจ

อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้ป่วย/ผู้บริโภคไม่สามารถใช้ยากลุ่ม2-ไพโรลิโดนได้ อาทิ เช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาในกลุ่ม 2-ไพโรลิโดน
  • ห้ามใช้ยา Doxapram กับผู้ที่ป่วยด้วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ผู้มีภาวะทางเดินหายใจอุดตัน ผู้ที่อยู่ในภาวะหอบหืด ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ผู้ที่เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ผู้ที่มีภาวะสมองบวม มีความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง ด้วยยา Doxapram จะทำให้อาการป่วยจากโรคดังกล่าว ทวีความรุนแรงและเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยมากขึ้น
  • ห้ามใช้ยา Piracetam กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง โรคฮันติงตัน (Huntington’s disease, โรคสมองที่พบได้น้อยมาก เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางสมองและมีปัญหาทางด้านอารมณ์และความจำ และมีการกระตุกของกล้ามเนื้อผิดปกติ) และผู้ที่มีภาวะเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ
  • ระวังการใช้ยา Ethosuximide กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต รวมถึงผู้ที่มีอาการทางจิตเภท

นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มความระมัดระวังการใช้ยา 2-ไพโรลิโดน กับผู้ป่วยที่ใช้ยาบางประเภทอยู่ก่อน เช่นยา กลุ่มMAOIs, Aminophylline, กลุ่มสารสกัดไทรอยด์หรือไทรอกซิน/Thyroxine ยาแอสไพริน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพราะ การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยา 2-ไพโรลิโดน อาจก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่าปัจจุบันมีการใช้ยาชนิดใดอยู่บ้าง

สำหรับกลุ่มสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ก็จัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาแทบทุกประเภทรวมถึงย2-ไพโรลิโดน การจะใช้ยา2-ไพโรลิโดนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงควรต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ผู้ป่วยอาจจะพบอาการข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่ม2-ไพโรลิโดน ที่ส่งผลต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น ต่อระบบประสาท สภาวะทางจิตใจ ต่อผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ และอื่นๆ การจะเลือกใช้ยา2-ไพโรลิโดน ตัวใดมาบำบัดอาการของผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยเหมาะสม จึงควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว

2-ไพโรลิโดนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

2ไพโรลิโดน

อาจจำแนกสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ตามธรรมชาติของยาแต่ละรายการในกลุ่มยา2-ไพโรลิโดนได้ดังนี้ เช่น

ก. ยา Doxapram: มีข้อบ่งใช้ เช่น

  • กระตุ้นการหายใจในผู้ป่วยที่ได้รับยาสลบเมื่อต้องเข้ารับการผ่าตัด
  • ช่วยกระตุ้นการหายใจในผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นด้วยได้รับ ยาบางประเภทเกินขนาด

ข. ยา Ethosuximide: ใช้บำบัดรักษาอาการลมชัก

ค. ยา Piracetam: ใช้บำบัดรักษาอาการทางสมองและระบบประสาท เช่น ความจำเสื่อม อาการซึมเศร้า วิตกกังวล อาการวิงเวียน อาการกล้ามเนื้อกระตุกรัว

ง. ยา Povidone: มีข้อบ่งใช้ดังได้กล่าวแล้วใน “บทนำ”

2-ไพโรลิโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

2-ไพโรลิโดนมีกลไกการออกฤทธิ์ เช่น

ก. ยาDoxapram: ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อศูนย์ควบคุมการหายใจในบริเวณก้านสมอง โดยการกระตุ้นตัวรับที่มีชื่อว่า Chemoreceptors จนส่งผลต่อสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้ร่างกายเริ่มหายใจได้อย่างปกติ

ข. ยาEthosuximide จะออกฤทธิ์ต่อการกระตุ้นกระแสประสาท รวมถึงปิดกั้นศักย์ไฟฟ้าจากประจุแคลเซียม (Block of T-type calcium channels)ในเซลล์สมอง ก่อให้เกิดสมดุลทางไฟฟ้าของกระแสประสาทที่เหมาะสมเป็นปกติ และทำให้กลไกการเกิดลมชักยุติลง

ค. ยา Piracetam: มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมอง โดยช่วยเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทประเภท Acetylcholine ผ่านทางตัวรับที่จำเพาะเจาะจง จนเกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจดจำของสมอง และยังเพิ่มการไหลเวียน เลือดในสมอง โดยชะลอการรวมตัวของเกล็ดเลือดเป็นลิ่มเลือดที่คอยปิดกั้นการไหลเวียนโลหิต/เลือดภายในสมองและทำให้สมองได้รับออกซิเจนมากขึ้น

ง. ยาPovidone: อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “Povidone iodine”

2-ไพโรลิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยา 2-ไพโรลิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาชนิดรับประทาน
  • ยาฉีด
  • ยาทาภายนอก

2-ไพโรลิโดนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยา 2-ไพโรลิโดนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. ยา Doxapram สำหรับกระตุ้นการหายใจในผู้ป่วยที่ได้รับยาสลบหลังเข้า รับการผ่าตัด:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาขนาด 0.5 – 1.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าหลอดเลือดดำ โดยใช้เวลาในการฉีดยา 30 วินาทีเป็นอย่างต่ำ

ข. ยา Ethosuximide สำหรับบำบัดภาวะลมชัก:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทานยา 500 มิลลิกรัม/วัน โดยแพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานอีก 250 มิลลิกรัม ในทุกๆระยะเวลา 4-7 วัน และขนาดรับประทานปกติอยู่ที่ 1-1.5 กรัม/วัน ทั้งนี้สามารถใช้ยานี้ได้ทั้ง ก่อน หรือ หลังอาหาร

ค. ยา Piracetam สำหรับบำบัดภาวะสูญเสียความทรงจำ รวมถึงอาการเวียนศีรษะ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 2.4 – 4.8 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 2 – 3 ครั้ง/วันตามแพทย์สั่ง โดยควรรับประทานยานี้ ก่อนอาหาร

ง. ยาPovidone: อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “Povidoneiodine”

อนึ่ง:

  • เด็ก: การใช้ยา2-ไพโรลิโดนกับเด็ก ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา 2-ไพโรลิโดน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคลมชัก โรคหืด โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยา2-ไพโรลิโดนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตรเพราะยา หลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีเป็นยารับประทาน หากลืมรับประทานยา2-ไพโรลิโดน สามารถรับ ประทาน เมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยา2-ไพโรลิโดนตรงเวลาทุกวัน

กรณีเป็นยาฉีด ซึ่งจะใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น จึงไม่มีกรณีลืมฉีดยา

2-ไพโรลิโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยา 2-ไพโรลิโดนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วหรือ เต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บแน่นหน้าอก หน้าแดง
  • ต่อระบบเลือด: เช่น ฮีโมโกลบินลดลง เกิดภาวะ Pancytopenia/ภาวะเม็ดเลือดขาวทุกชนิดต่ำ Agranulocytosis/เม็ดเลือดขาวชนิดGranulocyte ต่ำ Eosinophilia/เม็ดเลือดขาวชนิดEosinophil สูง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น กระสับกระส่าย วิงเวียน สูญเสียการทรงตัว ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน อาจมีภาวะชัก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน น้ำลายมาก เบื่ออาหาร
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ รู้สึกสับสน วิตกกังวล ประสาทหลอน -ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน ลมพิษ เหงื่อออกมาก Stevens–Johnson syndrome
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว/เป็นตะคริว มีภาวะกล้ามเนื้อกระตุกสั่น
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด มีอัลบูมิน/มีโปรตีนในปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อตา: เช่น เกิดภาวะ สายตาสั้น

มีข้อควรระวังการใช้ 2-ไพโรลิโดนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยา 2-ไพโรลิโดน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่ม 2-ไพโรลิโดน
  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่มี ภาวะเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ ผู้ป่วยโรคฮันติงตัน (Huntington’s disease) ผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง โรคหัวใจระดับรุนแรง โรคความดันโลหิตสูง
  • ห้ามปรับขนาดการรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ การใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องได้รับคำสั่งยืนยันจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น อึดอัด/แน่นหน้าอก/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ตัวบวม ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยา2-ไพโรลิโดนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

2-ไพโรลิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยา 2-ไพโรลิโดน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Piracetam ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่นยา Warfarin อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยา Doxapram ร่วมกับยา Selegilline, Furazolidone, Methylene blue, ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรงจนอาจเป็นอันตรายถึงกับชีวิตได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรต้องเว้นระยะห่างของการใช้ยาอย่างน้อย 14 วัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Ethosuximide ร่วมกับยา Propoxyphene ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงจากยา Ethosuximide มากขึ้น เช่น วิงเวียน ง่วงนอน สับสน ขาดสมาธิ และสูญเสียการทรงตัว

ควรเก็บรักษา2-ไพโรลิโดนอย่างไร?

สามารถเก็บ ยา 2-ไพโรลิโดน ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

2-ไพโรลิโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยา 2-ไพโรลิโดนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Dopram (โดแพรม) Baxter Healthcare Corporation
Embol (เอมโบล)Yung Shin
Mancetam (แมนเซแทม)T.Man Pharma
Mempil (เมมพิล)General Drugs House
Noocetam (นูซีแทม)Central Poly Trading
Nootropil (นูโทรพิล) GlaxoSmithKline
Scarda (สการ์ดา)Pharmaland
Zarontin (ซารอนติน)Pfizer

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/2-Pyrrolidone [2017,Jan7]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Polyvinylpyrrolidone [2017,Jan7]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Piracetam#Other [2017,Jan7]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/doxapram/?type=brief&mtype=generic [2017,Jan7]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Ethosuximide#Medical_uses [2017,Jan7]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=piracetam [2017,Jan7]
  7. http://www.mims.com/philippines/drug/info/ethosuximide?mtype=generic [2017,Jan7]