2-ไพโรลิโดน (2-Pyrrolidone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 มกราคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- 2-ไพโรลิโดนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- 2-ไพโรลิโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- 2-ไพโรลิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- 2-ไพโรลิโดนมีขนาดการบริหารยาอย่างไรอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- 2-ไพโรลิโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ 2-ไพโรลิโดนอย่างไร?
- 2-ไพโรลิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษา2-ไพโรลิโดนอย่างไร?
- 2-ไพโรลิโดนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยากระตุ้นการหายใจ (Respiratory stimulant drugs)
- ยากดการหายใจ (Drug-induced respiratory depression)
- ยากระตุ้นประสาทส่วนกลาง (CNS stimulants)
- ยากดประสาทส่วนกลาง (CNS depressants)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
บทนำ
สาร 2-ไพโรลิโดน(2-Pyrrolidone) เป็นสารประกอบอินทรีย์ มีลักษณะทางกายภาพเป็นของเหลวไม่มีสี สามารถละลายน้ำ และเป็นตัวทำละลายได้ สารประกอบที่เป็นอนุพันธ์ของสาร 2-Pyrrolidone บางรายการถูกนำมาพัฒนาทางการแพทย์ และใช้เป็นยารักษาโรค อาทิเช่น
- สาร Cotinine: เป็นสารประเภทอัลคาลอยด์(Alkaloid)ที่พบในยาสูบ ร่างกายสามารถขับสาร Cotinine ทิ้งได้อย่างรวดเร็วโดยผ่านไปกับปัสสาวะ ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาและพัฒนาสาร Cotinine เพื่อใช้บำบัดรักษา โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน
- ยา Doxapram: ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยากระตุ้นการหายใจหลังจากการผ่าตัดหรือใช้ช่วยผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจอย่างกะทันหันด้วยสาเหตุได้รับยาบางประเภทเกินขนาด เช่น ยานอนหลับ ตัวยานี้มีกลไกออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจในสมองให้ทำงานโดยการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองของผู้ป่วย ยานี้มีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยเฉพาะในห้องผู้ป่วยวิกฤต/ไอ.ซี.ยู. (ICU, intensive care unit) ห้องผ่าตัด หรือห้องฉุกเฉิน เราสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Dopram”
- ยา Piracetam: เป็นยาในกลุ่มนูโทรปิก (Nootropic drug) ที่มีคุณสมบัติเสริมสร้างกระบวนการรับรู้ของสมอง ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการความจำเสื่อม ซึมเศร้า และวิตกกังวล ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์โดยช่วยเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทประเภท Acetylcholine ผ่านทางตัวรับ(Receptor)ที่เรียกว่า Muscarinic cholinergic receptor ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจดจำของสมอง และยังเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในสมองโดยส่งผลยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดที่อาจก่อตัวเป็นลิ่มเลือดที่อุดกั้นในหลอดเลือดและทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมองทำได้ไม่ดีพอ ยานี้ไม่มีฤทธิ์กล่อมประสาทหรือเป็นยากระตุ้นสมอง/ยากระตุ้นระบบประสาทแต่อย่างใด ซึ่งยานี้ จำหน่ายในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าว่า “Nootropil”
- ยา Povidone : เป็นสารประเภทโพลิเมอร์ที่ละลายน้ำได้ ใช้เป็นตัวเพิ่มปริมาณพลาสมาสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังใช้เป็นตัวประสานในอุตสาหกรรมการผลิตยาเม็ดอีกด้วย หากนำยา Povidone มาเติมในสารละลายไอโอดีนก็จะได้สารประกอบเชิงซ้อน ที่มีชื่อว่า โพวิโดนไอโอดีน(Povidoiodine) มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อ เราจะพบเห็นการใช้ผลิตภัณฑ์โพวิโดนไอโอดีนในรูปแบบต่างๆเช่น ครีม สบู่เหลว และสครับที่ใช้ในห้องผ่าตัด โดยเป็นที่รู้จักกันภายใต้ชื่อทางการค้าว่า “Pyodine” และ “Betadine”
- ยา Ethosuximide: เป็นยาทางเลือกแรกๆที่นำมาใช้บำบัดรักษาอาการลมชัก ยานี้ถูกจัดให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้สถานพยาบาล ควรมีสำรองไว้ให้บริการแก่ผู้ป่วย ข้อดีของยาEthosuximide ได้แก่ ไม่ก่อให้เกิดภาวะเป็นพิษต่อตับ/ตับอักเสบ รูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทานและจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Zarontin”
ทั้งนี้กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่ม 2-ไพโรลิโดนที่โดดเด่น และเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์จะเป็นกลไกที่เกิดในสมอง โดยนำมาใช้บำบัดรักษาอาการความจำเสื่อม ซึมเศร้า วิตกกังวล ช่วยกระตุ้นการหายใจ
อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้ป่วย/ผู้บริโภคไม่สามารถใช้ยากลุ่ม2-ไพโรลิโดนได้ อาทิ เช่น
- เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาในกลุ่ม 2-ไพโรลิโดน
- ห้ามใช้ยา Doxapram กับผู้ที่ป่วยด้วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ผู้มีภาวะทางเดินหายใจอุดตัน ผู้ที่อยู่ในภาวะหอบหืด ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ผู้ที่เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ผู้ที่มีภาวะสมองบวม มีความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง ด้วยยา Doxapram จะทำให้อาการป่วยจากโรคดังกล่าว ทวีความรุนแรงและเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยมากขึ้น
- ห้ามใช้ยา Piracetam กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง โรคฮันติงตัน (Huntington’s disease, โรคสมองที่พบได้น้อยมาก เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางสมองและมีปัญหาทางด้านอารมณ์และความจำ และมีการกระตุกของกล้ามเนื้อผิดปกติ) และผู้ที่มีภาวะเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ
- ระวังการใช้ยา Ethosuximide กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต รวมถึงผู้ที่มีอาการทางจิตเภท
นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มความระมัดระวังการใช้ยา 2-ไพโรลิโดน กับผู้ป่วยที่ใช้ยาบางประเภทอยู่ก่อน เช่นยา กลุ่มMAOIs, Aminophylline, กลุ่มสารสกัดไทรอยด์หรือไทรอกซิน/Thyroxine ยาแอสไพริน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพราะ การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยา 2-ไพโรลิโดน อาจก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่าปัจจุบันมีการใช้ยาชนิดใดอยู่บ้าง
สำหรับกลุ่มสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ก็จัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาแทบทุกประเภทรวมถึงย2-ไพโรลิโดน การจะใช้ยา2-ไพโรลิโดนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงควรต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ผู้ป่วยอาจจะพบอาการข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่ม2-ไพโรลิโดน ที่ส่งผลต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น ต่อระบบประสาท สภาวะทางจิตใจ ต่อผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ และอื่นๆ การจะเลือกใช้ยา2-ไพโรลิโดน ตัวใดมาบำบัดอาการของผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยเหมาะสม จึงควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว
2-ไพโรลิโดนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
อาจจำแนกสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ตามธรรมชาติของยาแต่ละรายการในกลุ่มยา2-ไพโรลิโดนได้ดังนี้ เช่น
ก. ยา Doxapram: มีข้อบ่งใช้ เช่น
- กระตุ้นการหายใจในผู้ป่วยที่ได้รับยาสลบเมื่อต้องเข้ารับการผ่าตัด
- ช่วยกระตุ้นการหายใจในผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นด้วยได้รับ ยาบางประเภทเกินขนาด
ข. ยา Ethosuximide: ใช้บำบัดรักษาอาการลมชัก
ค. ยา Piracetam: ใช้บำบัดรักษาอาการทางสมองและระบบประสาท เช่น ความจำเสื่อม อาการซึมเศร้า วิตกกังวล อาการวิงเวียน อาการกล้ามเนื้อกระตุกรัว
ง. ยา Povidone: มีข้อบ่งใช้ดังได้กล่าวแล้วใน “บทนำ”
2-ไพโรลิโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
2-ไพโรลิโดนมีกลไกการออกฤทธิ์ เช่น
ก. ยาDoxapram: ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อศูนย์ควบคุมการหายใจในบริเวณก้านสมอง โดยการกระตุ้นตัวรับที่มีชื่อว่า Chemoreceptors จนส่งผลต่อสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้ร่างกายเริ่มหายใจได้อย่างปกติ
ข. ยาEthosuximide จะออกฤทธิ์ต่อการกระตุ้นกระแสประสาท รวมถึงปิดกั้นศักย์ไฟฟ้าจากประจุแคลเซียม (Block of T-type calcium channels)ในเซลล์สมอง ก่อให้เกิดสมดุลทางไฟฟ้าของกระแสประสาทที่เหมาะสมเป็นปกติ และทำให้กลไกการเกิดลมชักยุติลง
ค. ยา Piracetam: มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมอง โดยช่วยเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทประเภท Acetylcholine ผ่านทางตัวรับที่จำเพาะเจาะจง จนเกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจดจำของสมอง และยังเพิ่มการไหลเวียน เลือดในสมอง โดยชะลอการรวมตัวของเกล็ดเลือดเป็นลิ่มเลือดที่คอยปิดกั้นการไหลเวียนโลหิต/เลือดภายในสมองและทำให้สมองได้รับออกซิเจนมากขึ้น
ง. ยาPovidone: อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “Povidone iodine”
2-ไพโรลิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยา 2-ไพโรลิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาชนิดรับประทาน
- ยาฉีด
- ยาทาภายนอก
2-ไพโรลิโดนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยา 2-ไพโรลิโดนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. ยา Doxapram สำหรับกระตุ้นการหายใจในผู้ป่วยที่ได้รับยาสลบหลังเข้า รับการผ่าตัด:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาขนาด 0.5 – 1.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าหลอดเลือดดำ โดยใช้เวลาในการฉีดยา 30 วินาทีเป็นอย่างต่ำ
ข. ยา Ethosuximide สำหรับบำบัดภาวะลมชัก:
- ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทานยา 500 มิลลิกรัม/วัน โดยแพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานอีก 250 มิลลิกรัม ในทุกๆระยะเวลา 4-7 วัน และขนาดรับประทานปกติอยู่ที่ 1-1.5 กรัม/วัน ทั้งนี้สามารถใช้ยานี้ได้ทั้ง ก่อน หรือ หลังอาหาร
ค. ยา Piracetam สำหรับบำบัดภาวะสูญเสียความทรงจำ รวมถึงอาการเวียนศีรษะ:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 2.4 – 4.8 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 2 – 3 ครั้ง/วันตามแพทย์สั่ง โดยควรรับประทานยานี้ ก่อนอาหาร
ง. ยาPovidone: อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “Povidoneiodine”
อนึ่ง:
- เด็ก: การใช้ยา2-ไพโรลิโดนกับเด็ก ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา 2-ไพโรลิโดน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคลมชัก โรคหืด โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยา2-ไพโรลิโดนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตรเพราะยา หลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีเป็นยารับประทาน หากลืมรับประทานยา2-ไพโรลิโดน สามารถรับ ประทาน เมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยา2-ไพโรลิโดนตรงเวลาทุกวัน
กรณีเป็นยาฉีด ซึ่งจะใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น จึงไม่มีกรณีลืมฉีดยา
2-ไพโรลิโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยา 2-ไพโรลิโดนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วหรือ เต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บแน่นหน้าอก หน้าแดง
- ต่อระบบเลือด: เช่น ฮีโมโกลบินลดลง เกิดภาวะ Pancytopenia/ภาวะเม็ดเลือดขาวทุกชนิดต่ำ Agranulocytosis/เม็ดเลือดขาวชนิดGranulocyte ต่ำ Eosinophilia/เม็ดเลือดขาวชนิดEosinophil สูง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น กระสับกระส่าย วิงเวียน สูญเสียการทรงตัว ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน อาจมีภาวะชัก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน น้ำลายมาก เบื่ออาหาร
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ รู้สึกสับสน วิตกกังวล ประสาทหลอน -ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน ลมพิษ เหงื่อออกมาก Stevens–Johnson syndrome
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว/เป็นตะคริว มีภาวะกล้ามเนื้อกระตุกสั่น
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด มีอัลบูมิน/มีโปรตีนในปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
- ผลต่อตา: เช่น เกิดภาวะ สายตาสั้น
มีข้อควรระวังการใช้ 2-ไพโรลิโดนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยา 2-ไพโรลิโดน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่ม 2-ไพโรลิโดน
- ห้ามใช้ยากับผู้ที่มี ภาวะเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ ผู้ป่วยโรคฮันติงตัน (Huntington’s disease) ผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง โรคหัวใจระดับรุนแรง โรคความดันโลหิตสูง
- ห้ามปรับขนาดการรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ การใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องได้รับคำสั่งยืนยันจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น อึดอัด/แน่นหน้าอก/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ตัวบวม ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยา2-ไพโรลิโดนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
2-ไพโรลิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยา 2-ไพโรลิโดน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยา Piracetam ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่นยา Warfarin อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยา Doxapram ร่วมกับยา Selegilline, Furazolidone, Methylene blue, ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรงจนอาจเป็นอันตรายถึงกับชีวิตได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรต้องเว้นระยะห่างของการใช้ยาอย่างน้อย 14 วัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา Ethosuximide ร่วมกับยา Propoxyphene ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงจากยา Ethosuximide มากขึ้น เช่น วิงเวียน ง่วงนอน สับสน ขาดสมาธิ และสูญเสียการทรงตัว
ควรเก็บรักษา2-ไพโรลิโดนอย่างไร?
สามารถเก็บ ยา 2-ไพโรลิโดน ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
2-ไพโรลิโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยา 2-ไพโรลิโดนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dopram (โดแพรม) | Baxter Healthcare Corporation |
Embol (เอมโบล) | Yung Shin |
Mancetam (แมนเซแทม) | T.Man Pharma |
Mempil (เมมพิล) | General Drugs House |
Noocetam (นูซีแทม) | Central Poly Trading |
Nootropil (นูโทรพิล) | GlaxoSmithKline |
Scarda (สการ์ดา) | Pharmaland |
Zarontin (ซารอนติน) | Pfizer |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/2-Pyrrolidone [2017,Jan7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Polyvinylpyrrolidone [2017,Jan7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Piracetam#Other [2017,Jan7]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/doxapram/?type=brief&mtype=generic [2017,Jan7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ethosuximide#Medical_uses [2017,Jan7]
- http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=piracetam [2017,Jan7]
- http://www.mims.com/philippines/drug/info/ethosuximide?mtype=generic [2017,Jan7]