ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อย: การปฐมพยาบาล การรักษาและการป้องกัน (Bee, Wasp, Hornet, and Ant stings)
- โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ
- 9 กุมภาพันธ์ 2560
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ปฐมพยาบาล ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อยอย่างไร?
- ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อยมีอาการอย่างไร? ดูแลรักษาอย่างไร?
- เมื่อไรควรพบแพทย์หลังถูก ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อย?
- ป้องกัน ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อยอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทนำ
ผึ้ง ต่อและมดกัดต่อย (Bee, Wasp, Hornet, and Ant stings) พบได้บ่อย ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการมาก แต่มีผู้ป่วยบางส่วนอาการหนักมากจากการแพ้รุนแรงที่เรียกทับศัพท์การแพทย์ว่า แอนาฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) ซึ่งถ้าให้การรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยจะเสียชีวิต การรายงานผู้ ป่วยในกรณีนี้น้อยกว่าความเป็นจริง เพราะอาจไม่ได้ประวัติสัตว์เหล่านี้กัดต่อย แต่จะถูกราย งานการเสียชีวิตจากเรื่องของหัวใจและระบบหายใจล้มเหลวซึ่งให้อาการได้คล้ายคลึงกัน
ผึ้ง ต่อ จัดเป็นแมลงกลุ่มไฮเมนอพเทอรา (Hymenoptera) ที่มีปีก ส่วนมดเป็น Hyme noptera ที่ไม่มีปีก ส่วนใหญ่สัตว์เหล่านี้จะกัดหรือต่อยคนเพื่อป้องกันตนเองหรือป้องกันรังของมันจากการรุกรานของมนุษย์
ปฐมพยาบาล ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อยอย่างไร?
การปฐมพยาบาล ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อย คือ
- ถ้าผู้ถูกกัดต่อย มีอาการรุนแรงตั้งแต่แรก เช่น หายใจไม่ออก เหงื่อออกมาก ขึ้นผื่นทั้ง ตัว แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว เป็นลม และ/หรือขึ้นผื่นทั่วตัว ควรต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน
- ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงทางการหายใจ ทางการเต้นของหัวใจ และ/หรืออาการขึ้นผื่นรุนแรง การปฐมพยาบาล คือ
-ล้างบริเวณที่ถูกกัดต่อยเบาๆให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด
-ต่อจากนั้นใช้สันของบัตรเครดิต หรือสิ่งที่มีลักษณะคล้ายกันขูดเบาๆบริเวณที่ถูกกัดต่อยเพื่อเอาเหล็กในของสัตว์ที่กัดต่อยออก เพราะเหล็กในเหล่านี้ยังมีพิษอยู่เมื่อไม่เอาออก ร่างกายจะได้รับพิษสูงขึ้น อย่าใช้วิธีบีบ หรือกดเพราะจะทำให้เนื้อเยื่อบวมช้ำและได้รับพิษสูง ขึ้น
-ประคบบริเวณถูกกัดต่อยด้วยความเย็นเพื่อลดการปวด บวม และอาการคัน
-หลังจากนั้นดูแลตนเองต่อ ดังจะได้กล่าวในหัวข้อการดูแลรักษา
ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อยมีอาการอย่างไร? ดูแลรักษาอย่างไร?
เมื่อถูกกัดหรือต่อยจากสัตว์กลุ่มนี้จะเกิดผลต่อร่างกายได้ 3 อย่างคือ
1. อาการเฉพาะที่ (Local reaction): ซึ่งอาการเฉพาะที่ยังแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
1.1 กลุ่มที่อาการไม่มาก (Uncomplicated local reaction) ผิวหนังบริเวณรอยที่ถูกกัดหรือต่อยจะบวมแดง ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร(ซม.) จนถึง 5 ซม. โดยจะเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่กี่นาที และหายไปได้เองภายใน 2-3 ชั่วโมง แม้บางครั้งอาการบวมอาจจะอยู่ได้นาน 1-2 วัน
การรักษา อาการในกลุ่มนี้รักษาด้วยการประคบเย็น เช่น ใช้ผ้าเย็นหรือผ้าห่อน้ำ แข็งประคบบริเวณที่ปวด บวม แดง หลังจากนั้นทาบริเวณที่ถูกกัดต่อยด้วยยา สเตียรอยด์ หรือยาแอนติฮีสตามีน/Antihistamine (ยาแก้คัน ยาแก้แพ้) ซึ่งดังกล่าวแล้วแม้ไม่ทายา อาการก็จะหายไปเองภายใน 2-3 ชั่วโมง
ข้อควรระวัง คือหากมดกัด (เช่น มดแดงไฟ มดตะนอย) มักจะทำให้เกิดรอยบวมแดง และลักษณะเป็นเหมือนหัวหนอง เกิดจากพิษของมดที่มีสารอัลคาลอยด์ (Alkaloid) ซึ่งจะก่อให้เกิดลักษณะดังกล่าวภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากถูกมดกัด ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นหนอง หากเกิดลักษณะดังกล่าวอย่าไปเจาะหรือเปิดแผล เพราะส่วนใหญ่ การรักษาหนองทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจะทำโดยการเจาะหรือผ่าบริเวณที่เป็นหนอง เพื่อระบายหนองออก แต่อาการทางผิวหนังจากมดกัดนี้คล้ายหนองแต่ไม่ใช่จากติดเชื้อแบคทีเรีย การเปิดแผลจะยิ่งมีโอกาสทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้สูงขึ้น
1.2 กลุ่มที่อาการเฉพาะที่ขนาดใหญ่ จะมีอาการบวมแดงที่ผิวหนังตรงบริเวณที่ถูกกัดขนาดใหญ่ประมาณ 10 ซม. อาการจะค่อยๆบวมแดงมากขึ้นภายใน 2 วัน จะบวมถึงที่ สุดประมาณ 48 ชั่วโมงหลังจากถูกสัตว์กัดต่อย และจะค่อยๆยุบหายไปภายใน 5-10 วัน ผู้ที่ถูกกัดแล้วมีอาการนี้คิดเป็นประมาณ10% ของผู้ที่ถูกผึ้งต่อ ต่อย หรือมดกัด
การรักษา ขึ้นกับอาการ ได้แก่
- ประคบเย็น เพื่อช่วยให้ผิวหนังรู้สึกสบายขึ้น ถ้าถูกกัดต่อยที่แขน ขา ยกแขน ขาส่วนนั้นให้สูงขึ้นเพื่อลดอาการบวม
- กินยาสเตียรอยด์ระยะสั้นๆ ทั้งนี้ต้องอยู่ในภายใต้การสั่งยาของแพทย์
- ใช้ยาทาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาในกลุ่มเอนเสดส์ (NSAIDs) เพื่อลดอาการปวด
- หากมีอาการคันมากให้กินยาแอนติฮิสตามีนแก้คัน เช่น ยาคลอร์เฟน (Chlorpheniramine, CPM) หรือทายาครีมสเตียรอยด์จนอาการดีขึ้น อนึ่ง อาการที่ผิวหนังส่วนใหญ่มักจะไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรก แต่ควรสงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรก เมื่อบริเวณที่ถูกกัดต่อยมีอาการปวด บวม แดง ร้อน โดยเป็นมากขึ้นหลัง 3-5 วันนับจากถูกกัดต่อย ซึ่งโดยปกติหากไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรก อาการจะดีขึ้นแล้ว
2. อาการแพ้พิษ (Venom allergy): และภาวะแพ้พิษรุนแรงแอนาฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) ซึ่งเป็นอาการรุนแรงที่สุด และเกิดได้รวดเร็ว อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เรียก ว่า Venom-induced anaphylaxis จะมีอาการไม่เฉพาะแต่บริเวณที่ถูกกัด แต่จะกระจายไปเนื้อเยื่ออื่นๆด้วย
อาการรุนแรงนี้ อาจเกิดได้แม้แต่ถูกสัตว์ดังกล่าวกัดต่อยเพียงครั้งเดียว บางครั้งยังมีอาการรุนแรงทั้งๆที่ได้รับการรักษาด้วยยาฉีดเอปิเนฟรีน (Epinephrine) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ฉุกเฉินสำหรับภาวะนี้โดยตรง และในบางคนอาจไม่ได้ผลทั้งๆที่ฉีดยานี้ไปแล้วหลายครั้ง
โดยทั่วไปการแพ้พิษ Anaphylaxis พบได้ประมาณ 0.3 ถึง 8% ของผู้ที่ถูกผึ้ง ต่อหรือมด กัดต่อย ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของแมลง และจำนวนแผลที่ถูกกัดต่อย
ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบสาเหตุการตายจากสัตว์กลุ่มนี้ปีละ 40 ถึง 100 ราย อัตราการตายใกล้เคียงกันทั่วโลก แต่คาดว่าอัตรานี้น้อยกว่าความเป็นจริงเพราะผู้ป่วยอาจถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะโรคหัวใจ หรือจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการแพ้พิษอย่างรุนแรงของสัตว์เหล่านี้ ไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนเองแพ้พิษสัตว์เหล่านี้
อาการแพ้พิษนี้เกิดได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่หากเกิดในผู้ใหญ่จะมีอาการมากกว่าในเด็ก และอาจเสียชีวิตในประชากรกลุ่มผู้ใหญ่มากกว่าในกลุ่มเด็ก พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและพบในคนที่ทำงานนอกสถานที่ โดยเฉพาะ อาชีพเลี้ยงผึ้ง จะพบได้สูงขึ้น เนื่องจากมีโอกาสที่จะถูกผึ้งกัดต่อยได้มากกว่าคนอื่นๆ
อาการที่ต้องสงสัยว่าเกิด Venom-induced anaphylaxis
- อาการทางผิวหนัง ที่พบบ่อยคือ อาการลมพิษกระจายไปทั่วทั้งตัว ผิวหนังแดง บวม ซึ่งในกลุ่มผู้ป่วยเด็กจะพบอาการทางผิวหนังมากกว่าผู้ใหญ่คือพบได้ประมาณ60% ของอาการแพ้รุนแรงนี้ ขณะที่ผู้ใหญ่พบเพียงประมาณ15%
- อาการทางระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ มีอาการอุดกั้นทางเดินหายใจเฉียบพลัน เนื่องจากมีการบวมของหลอดลมเฉียบพลัน ทำให้หายใจลำบาก หายใจหอบ และมีเสียงแหบจากการบวมของกล่องเสียง
- อาการทางระบบหัวใจและการไหลเวียนเลือดล้มเหลว ซึ่งพบได้ตั้งแต่ มีอาการหน้ามืด วิงเวียน เป็นลม เนื่องจากความดันโลหิตต่ำ เลือดจึงไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายไม่เพียง พอ จึงเกิดภาวะช็อก อาการนี้นับว่าเป็นอาการรุนแรงที่สุดของการแพ้พิษสัตว์พวกนี้ และเป็นเหตุให้เสียชีวิต
ดังนั้นในผู้ที่ทำงานนอกบ้าน เช่น ทำงานในสวน หรือสนามกอล์ฟ หรือคนที่เล่นกอล์ฟ หากมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ หรืออาการทางระบบหัวใจและการไหลเวียนเลือด ซึ่งส่วนใหญ่อาจคิดว่าเป็นโรคหัวใจหรือโรคหืด คงต้องคิดถึงภาวะที่ถูกสัตว์กลุ่มนี้กัดต่อยด้วย เพื่อจะได้รักษาได้ถูกต้องทันท่วงที
การรักษาภาวะ Venom-induced anaphylaxis การรักษาภาวะนี้เหมือนการรักษาภาวะ Anaphylaxis อื่นๆ คือการฉีดยาเอปิเนฟรีนเข้ากล้ามเนื้อบริเวณหน้าขาด้านข้าง (Anterolateral thigh) ซึ่งเป็นการรักษาช่วยชีวิตฉุกเฉิน ผู้ที่มีประวัติแพ้สัตว์พวกนี้ ควรจะมียาเอปิเนฟริน พกพาเพื่อฉีดเองได้ทันท่วงที โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อจะได้ทราบวิธีการฉีดยานี้
ในเด็ก พ่อแม่ควรต้องเอาใจใส่ ทบทวนให้ทราบวิธีจากแพทย์และสอนให้ลูกดู แลตนเองได้เมื่อถูกสัตว์เหล่านี้กัดต่อย
เมื่อฉีดยานี้เองแล้ว อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เนื่อง จากมีการรายงานว่า ผู้ป่วยที่หลังจากฉีดยาแล้วดูเหมือนกับอาการจะดีขึ้น แต่ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา อาการจะรุนแรงกลับเป็นซ้ำอีกจนบางคนเสียชีวิต ซึ่งการรักษาในคนกลุ่มนี้ ควรอยู่ในโรงพยา บาลเพราะมีอุปกรณ์และบุคลากรพร้อมกว่าที่บ้าน หรือที่คลินิก
เมื่อถูกสัตว์เหล่านี้กัดต่อย ต้องดึงเอาเหล็กในออกด้วย เพราะเหล็กในนี้จะปล่อยพิษออกมาได้อีก พวกที่ถูกมดแดงไฟ หรือมดตะนอยกัดควรดึงเอาตัวมดออกไปด้วย เพราะเมื่อมดพวกนี้กัดจะปล่อยพิษออกมา และขณะกัดติดที่ผิวหนังก็จะปล่อยพิษต่อไปอีก
การป้องกันภาวะ Venom-induced anaphylaxis: การป้องกันไม่ให้สัตว์เหล่า นี้กัดต่อยเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นกิจวัตรในกลุ่มคนที่มีประวัติแพ้พิษหรือแม้แต่ผู้ที่ไม่มีประวัติแพ้ซึ่งก็อาจแพ้ได้ เช่นไม่ใส่เสื้อสีสดใส หรือใส่น้ำหอมไปในที่มี สัตว์เหล่านี้อยู่ เพราะสัตว์เหล่านี้ ชอบสีสดใสและกลิ่นหอมเหมือนดอกไม้ และต้องคอยดูไม่ให้เด็กเข้าไปเล่นในพุ่มไม้ที่อาจมี ผึ้ง ต่อ หรือมดชุกชุม
ปัจจุบันแพทย์สามารถรักษาภาวะนี้โดยการใช้กระบวนการทางภูมิคุ้มกันการแพ้พิษ (Venom immunotherapy โดยการฉีดพิษ เข้าสู่ร่างกายบ่อยๆ และค่อยๆเพิ่มปริมาณทีละน้อย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันต้านทานต่อพิษนี้) ซึ่งจะลดภาวะแพ้อย่างรุนแรงนี้ได้ ดังนั้นหากมีประวัติที่สงสัยจะแพ้พิษสัตว์เหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ทางภูมิแพ้ เพื่อจะได้รับการรักษาหรือการป้องกันภาวะแพ้รุนแรงนี้
3. อาการอื่นๆจากพิษที่พบเกิดในระยะหลัง: ผู้ป่วยบางส่วนจะมีอาการหลังจากถูกสัตว์เหล่านี้กัดต่อยไปแล้วหลายวันหรือหลายสัปดาห์ อาการเหล่านี้ ได้แก่ ซีรัมซิกเนส (Serum sickness) หลอดเลือดอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ หรือไตอักเสบ
อาการของซีรัมซิกเนส คือ มีลมพิษที่ผิวหนัง ปวดตามข้อ มีไข้ เหนื่อยอ่อนเพลีย และมีต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งมักเกิด 7 ถึง 10 วันหลังจากถูกสัตว์เหล่านี้กัดต่อย
เมื่อไรควรพบแพทย์หลังถูก ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อย?
เมื่อถูกสัตว์เหล่านี้กัดต่อย ควรพบแพทย์เมื่อ
1. บริเวณที่ถูกกัดต่อยมีอาการ บวม แดง ปวด มาก
2. อาการปวด บวม แดง ไม่หายไปภายใน 3-5 วัน และ/หรือกลับเลวลง เช่น 2-3 วันยังบวม แดง ปวด มากขึ้น
3. มีไข้ร่วมด้วย ซึ่งแสดงว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรก
4. ผู้ที่มีประวัติแพ้พิษ แพ้อาหาร และ/หรือมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด ต้องรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน หากมียาเอปิเนฟรีนอยู่ ให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่หน้าขาตามที่แพทย์กำหนดให้
5. มีอาการผิดปกติอื่นๆที่เกิดตามมาภายหลังจากสัตว์เหล่านี้กัดต่อยแล้ว
ป้องกัน ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อยอย่างไร?
การป้องกันสัตว์เหล่านี้กัดต่อย สามารถทำได้โดย
1. สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าบู๊ท สวมถุงมือ หมวกและผ้าคลุมหน้า แว่น ตา หากต้องไปทำงานในสนาม และเป็นผู้มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพ้พิษสัตว์เหล่านี้
2. ไม่ใส่เสื้อผ้าสีสดใส หรือน้ำหอมในบริเวณที่สัตว์เหล่านี้อยู่ เพราะจะดึงดูดให้สัตว์เหล่านี้มาไต่ตอม เสี่ยงต่อการถูกกัดต่อย
3. สอนให้เด็กรู้จักป้องกันไม่ให้ถูกสัตว์เหล่านี้กัดต่อยด้วย เช่น เวลาไปเล่นที่สนามหญ้า ให้สวมใส่รองเท้าให้มิดชิด ดูว่ามีมด สัตว์พวกนี้อยู่ในบริเวณดังกล่าวหรือไม่
4. ในพวกที่แพ้พิษของสัตว์ดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อเรียนรู้วิธีการใช้ยาเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน อาจรับการรักษาด้วยวิธี Venom immunotherapy เมื่อแพทย์แนะนำ และคอยหมั่นตรวจสอบยาที่เก็บไว้ว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้การได้ ไม่หมดอายุ
บรรณานุกรม
- http://www.uptodate.com/contents/bee-yellow-jacket-wasp-and-other-hymenoptera-stings-reaction-types-and-acute-management [2017,Jan21]
- http://www.uptodate.com/contents/fatal-anaphylaxis [2017,Jan21]
- http://www.uptodate.com/contents/hymenoptera-venom-immunotherapy-efficacy-indications-and-mechanism-of-action [2017,Jan21]
- http://www.uptodate.com/contents/stings-of-imported-fire-ants-clinical-manifestations-diagnosis-and-treatment [2017,Jan21]
- http://nasdonline.org/959/d000800/first-aid-for-bee-and-insect-stings.html [2017,Jan21]
Updated 2017,Jan21