ไฮโดรโคโดน (Hydrocodone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไฮโดรโคโดน (Hydrocodone) เป็นสารโอปิออยด์ (Opioid) กึ่งสังเคราะห์ที่มีการดัดแปลงโครงสร้างทางเคมีจาก Codeine ซึ่งเป็นสารประเภทอัลคาลอยด์ (Alkaloid) ที่พบมากในดอกฝิ่น สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดให้ไฮโดรโคโดนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ประโยชน์ทางคลินิกจะใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดของร่างกายที่มีระดับความรุนแรงปานกลางอีกทั้งยังใช้เป็นยาแก้ไออีกด้วย

หลังจากร่างกายได้รับยานี้ประมาณ 10 - 30 นาที ตัวยาจึงเริ่มออกฤทธิ์โดยมีระยะเวลาออกฤทธิ์นานประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง ธรรมชาติของยาไฮโดรโคโดนเมื่ออยู่ในกระแสเลือดจะถูกลำเลียงไปที่ตับและมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีเกิดขึ้น ร่างกายอาจต้องใช้เวลาประมาณ 3.8 - 6 ชั่ว โมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

เนื่องจากยานี้มีฤทธิ์เสพติดจึงมีข้อห้ามใช้ที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยเช่น ห้ามรับประทานยาไฮโดรโคโดนพร้อมกับสุราหรือสารเสพติดชนิดอื่นรวมไปถึงยาที่สามารถออกฤทธิ์ต่อสมองอย่างยาต้านสารฮีสตามีน (Histamine) ยาคลายความวิตกกังวล/ยาคลายเครียด ด้วยอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้น

สำหรับตลาดยานี้ในต่างประเทศ นอกจากจะมีการใช้ยาไฮโดรโคโดนเป็นยาเดี่ยวๆแล้ว ยังพบเห็นสูตรตำรับที่มีการผสมระหว่าง Hydrocodone กับยาอื่นอีกเช่น Acetaminophen (Paracetamol) หรือไม่ก็ร่วมกับยา Chlorpheniramine โดยเป็นลักษณะของยารับประทานชนิดเม็ด แคปซูล และยาน้ำ เป็นต้น ในบางประเทศยังมีการใช้ยานี้ในลักษณะยาพ่นจมูกและยาเหน็บทวารอีกด้วย

ไฮโดรโคโดนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไฮโดรโคโดน

ยาไฮโดรโคโดนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ใช้บรรเทาอาการปวดระดับกลางถึงระดับรุนแรง
  • ใช้เป็นยาบรรเทาอาการไอ

ไฮโดรโคโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไฮโดรโคโดนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้าจับกับตัวรับที่มีชื่อว่า Opioid receptors ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในเซลล์สมองตลอดไปจนถึงในไขสันหลัง จากนั้นจะเกิดการปรับสมดุลทางเคมีของสารสื่อประสาท มีทั้งยับยั้งการหลั่งและเร่งการปลดปล่อยของสารสื่อประสาทบางตัวออกมาทำงาน ด้วยกลไกที่ซับซ้อนเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ไฮโดรโคโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไฮโดรโคโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

ก. ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 20, 30, 40, 60, 80, 100 และ 120 มิลลิกรัม/เม็ด

ข. ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น

  • Acetaminophen 400 มิลลิกรัม + Hydrocodone bitartrate 5 มิลลิกรัม
  • Acetaminophen 400 มิลลิกรัม + Hydrocodone bitartrate 7.5 มิลลิกรัม
  • Acetaminophen 400 มิลลิกรัม + Hydrocodone bitartrate 10 มิลลิกรัม
  • Acetaminophen 500 มิลลิกรัม + Hydrocodone bitartrate 5 มิลลิกรัม
  • Hydrocodone bitartrate 5 มิลลิกรัม + Ibuprofen 200 มิลลิกรัม
  • Hydrocodone bitartrate 10 มิลลิกรัม + Ibuprofen 200 มิลลิกรัม

ค. ยาแคปซูลชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยา Chlorpheniramine เช่น

  • Chlorpheniramine polistirex 4 มิลลิกรัม + Hydrocodone polistirex 5 มิลลิกรัม
  • Chlorpheniramine polistirex 8 มิลลิกรัม + Hydrocodone polistirex 10 มิลลิกรัม

ง. ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยา Chlorpheniramine เช่นChlorpheniramine polistirex 8 มิลลิกรัม + Hydrocodone polistirex 10 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

จ. ยาน้ำเชื่อมชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น

  • Acetaminophen 500 มิลลิกรัม + Hydrocodone bitartrate 7.5 มิลลิกรัม/15 มิลลิลิตร
  • Hydrocodone bitartrate 5 มิลลิกรัม + Phenylpropanolamine hydrochloride 25 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

ไฮโดรโคโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไฮโดรโคโดนมีขนาดรับประทานสำหรับรักษาอาการปวดและอาการไอ: ตัวยาเป็นชนิดHydrocodone bitartrate เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 5 - 10 มิลลิกรัมทุก 4 - 6 ชั่วโมง
  • เด็ก: ขนาดยาในเด็กขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งจะแตกต่างกันในเด็กแต่ละคนโดยขึ้นกับน้ำหนักตัวเด็ก ช่วงอายุ การทำงานของตับ การทำงานของไต และความรุนแรงของอาการ

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไฮโดรโคโดนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไฮโดรโคโดนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไฮโดรโคโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไฮโดรโคโดนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน มีผลต่อสมองและการทำงานของหัวใจ ปากแห้ง เหงื่อออกมาก มีอาการชัก อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้ไฮโดรโคโดนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ไฮโดรโคโดนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดตันเช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กทารกหรือเด็กที่มีภาวะท้องเสียชนิดเฉียบพลัน
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ที่มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง ผู้ป่วยด้วยภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่อยู่ในภาวะหมดสติ ผู้ที่มีภาวะทางเดินอาหารอักเสบ/ลำไส้อักเสบหรือลำไส้อุดตัน ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ระหว่างใช้ยานี้ให้ระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากที่ยามีผลข้างเคียงให้ง่วงนอน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไฮโดรโคโดนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไฮโดรโคโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไฮโดรโคโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาไฮโดรโคโดนร่วมกับยา Tramadol อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการลมชักได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาไฮโดรโคโดนร่วมกับยา Clarithromycin, Clotrimazole, Diltiazem, Erythromycin อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงมากยิ่งขึ้นอาทิเช่น วิงเวียน ง่วงนอน สูญเสียการครองสติ ความดันโลหิตต่ำ เป็นลม และอาจเกิดภาวะโคม่า หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาไฮโดรโคโดนร่วมกับยา Bupropion โดยเฉพาะการใช้ปริมาณที่สูงๆสามารถทำให้เกิดอาการลมชักได้ ยิ่งเป็นผู้ป่วยสูงอายุโอกาสที่จะเกิดอาการลมชักยิ่งมีสูงมากตามลำดับ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามรับประทานยาไฮโดรโคโดนพร้อมการดื่มสุราหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วน ผสมด้วยจะส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางเช่น ง่วงนอน วิงเวียน เป็นลม ขาดการครองสติ ความดันโลหิตต่ำ กดการหายใจ (หายใจช้า ตื้นและเบา จนถึงหยุดหายใจ) และเกิดภาวะโคม่าจนถึงขั้นเสีย ชีวิต (ตาย)

ควรเก็บรักษาไฮโดรโคโดนอย่างไร?

ควรเก็บยาไฮโดรโคโดนในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไฮโดรโคโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไฮโดรโคโดนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Hycomine Syrup (ไฮโคมายน์ ไซรัป) Endo Pharmaceuticals Inc
Lortab Syrup (ลอร์แทบ ไซรัป) UCB Pharma Inc
Ibudone (ไอบูโดน) ProEthic Pharmaceuticals Inc
Hisingla ER (ไฮซินกลา อีอาร์) Purdue Pharma L.P./td>
Vicodin (ไวโคดิน) Abbott Laboratories
Zydone (ไซโดน) Endo Pharmaceuticals Inc
Tussionex Pennkinetic Extended-Release (ทัซซิโอเน็กซ์ เพนไคเนติก เอ็กซ์เทนเดด-รีลีส) UCB Inc
Tussicaps Extended-Release capsule Mallinckrodt Brand Pharmaceuticals Inc (ทัซซิแคปส์ เอ็กซ์เทนเดด-รีลีส แคปซูล)

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Opioid#Classification [2015,June27]
  2. http://www.drugs.com/hydrocodone.html [2015,June27]
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Hydrocodone [2015,June27]
  4. http://search.customs.go.th:8090/jsp/Hazard/File/Dope.pdf [2015,June27]
  5. http://www.mims.com/USA/drug/info/hydrocodone/?type=full&mtype=generic#Dosage [2015,June27]
  6. http://www.mims.com/USA/Drug/info/Zydone/Zydone%20Tablet?type=full [2015,June27]
  7. http://www.mims.com/USA/Drug/info/Vicodin/Vicodin%20Tablet?type=full[2015,June27]
  8. http://www.goodrx.com/blog/hysingla-er-a-new-safer-hydrodone-only-option/[2015,June27]
  9. http://www.drugs.com/drug-interactions/hydrocodone-index.html?filter=3&generic_only[2015,June27]