ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์อย่างไร?
- ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์อย่างไร?
- ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาใส่แผล ยาทำแผล (Antiseptic)
- น้ำยาบ้วนปาก ยาบ้วนปาก (Gargle)
- น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ สารระงับเชื้อ (Antiseptics)
- รูปแบบยาเตรียม (Pharmaceutical Dosage Forms)
บทนำ
ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) เป็นสารประกอบบริสุทธิ์ ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1818 (พ.ศ. 2361) โดย Louis Jacques Thenard นักเคมีชาวฝรั่งเศส มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ข้นกว่าน้ำเพียงเล็กน้อย มีฤทธิ์ในการฟอกขาวรวมถึงยับยั้งการเจริญเติบโตของกลุ่มเชื้อโรคอีกด้วย ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ที่มีความเข้มข้นสูงๆจะมีคุณสมบัติเป็นสารอันตราย ที่สามารถระเบิดได้ถ้าได้รับความร้อนจากภายนอกในปริมาณสูง หากนำเอายาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ไปไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงจะเกิดการสลายตัวกลายเป็นน้ำและมีการปลดปล่อยออกซิเจนออกมา ซึ่งเป็นสาเหตุของการระเบิดได้
ทางคลินิกมีการใช้ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ในรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่มีความเข้มข้น 3% และ 6% ก็สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรีย ยีสต์ (Yeast, เชื้อราชนิดเป็นเซลล์เดี่ยว) หากใช้ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ที่มีความเข้มข้น 10 - 30% ก็สามารถฆ่าสปอร์ (Spore) ของเชื้อโรคได้ แต่ผิวหนังมนุษย์หากสัมผัสไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ที่มีความเข้มข้น 35% จะเกิดการฟอกขาวผิวหนังได้
อาจสรุปสรรพคุณทางคลินิกโดยรวมของยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ได้ดังนี้เช่น
- ใช้ทา/เช็ดผิวหนังเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคเช่น แผลจากของมีคม แผลถลอก แผลไหม้ ซึ่งต้องเป็นกลุ่มบาดแผลที่ไม่สาหัสหรือแผลฉีกขาดในระดับรุนแรงหรือแผลที่ลึกมากจนเกินไป
- ใช้กลั้วคอ/น้ำยาบ้วนปากเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอจากโรคหวัด หรือบรรเทาอาการเหงือกอักเสบ
- ใช้กำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วให้หลุดลอก และช่วยทำความสะอาดผิวหนัง
อย่างไรก็ตามยังมีข้อระวังในการใช้ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ที่ผู้บริโภคควรทราบเช่น
- ห้ามยานี้เข้าตาโดยเด็ดขาดด้วยยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีฤทธิ์ในการทำลายเนื้อเยื่อตา
- ห้ามใช้ทำความสะอาดแผลฉีกขาด แผลจากการโดนกัด หรือแผลไหม้ระดับที่รุนแรง ถึงแม้ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์จะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อก็จริงแต่ก็สามารถส่งผลลดการสมานแผล/การหายของแผลได้เช่นเดียวกัน
- การใช้ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ผสมน้ำสะอาดเท่าตัวแล้วกลั้วปาก/น้ำยาบ้วนปากเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอหรือเหงือกอักเสบ ต้องระวังมิให้กลืนน้ำยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ลงในกระเพาะอาหารด้วยตัวยาอาจทำลายเนื้อเยื่อบุกระเพาะอาหารได้
- หากใช้ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ตามคำแนะนำของแพทย์แล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน หรือมีอาการแย่ลง ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์เป็นยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอกและสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) บางอย่างได้เช่น ระคายเคืองผิวหนังขณะทายาหรือมีอาการแสบคันเกิดขึ้น
สำหรับประเทศไทยยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ที่มีความเข้มข้น 1.5% ถูกบรรจุให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ
หากมีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ ผู้บริโภคสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- ใช้ทาผิวหนังเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค/ใช้เป็นยาทำแผลเหมาะกับแผลที่ไม่มีอาการรุนแรงมากเช่น แผลถลอก แผลจากของมีคมเพียงเล็กน้อย แผลไหม้ที่ไม่มีอาการรุนแรง
- เป็นน้ำยากลั้วปาก/น้ำยาบ้วนปากเพื่อบรรเทาอาการระคายคอ/เจ็บคอหรือลดภาวะเหงือกอักเสบ
ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์เป็นสารประเภทออกซิไดซิ่ง (Oxidising agent, สารที่เพิ่มจำนวนออกซิเจนได้) จึงมีกลไกการออกฤทธิ์ที่สามารถต่อต้านและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ยีสต์ และเชื้อไวรัสได้ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ก่อให้เกิดการระคายต่อเนื้อเยื่อหรือต่อเซลล์จึงสามารถทำให้เนื้อเยื่อหรือเซลล์ที่สัมผัสยานี้เช่น เซลล์ผิวหนังหลุดลอกได้ ด้วยกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นสารละลายขนาดความเข้มข้น 3% และ 6%
ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น
ก. สำหรับทาบาดแผล/ยาล้างแผล:
- ผู้ใหญ่: ทายาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ขนาด 6% ในบริเวณแผลวันละ 2 - 3 ครั้ง
- เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กให้เป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์
ข. สำหรับกลั้วปาก:
- ผู้ใหญ่: เจือจางยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 3% ด้วยน้ำเปล่าสะอาดเท่าตัว จากนั้นกลั้วปากด้วยความระมัดระวัง ห้ามกลืนลงคอ วันละ 2 - 3 ครั้งหรือตามแพทย์สั่ง
- เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กให้เป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและ เภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายา/ใช้ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์สามารถทายา/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายา/ใช้ยาในเวลาถัดไป ให้ทายา/ใช้ยาตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายา/ใช้ยาเป็น 2 เท่า
ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้าง เคียง) ดังนี้เช่น รู้สึกระคายเคืองขณะทาผิวหนังที่เกิดแผล กรณีกลั้วปากอาจทำให้ปุ่มเล็กๆ (ต่อมน้ำลายขนาดเล็กหรือต่อมรับรส) ที่บริเวณลิ้นบวมขึ้นได้ แต่สามารถหายเองได้เมื่อหยุดใช้ยานี้
มีข้อควรระวังการใช้ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีการแพ้ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์
- ห้ามยานี้เข้าตาหรือรับประทานยานี้โดยเด็ดขาด
- การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมผลิตภัณฑ์ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น การใช้ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ทาร่วมกับยา Papain (ยาใช้กำจัดเนื้อเยื่อที่เน่าตายในแผล) ชนิดเป็นยาใส่แผล/ยาทาใช้ภายนอก (Topical) อาจทำให้ประสิทธิภาพของยา Papain ลดน้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์อย่างไร?
ควรเก็บผลิตภัณฑ์ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Cel sius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Hydrogen Peroxide Sahakarn (ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ สหการ) | The United Drug (1996) |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hydrogen_peroxide#Medical [2016,May7]
- http://www.webmd.com/drugs/2/drug-76035/hydrogen-peroxide/details#side-effects [2016,May7]
- http://www.angelfire.com/az/sthurston/hydrogen_peroxide.html [2016,May7]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/hydrogen-peroxide-topical-with-panafil-1293-0-2934-13182.html [2016,May7]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/hydrogen%20peroxide%20sahakarn/ [2016,May7]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/hydrogen%20peroxide/?type=brief&mtype=generic [2016,May7]
- http://www.atsdr.cdc.gov/toxfaqs/tfacts174.pdf [2016,May7]
- http://www.using-hydrogen-peroxide.com/hydrogen-peroxide-as-mouthwash.html [2016,May7]