ไฮออสไซยามีน (Hyoscyamine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 พฤษภาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาไฮออสไซยามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาไฮออสไซยามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไฮออสไซยามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไฮออสไซยามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไฮออสไซยามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮออสไซยามีนอย่างไร?
- ยาไฮออสไซยามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไฮออสไซยามีนอย่างไร?
- ยาไฮออสไซยามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- นิ่วในท่อไต (Ureteric stone)
- ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
- นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone)
บทนำ
ยาไฮออสไซยามีน (Hyoscyamine) เป็นสารประเภท โทรเพน อันคาลอยด์ (Tropane alkaloid) พบในพืชตระกูล Solanacae บางคนอาจสับสนว่าเป็นสาร/ยาตัวเดียวกันกับไฮออสซีน (Hyoscine) หรือไม่ สารทั้ง 2 ชนิดเป็นสารคนละตัว เพียงแต่สูตรโครงสร้างทางเคมีใกล้เคียงกันเท่านั้น ทางการแพทย์นำมาทำเป็นยารักษาอาการปวดเกร็ง/ปวดบีบในระบบทางเดินอาหาร รักษาแผลในกระเพาะอาหาร บำบัดอาการลำไส้แปรปรวน ภาวะตับอ่อนอักเสบ อาการปวดแบบโคลิก/ปวดบีบ/ปวดเกร็ง (Colic)ของกระเพาะอาหารและลำไส้ เส้นทางการบริหารยา/การใช้ยานี้กับผู้ป่วย มีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด
เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือด ไฮออสไซยามีนจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 50% ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของไฮออสไซยามีน ร่างกายต้องใช้เวลา 3 – 5 ชั่วโมง ในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ
สำหรับประเทศไทย จะไม่ค่อยพบเห็นไฮออสไซยามีนในรูปแบบของยาเดี่ยว จะพบเห็นเป็นยาช่วยสนับสนุนการรักษาที่ผสมร่วมกับยาอื่นด้วยวัตถุประสงค์เป็นยาสงบประสาท และช่วยให้นอนหลับ หรือผสมกับยารักษาอาการกรดไหลย้อน การจะเลือกใช้ยาชนิดนี้ควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ยาไฮออสไซยามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไฮออสไซยามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาและบำบัดอาการลำไส้แปรปรวน
- ลดอาการปวดเกร็ง/ปวดบีบในช่องทางเดินอาหาร
- บรรเทาอาการปวดเกร็งของ โรคนิ่วในไต โรคนิ่วในถุงน้ำดี
ยาไฮออสไซยามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไฮออสไซยามีนคือ ตัวยาจะเข้าไปปิดกั้นการทำงานของสารอะเซทิลคลอลีน(Acetylcholine, สารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง) ในส่วนของประสาทอัตโนมัติชนิดพาราซิมพาเทติค(Parasympathetic nervous system) ที่บริเวณกล้ามเนื้อเรียบ บริเวณต่อมต่างๆ และในสมอง จนทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ยาไฮออสไซยามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไฮออสไซยามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดที่ผสมกับยาอื่นเพื่อช่วยให้นอนหลับ และสงบประสาท เช่น Phenobarbital Na 16.2 mg + Atropine sulfate 0.0194 mg + Hyoscine HBr 0.0065 mg + Hyoscyamine sulfate 0.1037 mg
- ยาเม็ดที่ผสมกับยาอื่นเพื่อบรรเทาอาการกรดไหลย้อน เช่น Aluminium glycinate 500 mg + Belladonna dry extr 15 mg equiv to Hyoscyamine 0.15 mg)
ยาไฮออสไซยามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไฮออสไซยามีนมีขนาดรับประทานได้หลากหลาย ขึ้นกับว่าจะใช้บำบัดรักษาอาการจากโรคอะไร ซึ่งจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ โดยแพทย์ประเมินจากที่ว่า เป็นโรคอะไร และมีความรุนแรงของอาการเป็นอย่างไร
ในที่นี้ จึงขอกล่าวถึงเฉพาะสำหรับ ‘รักษาอาการลำไส้แปรปรวน’: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.125 – 0.25 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง ขนาดสูงสุดที่รับประทานต่อวันไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัม ควรรับประทานยาก่อนอาหาร 30 – 60 นาที
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดยานี้ ขึ้นกับอาการ และอายุเด็ก ดังนั้น จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
อนึ่ง: หากได้รับ *ยาไฮออสไซยามีนเกินขนาด* ให้รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที อาการที่พบจากการได้รับยานี้เกินขนาด เช่น
- รูม่านตาขยาย
- การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
- มีอาการร้อนตามผิวหนัง
- ปัสสาวะไม่ออก
- อุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูง
- หายใจถี่/หายใจเร็วเกินปกติ
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึง ยาไฮออสไซยามีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไฮออสไซยามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ/อาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร
เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไฮออสไซยามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาไฮออสไซยามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไฮออสไซยามีน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ปากคอแห้ง
- เจ็บบริเวณคอ และเจ็บลูกตา
- การมองภาพไม่ชัดเจน
- วิงเวียน
- กระสับกระส่าย
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ใบหน้าแดง
- เป็นลม
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ประสาทหลอน
- สูญเสียความทรงจำในระยะสั้นๆ
- ลมพิษ
- กดการหลั่งน้ำนม
- ปัสสาวะขัด
- เพิ่มความดันลูกตา
- รูม่านตาขยาย
- หัวใจเต้นเร็ว
- ท้องอืด
- และท้องผูก เป็นต้น
*ส่วนอาการ *แพ้ยาไฮออสไซยามีน* ซึ่งหากเกิดขึ้น ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
โดยอาการพบบ่อยของการแพ้ยานี้ เช่น
- หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
- ผื่นขึ้นเต็มตัว
- ใบหน้าและริมฝีปากบวม
มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮออสไซยามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮออสไซยามีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคต้อหิน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยลำไส้อักเสบในระยะรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะท้องเสีย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยภาะวไทรอยด์ฮอร์โมน/ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์สูง(โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ /ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน) ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน
- ระหว่างการใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรืออยู่ในบริเวณที่มีอากาศร้อน ด้วยไฮออสไซยามีน จะลดการขับเหงื่อของร่างกาย จนเป็นเหตุให้อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินปกติ เกิดอาการคล้ายอาการไข้สูงได้
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไฮออสไซยามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไฮออสไซยามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร
ยาไฮออสไซยามีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไฮออสไซยามีนร่วมกับกลุ่มยาต่อไปนี้ สามารถก่อให้เกิดพิษของยาไฮออสไซยามีนต่อร่างกายมากยิ่งขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยาAmantadine (ยารักษาโรคพาร์กินสัน), ยาต้านสารฮิสตามีน (Antihistamine), ยา Antimuscarinics (ยาลดการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ), Haloperidol, Phenothiazine, ยากลุ่ม TCAs (Tricyclic antidepressants : ยารักษาโรคซึมเศร้า) และยากลุ่ม MAOIs
- การใช้ยาไฮออสไซยามีนร่วมกับยาลดกรด สามารถลดการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารของยาไฮออสไซยามีน และทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาไฮออสไซยามีนด้อยลงไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาด หรือเวลาของการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป
- การใช้ยาไฮออสไซยามีนร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ จะก่อให้เกิดอาการง่วงและวิงเวียนอย่างมาก ห้ามรับประทานร่วมกันโดยเด็ดขาด
ควรเก็บรักษายาไฮออสไซยามีนอย่างไร
สามารถเก็บยาไฮออสไซยามีน เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้อง
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาไฮออสไซยามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไฮออสไซยามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Belladonna Alkaloids with Phenobarbital (เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ วิท ฟีโนบาร์บิทอล) |
Samakeephaesaj (Union Drug Lab) |
New Gel (นิว เจล) | New York Chemical |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hyoscyamine [2020,May16]
- https://www.drugs.com/cdi/hyoscyamine-injection.html [2020,May16]
- https://www.webmd.com/drugs/2/drug-13766/hyoscyamine-oral/details [2020,May16]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=hyoscyamine [2020,May16]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fbelladonna%2520alkaloids%2520with%2520phenobarbital%2f [2020,May16]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fNew%2520Gel%2fnew%2520gel-new%2520gel%2520-d [2020,May16]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fhyoscyamine%2f%3ftype%3dbrief%26mtype%3dgeneric [2020,May16]