ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควิน (Iodochlorhydroxyquin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 สิงหาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินอย่างไร?
- ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินอย่างไร?
- ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- สังคัง โรคสังคัง (Tinea cruris)
- โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot)
- ตกขาว (Leucorrhea)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
บทนำ
ยาไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควิน (Iodochlorhydroxyquin) เป็นหนึ่งในสารเคมีประเภทไฮ ดรอกซีควิโนลีน (Hydroxyquinolines, สารเคมีที่มีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อและยาฆ่าแมลง) อาจเรียกยานี้อีกชื่อหนึ่งว่า “ไคลโอควินอล (Clioquinol)” สามารถนำมาใช้เป็นยาต้านเชื้อรา แบคที เรีย เชื้อโปโตซัว (Protozoa) และไวรัส ซึ่งหากร่างกายได้รับยานี้เป็นปริมาณมากอาจทำให้เกิดพิษต่อระบบประสาทได้
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินส่วนมากจะเป็นยาทาเฉพาะที่และยาใช้ภายนอก มีบางสูตรตำรับเท่านั้นที่เตรียมเป็นยาสำหรับรับประทานเพื่อรักษาอาการท้องเสีย
ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาอาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง เช่น สังคัง (Tinea crusis), โรคน้ำกัดเท้า (Tinea pedis
- เป็นส่วนประกอบของยารับประทานแก้ท้องเสีย
- เป็นส่วนประกอบของยาเหน็บช่องคลอดรักษาอาการตกขาว
ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินคือ ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการจำลองสารพันธุกรรม ดีเอ็นเอ (DNA) ของเชื้อโรค ทำให้เชื้อโรคดังกล่าวหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดสำหรับเหน็บช่องคลอดที่ผสมยาอื่น เช่น
- Nystatin 100,000 ยูนิต + Di-iodohydroxyquin 100 มิลลิกรัม + Benzalkonium Cl 7 มิลลิกรัม/เม็ด
- Nystatin 100,000 ยูนิต + Di-iodohydroxyquin 100 มิลลิกรัม + Benzalkonium Cl 7 มิลลิกรัม + Tea tree oil 0.01 มิลลิลิตร/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน เช่น
- Iodochlorhydroxyquin 125 มิลลิกรัม + Catechu 120 มิลลิกรัม + Thymol 3 มิลลิกรัม/เม็ด
- Iodochlorhydroxyquinoline 0.25 มิลลิกรัม + Phthalylsulphathiazole 0.5 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาขี้ผึ้งที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Neomycin sulfate 0.5 มิลลิกรัม + Polymyxin B sulfate 500,000 ยูนิต + Bacitracin Zn 40,000 ยูนิต
- ยาครีม ขนาดความเข้มข้น 3 กรัม/เนื้อครีม 100 กรัม
- ยาครีมที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Betamethasone valerate 0.1% + Clioquinol 3%, Betamethasone valerate 0.05% + Gentamicin sulfate 0.1% + Tolnaftate 1% + Iodochlorhydroxyquin 1%
- ยาผงที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Clioquinol 3 กรัม + Bacitracin 7,500 ไอยู + Neomy cin sulfate 0.25 กรัม + Zinc stearate 20 กรัม, Gentamicin sulfate 1 มิลลิกรัม + Bacitracin 500 ยูนิต + Clioquinol 15 มิลลิกรัม + Aminoacetic acid 10 มิลลิกรัม + Threonine 1 มิลลิกรัม + Cystine 2 มิลลิกรัม
ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับโรคน้ำกัดเท้า (Tinea pedis): เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: ใช้ยาครีมขนาดความเข้มข้น 3 กรัม/เนื้อครีม 100 กรัม ทายาวันละ 2 - 4 ครั้งในบริเวณที่มีการติดเชื้อรา ห้ามใช้ยาเกิน 7 วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: การใช้ยานี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ข. สำหรับโรคสังคัง (Tinea crusis): เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: ใช้ยาครีมขนาดความเข้มข้น 3 กรัม/เนื้อครีม 100 กรัม ทายาวันละ 2 - 4 ครั้ง ห้ามใช้ยาเกิน 7 วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: การใช้ยานี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ค. สำหรับยาเม็ดชนิดรับประทานและยาเหน็บช่องคลอด: ให้ใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลการใช้ยาได้จาก ฉลากยา/เอกสารกำกับยา ที่แนบมากับภาชนะบรรจุ
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควิน สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นยาใช้ภายนอก ดังนั้นผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จึงน้อยกว่ายารับประทานมาก และมักเกิดเฉพาะที่ตรงตำแหน่งที่ทายา ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น
- มีอาการระคายเคืองอย่างรุนแรงต่อผิวหนังและต่อเยื่อเมือก หรือ
- อาการแพ้ทางผิวหนัง และ
- อาจเป็นพิษต่อระบบประสาทได้
มีข้อควรระวังการใช้ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีหรือต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
- ห้ามใช้ในบริเวณผิวหนังที่มีรอยแผลหรือฉีกขาด
- หลังทายานี้ห้ามใช้ผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์ปิดทับบริเวณที่ทายา
- หลีกเลี่ยงและระวังมิให้ยานี้เข้า ตา ปาก และจมูก เป็นอันขาด
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นเวลานานกว่าที่ระบุในขนาดการบริหารยา/การใช้ยา
- หากใช้ทาที่เล็บและหนังศีรษะที่มีเส้นผมมาก จะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพของการรักษา
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการระคายเคือง ผื่นคัน หรือมีอาการแพ้ในบริเวณที่ทายา
- การใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ควรต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปหาซื้อยามาใช้เอง
- ระวังยานี้เปรอะเปื้อนเสื้อผ้า
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควิน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินชนิดทาร่วมกับยารับประทานแก้โรคลมชักชื่อ Vigabatrin เป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นของสายตา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินอย่างไร?
ควรเก็บยาไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควิน เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้น แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไอโอโดคลอร์ไฮดรอกซีควิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Gynecon (ไกนีคอน) | Continental-Pharm |
Gyracon (ไกราคอน) | Pond’s Chemical |
Banocin oint (บาโนซิน ออยท์) | Nakornpatana |
Beta-C (เบต้า-ซี) | Chew Brothers |
Betosone-CE (เบโตโซน-ซีอี) | T. O. Chemicals |
Clioquinol (ไคลโอควินอล) | ZAFA PHARMACEUTICAL LABORATORIES (PVT) LTD. |
Dermaheu (เดอร์มาฮิว) | Thai Nakorn Patana |
Dertec (เดอร์เทค) | Millimed |
Endothalyl (เอ็นโดทาไลล์) | T.C. Pharma- Chem |
Genquin (เจนควิน) | Seng Thai |
Patarvate-C (พาตาร์เวท-ซี) | Patar Lab |
Quadriderm (ควอดริเดอร์ม) | MSD |
Spectroderm (สเป็คโทรเดอร์ม) | Meiji |
Vioform (ไวโอฟอร์ม) | Novartis |
บรรณานุกรม
1 https://en.wikipedia.org/wiki/Clioquinol [2020,Aug8]
5 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fBanocin%2f [2020,Aug8]
7 https://www.drugs.com/dosage/clioquinol-topical.html [2020,Aug8]
8 https://www.drugs.com/drug-interactions/clioquinol-topical-with-sabril-693-0-3169-13990.html [2020,Aug8]
9 http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=860&drugName=Clioquinol&type=6 [2020,Aug8]