ไอโซโคนาโซล (Isoconazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 12 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ไอโซโคนาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไอโซโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไอโซโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไอโซโคนาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- ไอโซโคนาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไอโซโคนาโซลอย่างไร?
- ไอโซโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไอโซโคนาโซลอย่างไร?
- ไอโซโคนาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
- เอโซล (Azole antifungals)
- เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis)
- เกลื้อน (Pityriasis versicolor)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
บทนำ
ยาไอโซโคนาโซล (Isoconazole) เป็นยาต้านเชื้อราในกลุ่มเอโซล (Azole) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาการติดเชื้อราตามผิวหนังและบริเวณช่องคลอด นอกจากนี้ยาไอโซโคนาโซลยังสามารถต่อต้านแบคทีเรียชนิดแกรมบวกได้อีกด้วย รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาไอโซโคนาโซลจะเป็นยาครีมใช้ทาภายนอกโดยใช้เพียงวันละครั้งเป็นเวลา 2 - 3 สัปดาห์ หรือการใช้ยานี้กับกลุ่มเชื้อราที่ค่อนข้างทนทานหรือดื้อต่อยานี้อาจต้องใช้ต่อเนื่องถึง 4 สัปดาห์ บางสูตรตำรับยานี้อาจผสมยา กลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) อย่างเช่นยาไดฟลูคอร์โทโลน (Diflucortolone) ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง
ถึงแม้ยาไอโซโคนาโซลจะเป็นยาใช้ทาภายนอก แต่ก็อยู่ในขอบข่ายที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษหากจะใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่พบได้บ่อยของยาไอโซโคนาโซลคือ อาการแสบคันหลังการใช้ยานี้
การรักษาเชื้อราตามผิวหนังจะต้องทายาไอโซโคนาโซลให้ครบคอร์ส การใช้ยาในช่วงสัปดาห์ แรกอาจพบอาการดีขึ้นแต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเชื้อราในบริเวณผิวหนังจะตายหมดต้องใช้ยาต่อ เนื่องเป็นเวลา 2 - 3 สัปดาห์ตามที่กล่าวมาข้างต้น ในทางกลับกันการใช้ยานี้นานๆและบ่อยจนเกิน ไปก็อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นในบริเวณผิวหนังที่ทายาซึ่งเป็นกลุ่มเชื้อราที่ไม่ตอบสนองต่อยาไอโซโคนาโซล
สำหรับประเทศไทยเราจะพบเห็นยาไอโซโคนาโซลชนิดทาผิวหนังเพื่อบำบัดการติดเชื้อราเป็นส่วนมาก แต่จะไม่ค่อยพบสูตรที่ใช้รักษาการติดเชื้อราที่ช่องคลอด ผู้บริโภค/ผู้ป่วยที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาไอโซโคนาโซลสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รัก ษาหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
ไอโซโคนาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไอโซโคนาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Corynebacterium ตามง่ามนิ้ว ใต้รักแร้
- รักษาโรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor)
- รักษาการติดเชื้อราในช่องคลอด (Vulvo-vaginal mycosis)
ไอโซโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไอโซโคนาโซลคือ ตัวยานี้จะเข้าไปลดการสังเคราะห์สาร Ergosterol ที่ผนังเซลล์ของเชื้อราโดยรบกวนการทำงานของเอนไซม์ชื่อ Cytochrome P450 (เอนไซม์ช่วยสังเคราะห์สาร Ergosterol) การขาดสาร Ergosterol ซึ่งเป็นสารสำคัญของผนังเซลล์ของเชื้อรา จะทำให้เกิดการซึมผ่านหรือการรั่วไหลของสารภายในเซลล์ของเชื้อราจนเป็นเหตุให้เชื้อราหยุดการแพร่พันธุ์ในที่สุด
ไอโซโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไอโซโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาครีมทาผิวหนังขนาดความเข้มข้น 1%
- ยาครีมทาช่องคลอดขนาดความเข้มข้น 1%
ไอโซโคนาโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไอโซโคนาโซลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น
- ผู้ใหญ่: กรณีติดเชื้อที่ผิวหนังทายาวันละครั้งต่อเนื่องเป็นเวลา 2 - 3 สัปดาห์ ในกรณีที่มีการติดเชื้อที่ค่อนข้างดื้อต่อยานี้อาจต้องใช้ยาต่อเนื่องถึง 4 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดของการใช้ยานี้กับเด็ก การใช้ยานี้กับเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง: การใช้ยานี้ทาแก้เชื้อราในบริเวณช่องคลอดต้องใช้อุปกรณ์ที่ติดมากับผลิตภัณฑ์ในการกระจาย (ทา) ยาในบริเวณที่เกิดเชื้อราของช่องคลอด และขนาดการใช้ยาขึ้นกับคำสั่งแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอโซโคนาโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอโซโคนาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาไอโซโคนาโซลสามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไอโซโคนาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไอโซโคนาโซลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น แสบ คันในบริเวณผิวหนังที่มีการทายา อาการข้างเคียงดังกล่าวอาจจะไม่เกิดกับผู้ป่วยทุกรายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละรายบุคคล
มีข้อควรระวังการใช้ไอโซโคนาโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไอโซโคนาโซลเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามรับประทานยานี้โดยเด็ดขาด
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามนำยานี้มาป้ายตาโดยเด็ดขาด
- ห้ามนำยาไอโซโคนาโซลที่ใช้ทาผิวหนังมาทารักษาในช่องคลอดด้วยเป็นคนละสูตรตำรับซึ่งจะใช้ส่วนประกอบที่มีความเหมาะสมแตกต่างกันออกไป
- ห้ามหยุดการใช้ยานี้ในกรณีที่ยังใช้ยานี้ไม่ครบคอร์สการรักษา
- ห้ามใช้ยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์ด้วยจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อราชนิดอื่นตามมา
- รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลตามคำแนะนำของแพทย์เช่น การรักษาความสะอาดผิวหนัง
- กรณีที่มีการติดเชื้อราในช่องคลอดแล้วยังอยู่ในระหว่างการรักษาควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์
- กรณีที่ใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำแต่อาการยังไม่ดีขึ้น ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมไอโซโคนาโซลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไอโซโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยยาไอโซโคนาโซลมีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาทาภายนอกจึงยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษาไอโซโคนาโซลอย่างไร?
เก็บยาไอโซโคนาโซลภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไอโซโคนาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไอโซโคนาโซลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Azonit cream (อะโซนิท ครีม) | Pharma International Co |
Azonit vaginal cream (อะโซนิท วาไจนอล ครีม) | Pharma International Co |
Travogen (ทราโวเจน) | Intendis |
Travocort (ทราโวคอร์ด) | Intendis |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Isoconazole [2016,April23]
- http://www.mims.com/india/drug/info/isoconazole/?type=full&mtype=generic#Dosage [2016,April23]
- http://www.pic-jo.com/files/129520765362736021.pdf [2016,April23]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/travogen/?type=brief [2016,April23]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/isoconazole/?type=brief&mtype=generic [2016,April23]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/travogen/?type=brief [2016,April23]
- http://www.dermnetnz.org/bacterial/erythrasma.html [2016,April23]
- http://drugs.for9.net/blog/azonit-d-cream/ [2016,April23]