ไอโซฟลูเรน (Isoflurane)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไอโซฟลูเรน(Isoflurane) สูตรทางเคมีคือ C3H2ClF5O เป็นยาชื่อสามัญของยาสลบชนิดหนึ่ง การใช้ยานี้กับผู้ป่วย จะเป็นลักษณะการสูดพ่นเข้าทางเดินหายใจ/ทางจมูก ตัวยาเป็นของเหลวใสไม่มีสี มีกลิ่นฉุนและเหม็นอับเล็กน้อย ยานี้มักใช้ควบคู่ไปกับยาสลบไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide)

ยาไอโซฟลูเรนเป็นยาสลบที่ออกฤทธิ์เร็ว ปกติการใช้ยาสลบแบบสูดดมชนิดใดๆก็ตาม จะต้องเฝ้าระวังเรื่องสารคัดหลั่งในหลอดลม รวมถึงน้ำลายที่ร่างกายผู้ป่วยอาจหลั่งออกมาแล้วไปปิดกั้นช่องทางเดินหายใจ/หลอดลม

ยาสลบไอโซฟลูเรนมีฤทธิ์กดศูนย์การควบคุมการหายใจในสมอง ดังนั้นระหว่างการดมยาสลบชนิดนี้ บุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล จะคอยเฝ้าระวังสภาพการหายใจของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด พร้อมกับเตรียมเครื่องช่วยหายใจไว้คอยช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุจำเป็น อย่างเช่น เมื่อผู้ป่วยหยุดหายใจกะทันหัน

การใช้ยาสลบไอโซฟลูเรนอย่างเดียว อาจทำให้ผู้ป่วยสลบได้ก็จริง แต่ทว่าผลข้างเคียงประการหนึ่งของยานี้ คือ ทำให้ความดันโลหิตต่ำ โดยขึ้นกับปริมาณของยาไอโซฟลูเรนที่ผู้ป่วยได้รับ เพื่อป้องกันอาการความดันโลหิตต่ำดังกล่าว ทางคลินิกจึงได้นำยาไนตรัสออกไซด์เข้ามาร่วมวางยาสลบด้วย เพื่อลดการใช้ยาไอโซฟลูเรนให้น้อยลง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตต่ำจนเกินไป ทั้งยังช่วยรักษาอัตราการเต้นของหัวใจให้เต้นคงที่ได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ยาไอโซฟลูเรนยังก่อให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อคลายตัว การได้รับยานี้อย่างเหมาะสมจะทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย จึงง่ายต่อการผ่าตัดผ่านกล้ามเนื้อ สำหรับการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อกลับมาทำงานได้เหมือนเดิม แพทย์จะให้ยา Neostigmine เพื่อฟื้นกำลังของกล้ามเนื้อ

ข้อห้ามใช้ยาไอโซฟลูเรนที่สำคัญ คือ ผู้ที่มีประวัติเกิดอาการ Malignant hyperthermia จากสาเหตุการใช้ยาสลบใดๆก็ตาม ถือเป็นข้อห้ามใช้ยาไอโซฟลูเรนกับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวด้วย

ผู้ที่ได้รับการดมยาสลบไอโซฟลูเรน อาจมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) ที่พบบ่อย คือ ทำให้ความฉลาดของสมองลดต่ำลงเล็กน้อยเป็นเวลาประมาณ 2 – 3 วันหลังจากได้รับยานี้ แต่ยาสลบชนิดอื่นๆอาจทำให้ความฉลาดของสมองด้อยลงไปเป็นเวลาประมาณ 6-7 วันก็มี

การจะใช้ยาไอโซฟลูเรนกับผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงอย่างเช่น สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นสำคัญ ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนความปลอดภัยของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว

กรณีพบว่าผู้ป่วยได้รับยาไอโซฟลูเรนเกินขนาด แพทย์จะสั่งระงับการใช้ยาไอโซฟลูเรนทันที แล้วให้ออกซิเจนบริสุทธิ์สูดพ่นเข้าทางเดินหายใจของผู้ป่วยอย่างเพียงพอจนกว่าอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้น

องค์การอนามัยโลกระบุให้ยาไอโซฟลูเรนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลต่างๆควรมีสำรองเพื่อให้บริการต่อผู้ป่วย และประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ยาไอโซฟลูเรน อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และอยู่ในหมวดยาอันตราย ซึ่งมีใช้แต่ในสถานพยาบาล โดยการใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

ไอโซฟลูเรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไอโซฟลูเรน

ยาไอโซฟลูเรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เป็นยาสลบเพื่อลดอาการเจ็บ/ปวดที่จะเกิดขึ้นระหว่างการทำหัตถการทางการแพทย์ อย่างเช่น การผ่าตัด เป็นต้น

ไอโซฟลูเรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไอโซฟลูเรนคือ เป็นยาสลบที่เข้าไปกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ประเภท Calcium dependent ATPase ในระบบประสาทส่วนกลาง และมีการรวมตัวกับตัวรับ(Receptor)หลายชนิด อาทิเช่น GABA receptor Glutamate receptor และ Glycine receptor ส่งผลต่อการเหนี่ยวนำประจุเกลือแคลเซียมในสมอง จึงทำให้สมดุลของสารเคมีในสมองแตกต่างไปจากเดิม จากกลไกเหล่านี้ จึงทำให้ยานี้มีฤทธิ์ลดการนำหรือการเชื่อมต่อกระแสประสาทเกี่ยวกับความรู้สึกในสมอง ก่อให้เกิดภาวะหมดสติ และไม่รับรู้ความรู้สึกเจ็บ/ปวดใดๆ

ไอโซฟลูเรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไอโซฟลูเรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น สารที่มีลักษณะเป็นของเหลวที่มีองค์ประกอบของยาไอโซฟลูเรน 100% บรรจุขวด ขนาด 100 และ 250 มิลลิลิตร/ขวด

ไอโซฟลูเรนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไอโซฟลูเรนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: แพทย์นำยาไอโซฟลูเรนเข้าเครื่องพ่นยาสลบ แพทย์ปรับขนาดการปลดปล่อยยาไอโซฟลูเรนเข้าสู่ทางเดินหายใจผู้ป่วยในขนาดความเข้มข้น 0.5% ร่วมกับก๊าซออกซิเจน หรือร่วมกับยาไนตรัสออกไซด์ + ออกซิเจน (Nitrous oxide + Oxygen) จากนั้นแพทย์อาจเพิ่มขนาดการดมยาสลบนี้เป็น 1.5–3% ตามดุลพินิจของแพทย์ โดยทั่วไป ขนาดยานี้ที่ทำให้คงสภาพการสลบของผู้ป่วยจะอยู่ที่ 1–2.5% โดยใช้ร่วมกับ ยาสลบไนตรัสออกไซด์ + ออกซิเจน
  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

อนึ่ง:

  • หลังจากผู้ป่วยได้รับยาไอโซฟลูเรน จะหมดความรู้สึกภายในระยะเวลาประมาณ 10 นาทีหลังได้รับยานี้
  • ก่อนการทำหัตถการทางการแพทย์หลังให้ยาสลบนี้ เช่น การผ่าตัด แพทย์จะตรวจสอบ ความรู้สึก การรับรู้ และ สัญญาณชีพ ของผู้ป่วยก่อนเสมอ

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอโซฟลูเรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอโซฟลูเรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช่อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ไอโซฟลูเรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไอโซฟลูเรนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ไม่สบายในช่องท้อง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ตัวสั่น ความฉลาดถดถอยเป็นระยะสั้นๆไม่เกิน 1 สัปดาห์หลังได้รับยานี้
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดภาวะตับอักเสบ แต่พบได้น้อย
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะMalignant hyperthermia
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ภาวะกดการหายใจ หายใจขัด/หายใจลำบาก ไอ กล่องเสียงหดเกร็ง/หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้ไอโซฟลูเรนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอโซฟลูเรน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติการเกิดภาวะ Malignant hyperthermia
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สี และ/หรือกลิ่นยาผิดปกติ
  • ระวังการเกิดความดันในกะโหลกศีรษะสูงขณะใช้ยานี้
  • ระหว่างการให้ยานี้ ต้องควบคุมสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วยให้เป็นปกติเสมอ เช่น ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และรวมถึงปริมาณออกซิเจนในร่างกาย กรณีที่พบความผิดปกติของสัญญาณชีพ ต้องหยุดการให้ยาไอโซฟลูเรนทันที แล้วเร่งแก้ไขอาการของสัญญาณชีพให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว
  • หลังการดมยาสลบนี้ เมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวแล้ว แพทย์อาจขอดูอาการผู้ป่วยโดยให้พักฟื้นอยู่ในสถานพยาบาลสักระยะหนึ่ง
  • หากมีอาการผิดปกติใดๆหลังจากการได้รับยาสลบนี้ เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดบาดแผลที่ผ่าตัด ให้รีบแจ้ง แพทย์/พยาบาล ทันที
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง เพื่อแพทย์ตรวจดูความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไอโซฟลูเรนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไอโซฟลูเรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไอโซฟลูเรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาไอโซฟลูเรนร่วมกับยา Epinephrine ด้วยจะทำให้เกิด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก ตาพร่า คลื่นไส้ หรือเกิดอาการชัก ตามมา
  • ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยาไอโซฟลูเรนร่วมกับยา Selegiline ด้วยจะส่งผลกระทบ ต่อความดันโลหิตของร่างกายทั้งอาจสูงขึ้นหรือต่ำลง ควรเว้นระยะห่างของการใช้ยา 2 ตัวนี้ประมาณ 10–14 วัน
  • ห้ามใช้ยาไอโซฟลูเรนร่วมกับยา Fentanyl ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และมีอาการหน้าแดงตามมา
  • การใช้ยาไอโซฟลูเรนร่วมกับยา Droperidol จะทำให้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาไอโซฟลูเรนอย่างไร?

เก็บยาไอโซฟลูเรนภายใต้อุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไอโซฟลูเรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไอโซฟลูเรน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Aerrane (แอร์เรน)Baxter Healthcare
Forane (ฟอเรน)AbbVie
Terrell (เทอร์เรล)Piramal

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Isorane

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/drug-interactions/isoflurane.html [2017,Jan28]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/isoflurane/?type=brief&mtype=generic [2017,Jan28]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Isoflurane#Mechanism_of_action [2017,Jan28]
  4. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/193#item-9073 [2017,Jan28]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00753 [2017,Jan28]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/aerrane/?type=brief [2017,Jan28]
  7. http://www.mims.com/thailand/drug/info/aerrane/?type=brief [2017,Jan28]