ไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid) เป็นยาที่อยู่ในกลุ่ม Nonselective MAO-A/MAO-B inhibitors (Nonselective monoamine oxidase A/Monoamine oxidase B inhibitors, ยาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสารสื่อประสาท Dopamine) ทางคลีนิกนำมาใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวล นอกจากนี้ยังมีการวิจัยต่อเนื่องเพื่อใช้ยานี้รักษาอาการของโรคพาร์กินสัน อาการความจำเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)

ยาไอโซคาร์บอกซาซิดจะออกฤทธิ์ที่สมองช่วยเพิ่มและปรับสมดุลของสารสื่อประสาททำให้อารมณ์ความรู้สึกกลับมาดีขึ้นจนใกล้เคียงปกติ รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาจะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่อวัยวะตับและขับออกจากร่างกายโดยผ่านมาทางปัสสาวะ

เหตุผลประกอบที่แพทย์จะพิจารณาก่อนจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยได้แก่

  • ผู้ป่วยเคยแพ้ยานี้หรือไม่
  • มีประวัติโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไตมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หรือมีอาการของโรคจิตเภทหรือไม่
  • ชอบรับประทานอาหารประเภทชีส/เนยแข็ง (Cheese) หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของ Tyramine (สารที่ได้จากกรดอะมิโนชนิด Tyrosine) สูงเช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ หรือดื่มกาแฟทุกวัน ติดสุราหรือไม่ สารอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าว ล้วนส่งผลกระทบต่อการใช้ยานี้ทั้งสิ้น
  • มีการใช้ยาลดน้ำหนักเช่น Phentermine หรือใช้ยาลดความดันโลหิตประเภท HCTZ หรือยาอื่นเช่น Bupropion, Buspirone/ยารักษาทางจิตเวช, Carbamazepine, Cyclobenzaprine/ยาคลายกล้ามเนื้อ, ยากลุ่ม Serotonin reuptake inhibitor (SSRI), ยากลุ่ม Serotonin-norepinephrine (SNRI) หรือ Tricyclic-Tetracyclic antidepressant (TCAs) รวมถึงยาอื่นๆ อยู่หรือไม่
  • ผู้ป่วยเพิ่งได้รับยากลุ่ม MAOI เมื่อ 14 วันที่ผ่านมาหรือไม่
  • หากเป็นสตรีมีภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่

ทั้งนี้หลังจากผู้ป่วยได้รับยานี้แล้ว มีข้อมูลบางประการที่แพทย์จะชี้แจงและสร้างความเข้าใจระหว่างการใช้ยานี้เช่น

  • อาจมีอาการวิงเวียน ง่วงนอนในระหว่างที่ใช้ยานี้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆหรือทำงานกับเครื่องจักร
  • เลี่ยงการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยจะส่งผลให้อาการวิงเวียนเกิดได้มากยิ่งขึ้น
  • การใช้ยานี้ในการรักษาอาจต้องใช้เวลา 3 - 6 สัปดาห์จึงเริ่มเห็นประสิทธิผลในการรักษา
  • เด็ก วัยรุ่น เยาวชนที่ใช้ยานี้ มีโอกาสเสี่ยงที่จะรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองหรือถึงขั้นฆ่าตัวตาย ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากหากต้องใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • ยานี้อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทชีสและไวน์แดง
  • การรับประทานยานี้ผิดขนาดโดยรับประทานมากเกินไปจะมีอาการตัวสั่น วิตกกังวล หนาวสั่น สับสน อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก จนถึงขั้นโคม่า ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาไอโซคาร์บอกซาซิด ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยต้องคอยกำกับการใช้ยาอย่างถูกต้องเคร่งครัด ไม่หยุดยานี้หรือปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเองโดยเด็ดขาด

ไอโซคาร์บอกซาซิดมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไอโซคาร์บอกซาซิด

ยาไอโซคาร์บอกซาซิดมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า

ไอโซคาร์บอกซาซิดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไอโซคาร์บอกซาซิดคือ ตัวยาจะช่วยเพิ่มระดับ Biogenic amines (สารที่ได้จากอาหารประเภทต่างๆเช่น นม ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทและการสร้างฮอร์โมนต่างๆ) ในสมอง และเกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทเสียใหม่ ส่งผลให้การทำงานของระบบประสาทกลับมาใกล้เคียงปกติ และแสดงผลของการรักษาตามสรรพคุณ

ไอโซคาร์บอกซาซิดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไอโซคาร์บอกซาซิดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด

ไอโซคาร์บอกซาซิดมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไอโซคาร์บอกซาซิดมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็นในระยะ 2 - 4 วัน แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 40 มิลลิกรัม และแพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานอีก 20 มิลลิกรัม/สัปดาห์ตามการตอบสนองต่อยานี้ของผู้ป่วย ขนาดรับประทานยานี้สูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งเมื่อการตอบสนองต่อการรักษาได้ผลดีเป็นที่พอใจ แพทย์จะค่อยๆปรับลดขนาดรับประทานลง โดยควบคุมขนาดการใช้ยาที่ปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด ทั้งนี้ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 40 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาและใช้เป็นกรณีไปเท่านั้น

*****หมายเหตุ:

  • สามารถรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไอโซคาร์บอกซาซิด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและ เภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไอโซคาร์บอกซาซิดอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไอโซคาร์บอกซาซิดสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไอโซคาร์บอกซาซิดให้ตรงเวลา

ไอโซคาร์บอกซาซิดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไอโซคาร์บอกซาซิดอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) กับผู้ป่วยหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยและขนาดของยาที่รับประทานเข้าไปโดยอาการข้างเคียงที่พบได้เช่น

ก. อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย: เช่น ท้องผูก ปากแห้ง

ข. อาการข้างเคียงที่พบได้แต่น้อย: เช่น ความต้องการทางเพศถดถอย ง่วงนอน แต่อาจนอนไม่หลับ ผู้ป่วยบางรายอาจพบผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง หรือผิวหนังมีรอยคล้ายรอยไหม้

อนึ่งหากพบอาการข้างเคียงที่มีผลต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

มีข้อควรระวังการใช้ไอโซคาร์บอกซาซิดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ไอโซคาร์บอกซาซิดเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดยานี้ด้วยตนเอง
  • การใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีลงมาต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • การใช้ยานี้กับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ระหว่างการใช้ยานี้ต้องคอยตรวจสอบความผิดปกติของความดันโลหิตร่วมด้วย
  • หากพบอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ปวดศีรษะบ่อยมาก ซึ่งเป็นสัญญาณของความดันโลหิตสูง ให้หยุดใช้ยาแล้วกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทโปรตีนสูงเช่น โปรตีนสกัด ตับ ผลไม้ตากแห้ง ชีส โยเกิร์ต เบียร์ เป็นต้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงและมีภาวะอุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น
  • หากพบอาการแพ้ยาเช่น มีผื่นขึ้นเต็มตัว อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบากให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีพร้อมกับนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไอโซคาร์บอกซาซิดด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไอโซคาร์บอกซาซิดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไอโซคาร์บอกซาซิดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาไอโซคาร์บอกซาซิดร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงติดตามมาเช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ เป็นลม มีภาวะโคม่า ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาไอโซคาร์บอกซาซิดร่วมกับยากลุ่ม MAOIs ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงมากจนถึงขั้นเป็นอันตรายกับผู้ป่วย
  • การใช้ยาไอโซคาร์บอกซาซิดร่วมกับยา Chlorpheniramine จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงเพิ่มมากขึ้นเช่น วิงเวียน ง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง ท้องผูก หน้าแดง เหงื่อออกน้อย เป็นต้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาไอโซคาร์บอกซาซิดร่วมกับยา Ergotamine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome และมักพบเห็นอาการประสาทหลอน เกิดลมชัก รู้สึกสับสน ความดันโลหิตผิดปกติ จังหวะการเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลง มีไข้ ตาพร่า คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

ควรเก็บรักษาไอโซคาร์บอกซาซิดอย่างไร?

ควรเก็บยาไอโซคาร์บอกซาซิดที่อุณหภูมิระหว่าง 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไอโซคาร์บอกซาซิดมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไอโซคาร์บอกซาซิดที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Marplan (มาร์แพลน) Validus Pharmaceuticals, Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Isocarboxazid [2015,Oct17]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Monoamine_oxidase_inhibitor#List_of_MAO_inhibiting_drugs [2015,Oct17]
  3. http://www.drugs.com/cdi/isocarboxazid.html [2015,Oct17]
  4. http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/isocarboxazid-oral-route/description/drg-20073185 [2015,Oct17]
  5. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/5225 [2015,Oct17]
  6. https://www.medicines.org.uk/emc/PIL.5225.latest.pdf [2015,Oct17]
  7. http://www.drugs.com/mtm/marplan.html [2015,Oct17]
  8. http://www.drugs.com/drug-interactions/isocarboxazid-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Oct17]