ไอฟอสฟาไมด์ (Ifosfamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไอฟอสฟาไมด์ (Ifosfamide ย่อว่า IFO) เป็นยาเคมีบำบัดกลุ่ม Alkylating agent ทางคลินิกนำมาใช้รักษามะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งอัณฑะ มะเร็งกระดูก มะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งชนิด Hodgkin’s Lymphoma และชนิด Non-Hodgkin’s Lymphoma มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก ในตลาดยาต่างประเทศจะวางจำหน่ายยาไอฟอสฟาไมด์ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Ifex”

ยาไอฟอสฟาไมด์ มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด ร่างกายสามารถทำลายยานี้โดย ตับ และต้องใช้เวลาประมาณ 72 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

ก่อนใช้ยาไอฟอสฟาไมด์ แพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงข้อควรระวังต่างๆ รวมถึงอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะกดไขกระดูก ซึ่งจะส่งผลทำให้ระบบภูมิต้านทาน(ภูมิคุ้มกัน หรือ ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกายอ่อนแอลง จนเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ ตลอดจนกระทั่งมีภาวะเลือดออกง่าย

ยาไอฟอสฟาไมด์ ยังมีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลางโดยสามารถทำให้ผู้ป่วยเห็นภาพหลอน ตาพร่า มีอาการสับสน หรือทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ที่สามารถเกิดขึ้นกับไตของผู้ป่วย โดยทำให้มีภาวะไตวาย ดังนั้นขณะได้รับยานี้แพทย์จึงเฝ้าระวังตรวจสอบการทำงานของไขกระดูก ระบบประสาท และไต ควบคู่ไปกับการรักษาโรคมะเร็ง

ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการผิดปกติบางอย่างเพื่อใช้เป็นสัญญาณเตือนว่าเกิดอันตรายต่อร่างกายระหว่างที่ได้รับยาไอฟอสฟาไมด์ ซึ่งถ้าพบอาการผิดปกติเหล่านี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที อาทิเช่น

  • มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับมีอาการหนาวสั่น
  • รู้สึกสับสน และเห็นภาพหลอนเกิดขึ้น
  • พบเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • คลื่นไส้ทุกครั้งเมื่อต้องรับประทานอาหาร และยาต้านการคลื่นไส้/ยาแก้คลื่นไส้ที่แพทย์สั่งจ่ายมาให้เพื่อบรรเทาอาการนี้ ใช้ไม่ได้ผล
  • อาเจียนมากกว่า 4–5 ครั้งต่อวัน
  • เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามร่างกาย
  • อุจจาระมีสีคล้ำคล้ายมีเลือดปน หรือ อุจจาระเป็นเลือด
  • ไม่สามารถดื่มน้ำได้เพียงพอที่ส่งผลให้เกิดภาวะร่างกายเสียน้ำ/เกิดภาวะขาดน้ำ เหนื่อยง่าย ปากแห้ง ปัสสาวะน้อย หรือวิงเวียนอย่างมาก

ยาไอฟอสฟาไมด์ได้เริ่มนำมาใช้ทางคลินิกตั้งแต่ปี ค.ศ.1987 (พ.ศ.2530) และองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับสถานพยาบาลควรมีสำรองไว้รักษาผู้ป่วยมะเร็ง คณะกรรมการอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุให้pkไอฟอสฟาไมด์อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จัดอยู่ในหมวดของยาควบคุมพิเศษ และมีเงื่อนไขการใช้ยานี้ ดังนี้

1. ใช้เป็นยาตัวที่สอง(Second-line treatment) สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin’s lymphoma ระยะโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ(Relapse) หรือ โรคดื้อยาเดิม(Refractory)

2. ใช้กับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งชนิด Sarcoma

3. ใช้กับมะเร็ง Wilms' tumor และ มะเร็ง Neuroblastoma

4. ใช้กับเนื้องอก/มะเร็ง Germ cell tumor

อนึ่ง เพื่อให้การรักษาด้วยยาไอฟอสฟาไมด์เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือกับแพทย์ โดยมาโรงพยาบาลเพื่อรับการให้ยานี้ตามที่แพทย์นัดหมาย และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด

ไอฟอสฟาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไอฟอสฟาไมด์

ยาไอฟอสฟาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ ใช้รักษาโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น

  • มะเร็งอัณฑะที่กลับมาเป็นซ้ำ(Recurrent testicular cancer)
  • เนื้องอกเจิมเซลล์ (Germ cell tumor)
  • มะเร็งกระดูก ชนิด Osteogenic sarcoma และชนิด Ewing's sarcoma
  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non-small cell lung cancer) และ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก(Small cell lung cancer)
  • มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder cancer)
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทั้งชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s Lymphoma) และชนิด ฮอดจ์กิน (Hodgkin’s lymphoma)
  • มะเร็งปากมดลูก(Cervix cancer)

ไอฟอสฟาไมด์กลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไอฟอสฟาไมด์คือ ตัวยาจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลที่ตับ (mixed-function oxidases) และกลายเป็นตัวยาที่สามารถออกฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ยาไอฟอสฟาไมด์ที่เป็นสารออกฤทธิ์จะเข้าเล่นงานสารชีวโมเลกุลที่เรียกว่า กรดนิวคลีอิก(Nucleic acid)ของเซลล์มะเร็งจนมีผลกระทบกับสารพันธุกรรม (DNA) ส่งผลทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเจริญเติบโตและตายลง

ไอฟอสฟาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไอฟอสฟาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยาIfosfamide ขนาด 0.5 , 1, และ 3 กรัม/ขวด

ไอฟอสฟาไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้ยาไอฟอสฟาไมด์เพื่อรักษามะเร็งแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างของขนาดและระยะเวลาในการให้ยา ซึ่งแพทย์จะใช้ปัจจัยหลายอย่างมาคำนวณการใช้ยานี้ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด เช่น ความรุนแรงและชนิดของโรคมะเร็ง พื้นที่ผิวของร่างกายผู้ป่วย อายุ ส่วนสูง น้ำหนัก โรคประจำตัวอื่นๆที่นอกเหนือจากโรคมะเร็ง ตลอดจนกระทั่งการตอบสนองต่อการรักษา

*****หมายเหตุ:

  • หลังจากได้รับการให้ยาไอฟอสฟาไมด์ ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์เต็มที่เมื่อเวลา ผ่านไป 7–14 วัน และช่วงวันที่ 10–14 วัน เป็นระยะเวลาที่ร่างกายจะเกิดอาการข้างเคียงต่างๆมากที่สุด เช่น มีภาวะกดไขกระดูก ระดับเกล็ดเลือดต่ำ ผมร่วง ฯลฯ อาการดังกล่าวจะค่อยๆกลับมาเป็นปกติเมื่อเวลาผ่านไป 21–28 วันถ้าไม่มีการให้ยานี้และ/หรือยาเคมีบำบัดตัวอื่นอีก
  • ผู้ป่วยมะเร็งที่มีความประสงค์จะใช้การแพทย์ทางเลือกอื่นร่วมในการรักษา เช่น การใช้สมุนไพรต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันผู้ที่ทำการรักษาอยู่ก่อนทุกครั้ง และไม่ควรหยุดการรักษาไปเฉยๆ
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมารับการให้ยานี้ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไอฟอสฟาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอฟอสฟาไมด์อาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้ อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

ผู้ป่วยต้องได้รับยาไอฟอสฟาไมด์ต่อเนื่องตามแพทย์กำหนดจึงจะเกิดประสิทธิผลของการรักษา กรณีลืมหรือมีเหตุขัดข้องไม่สามารถมารับการฉีดยานี้ได้ จะรีบต้องติดต่อแพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อทำการนัดหมายการให้ยานี้ครั้งใหม่โดยเร็ว

ไอฟอสฟาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไอฟอสฟาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการท้องเสียหรือท้องผูก กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เห็นภาพหลอน ง่วงนอน วิงเวียน ชัก เดินเซ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผมร่วง สีผิวคล้ำขึ้น
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดไขกระดูก ระดับเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยตัวยาไอฟอสฟาไมด์มีพิษต่อเนื้อเยื่อบุผนังด้านในของอวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ผลต่อไต: เช่น เกิดพิษต่อไต ทำให้การดูดกลับโปแตสเซียมจากปัสสาวะเข้ากระแสโลหิตบกพร่อง นอกจากนี้อาจพบภาวะปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะกะปริบกะปรอย/ปัสสาวะครั้งละน้อยๆแต่บ่อยขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้ไอฟอสฟาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอฟอสฟาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ระหว่างรับการรักษาด้วยยานี้ ควรดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตรเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำของร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัด เพราะจะเสี่ยงต่อการติดโรคต่างๆ และควร ล้างมือบ่อยครั้งในแต่ละวัน
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บซึ่งจะเสี่ยงต่อการเกิดแผลเลือดออก/เสียเลือดมากด้วยสภาพร่างกายขณะได้รับยาชนิดนี้จะมีเกล็ดเลือดต่ำ
  • ต้องป้องกันการตั้งครรภ์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นสตรี ขณะที่ได้รับยาชนิดนี้
  • สำหรับบุรุษ การมีเพศสัมพันธ์กับสตรีควรใส่ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งเพื่อป้องกันการส่งผ่านตัวยาไอฟอสฟาไมด์ไปกับน้ำอสุจิ
  • หากมีอาการข้างเคียงอย่างเช่น คลื่นไส้อาเจียน ให้รับประทานอาหารในปริมาณน้อยๆต่อมื้อแต่เพิ่มการรับประทานให้บ่อยครั้งขึ้น
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์
  • พักผ่อนอย่างเต็มที่เพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพอย่างรวดเร็ว
  • มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไอฟอสฟาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไอฟอสฟาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไอฟอสฟาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาไอฟอสฟาไมด์ร่วมกับยา Adalimumab, Certolizumab เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างรุนแรงตามมา
  • ห้ามใช้ยาไอฟอสฟาไมด์ร่วมกับวัคซีนชนิดต่างๆ ด้วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากวัคซีนนั้นๆเสียเอง และประสิทธิผลของการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมักไม่ได้ผล
  • การใช้ยาไอฟอสฟาไมด์ร่วมกับ ยาWarfarin จะทำให้ประสิทธิผลของยา Warfarin ต่ำลงจนเป็นผลให้เกิดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดเป็นลิ่มเลือดในหลอดเลือด ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น เจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก หายใจขัด ตาพร่า และมีอาการบวมทั้งตัว หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • ห้ามใช้ยาไอฟอสฟาไมด์ร่วมกับ ยาTenofovir ด้วยจะก่อให้เกิดพิษกับไตอย่างรุนแรง

ควรเก็บรักษาไอฟอสฟาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาไอฟอสฟาไมด์ภายใต้อุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

จีเอมซีเอสเอฟมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไอฟอสฟาไมด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ifex (ไอเฟกซ์)Baxter Healthcare Corporation
Holoxan (โฮโลแซน) Baxter Healthcare

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/ifosfamide.aspx [2018,April28]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/ifosfamide/?type=brief&mtype=generic [2018,April28]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/holoxan/?type=brief [2018,April28]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Ifosfamide [2018,April28]
  5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/131#item-8764 [2018,April28]
  6. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/019763s016lbl.pdf [2018,April28]
  7. https://www.drugs.com/pro/ifosfamide.html [2018,April28]
  8. https://www.drugs.com/sfx/ifosfamide-side-effects.html [2018,April28]
  9. https://www.drugs.com/drug-interactions/ifosfamide-index.html?filter=3&generic_only=[2018,April28]