ไอบิวดิลาสท์ (Ibudilast)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 ธันวาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ไอบิวดิลาสท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไอบิวดิลาสท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไอบิวดิลาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไอบิวดิลาสท์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไอบิวดิลาสท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไอบิวดิลาสท์อย่างไร?
- ไอบิวดิลาสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไอบิวดิลาสท์อย่างไร?
- ไอบิวดิลาสท์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ (Phosphodiesterase inhibitor)
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- โรคหืด (Asthma)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
บทนำ
ยาไอบิวดิลาสท์(Ibudilast) อีกชื่อ คือ MN-166 เป็นยาในกลุ่มฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ (phosphodiesterase inhibitor) มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ ช่วยขยายหลอดลม ขยายหลอดเลือด และช่วยป้องกันผลกระทบจากการอักเสบต่อระบบประสาท ทางคลินิกใช้ยานี้มาบำบัดอาการหอบหืด และบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะอันเนื่องมาจากระบบการหมุนเวียนเลือด/การไหลเวียนเลือดของสมองผิดปกติ
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไอบิวดิลาสท์ เป็นยาแบบรับประทาน ขนาดการใช้ยานี้ของผู้ป่วยแต่ละบุคคลจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงอาการโรค ภายหลังการถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้ในกระแสเลือดจะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะภายในเวลาประมาณ 72 ชั่วโมง
ยาไอบิวดิลาสท์มีข้อจำกัดและข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภ/ผู้ป่วยควรทราบดังต่อไปนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะอัมพาตจากสมองขาดเลือดแบบเฉียบพลัน เพราะจะทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลงอันเนื่องจากผลข้างเคียงของตัวยา
- ยาไอบิวดิลาสท์มีผลข้างเคียงต่อการทำงานของตับ โดยทำให้เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น แพทย์จึงหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับชนิดต่างๆ
- กลไกการทำลายของยาไอบิวดิลาสท์จะเกิดที่ตับ การใช้ยากับผู้สูงอายุจึง ต้องปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสม ด้วยผู้ป่วยสูงอายุจะมีสภาพการทำงานของตับที่ถดถอยไปตามวัย การใช้ยานี้ที่ขนาดปกติในผู้สูงอายุ อาจทำให้มีการสะสมของตัวยานี้ในร่างกายผู้สูงอายุ จนก่อให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อร่างกายผู้สูงอายุตามมา
- ยาไอบิวดิลาสท์อาจทำให้เกล็ดเลือดทำงานน้อยลง ระหว่างใช้ยานี้แล้วตรวจพบว่า ผู้ป่วยเริ่มมีภาวะเลือดออกง่าย แพทย์อาจต้องพิจารณาหยุดการใช้ยาไอบิวดิลาสท์ และเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นแทน
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์(ตั้งครรภ์) ด้วยมีงานวิจัยจากห้องทดลองพบว่า ยาไอบิวดิลาสท์สามารถทำให้การเจริญเติบโตของตัวอ่อน/ทารกในครรภ์ช้าลง
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก ด้วยยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยที่เพียงพอมาสนับสนุน
ปัจจุบันยาไอบิวดิลาสท์ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย แต่จะพบเห็นการจัดจำหน่ายอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อการค้าว่า “Ketas”
ไอบิวดิลาสท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไอบิวดิลาสท์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ
- บำบัดอาการหอบหืด
- บรรเทาอาการจากการไหลเวียนโลหิตของสมองที่ผิดปกติ
อนึ่ง ปัจจุบัน ยานี้กำลังอยู่ในการศึกษาวิจัยเพื่อนำมาใช้ในการบำบัดอาการโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง(โรคเอมเอส/MS) และกำลังพัฒนาเพื่อใช้เป็นยาหยอดตาในการรักษาภาวะเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้และจากโรคไข้ละอองฟาง
ไอบิวดิลาสท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไอบิวดิลาสท์มีกลไกการออกฤทธิ์ คือ
- สำหรับบำบัดอาการหอบหืด ตัวยาไอบิวดิลาสท์จะเข้าควบคุมและยับยั้งป้องกันระบบทางเดินหายใจของร่างกายมิให้ตอบสนองต่อสารหรือตัวกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการหอบหืด แต่ยานี้ไม่สามารถบำบัดอาการหอบหืดแบบเฉียบพลันได้
- สำหรับบำบัดโรคหลอดเลือดสมอง ตัวยาไอบิวดิลาสท์จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตในสมอง โดยยับยั้งการเกาะจับตัวของเกล็ดเลือด พร้อมกับทำให้หลอดเลือดขยายตัว นอกจากนี้ยาไอบิวดิลาสท์จะกดการทำงานของสารประเภทโปรตีนในร่างกายที่ชื่อว่า Tumor necrosis factor/TNF ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับกระบวนการอักเสบของหลอดเลือดในสมอง จึงทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณสมองดีขึ้น
ไอบิวดิลาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไอบิวดิลาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Ibudilast ขนาด 500 มิลลิกรัม/แคปซูล
ไอบิวดิลาสท์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไอบิวดิลาสท์ มีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาอาการหอบหืด/ โรคหืด:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
ข. สำหรับรักษาโรคหลอดเลือดสมอง:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานได้ตามอาการของผู้ป่วย
อนึ่ง:
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่เพียงพอในการใช้ยานี้ในเด็ก
- รับประทานยานี้ ก่อนหรือหลัง อาหารก็ได้ แต่ควรรับประทานตามเวลาที่แพทย์แนะนำ
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิรวมยาไอบิวดิลาสท์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอบิวดิลาสท์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับ ยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาไอบิวดิลาสท์ สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไอบิวดิลาสท์ ตรงเวลาและต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง และแพทย์จะเป็นผู้สั่งหยุดการใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด
ไอบิวดิลาสท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไอบิวดิลาสท์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ ใบหน้าแดง ใบหน้าบวม
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน รู้สึกอ่อนเพลีย
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับหรือง่วงนอน
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เบื่ออาหาร ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องอืด
มีข้อควรระวังการใช้ไอบิวดิลาสท์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไอบิวดิลาสท์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- งดการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของ โรคหืด โรคหลอดเลือดสมอง
- หลังการใช้ยานี้ ถ้าอาการป่วยไม่ดีขึ้น ต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- หากเกิดอาการแพ้ยานี้ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ตัวบวม ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับ ประทานยา อาหาร การพักผ่อน การออกกำลังกาย และต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไอบิวดิลาสท์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไอบิวดิลาสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไอบิวดิลาสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไอบิวดิลาสท์ร่วมกับยา Abciximab( ยาต้านการแข็งตัวของเลือด), Acenocoumarol, ด้วยจะทำให้การเกาะ/จับตัวของเกล็ดเลือดลดลง จึงเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายตามมา
- ห้ามใช้ยาไอบิวดิลาสท์ร่วมกับยา Salicylic acid ด้วยเสี่ยงต่อทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาไอบิวดิลาสท์ได้อย่างรุนแรง
ควรเก็บรักษาไอบิวดิลาสท์อย่างไร?
ควรเก็บยาไอบิวดิลาสท์ ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไอบิวดิลาสท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไอบิวดิลาสท์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ketas (คีตาส) | Kyorin pharmaceutical |
บรรณานุกรม
- http://www.kyorin-pharm.co.jp/prodinfo/medicine/pdf/KETAS_Capsules.pdf [2017,Nov18]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB05266 [2017,Nov18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ibudilast [2017,Nov18]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21871121 [2017,Nov18]