ไอกรน ไอ 100 วัน (ตอนที่ 2)

ไอกรนไอ100วัน

หลังจาก 1-2 สัปดาห์ อาการจะแย่ลง มีมูกหนาตัวในทางเดินหายใจ ทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการไอได้ จนเกิดอาการที่รุนแรง ได้แก่

  • อาเจียน
  • หน้าแดงหรือคล้ำ
  • อ่อนเพลียมาก
  • มีเสียงการหายใจที่ออกไปทางแหลมเล็ก

ทั้งนี้ อาการไอเรื้อรังอาจคงอยู่ได้นานถึง 3 เดือน

อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่อาจจะไม่มีเสียงหายใจแหลมเล็ก วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อาจมีเพียงอาการไอต่อเนื่อง ส่วนทารกอาจจะไม่มีอาการไอเลยก็ได้ แต่มีอาการหายใจลำบากหรืออาจหยุดหายใจชั่วคราว (Apnea)

ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักหายจากไอกรนได้โดยไม่มีอาการแทรกซ้อน หากมีก็มักจะเกิดจากอาการไออย่างแรงแล้วทำให้เกิดอาการอื่น ซึ่งได้แก่

  • กระดูกซี่โครงช้ำหรือร้าว
  • ไส้เลื่อน (Abdominal hernias)
  • หลอดเลือดใต้ผิวหนังหรือหลอดเลือดในตาขาวแตก

ในทารกที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน อาการแทรกซ้อนจากไอกรนจะรุนแรงกว่า เพราะอาจทำให้เกิด

  • โรคปอดบวม (Pneumonia)
  • หายใจได้ช้าหรือหยุดหายใจ (Apnea)
  • มีภาวะร่างกายขาดน้ำหรือน้ำหนักลดอันเนื่องมาจากการเลี้ยงยาก
  • ชัก (Seizure)
  • สมองถูกทำลาย
  • เสียชีวิต

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรนหรือไม่ ในระยะแรกทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากไอกรนระยะแรกมักจะมีอาการคล้ายโรคทางเดินหายใจทั่วไป เช่น หวัด หรือ หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) ทั้งนี้อาจจำเป็นต้องเพิ่มการตรวจด้วยวิธี

  • การเพาะเชื้อ (Culture) ที่ได้จากช่องจมูก (Nasopharynx) เพื่อหาเชื้อแบคทีเรียไอกรน
  • การตรวจเลือด เพื่อดูจำนวนเม็ดเลือดขาว ที่แสดงถึงการติดเชื้อหรือการอักเสบ
  • การเอ็กซเรย์ปอด เพื่อดูการอักเสบหรือมีน้ำในปอด

แหล่งข้อมูล

1. Whooping cough. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/whooping-cough/basics/definition/con-20023295 [2016, September 9].

2. Pertussis (Whooping Cough). http://www.cdc.gov/pertussis/about/ [2016, September 9].

3. Whooping cough (pertussis). http://kidshealth.org/en/parents/whooping-cough.html [2016, September 9].