ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis) คือ โรคเกิดจากการอักเสบของเซลล์ตับจากติดเชื้อไวรัสในกลุ่มไวรัสตับอักเสบ (เฮปาไตติสไวรัส/Hepatitis virus) โดยการติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นการอัก เสบเฉียบพลัน ซึ่งเมื่อหายแล้วร่างกายมักฟื้นกลับเป็นปกติ แต่บางคน (เป็นส่วนน้อย) โรคไม่หาย กลายเป็นการอักเสบเรื้อรังซึ่งมักเกิดโรคตับแข็งตามมา แต่บางคนมีเชื้อไวรัสนี้อยู่ในตัวโดยไม่มีอา การ แต่สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้เรียกว่า เป็นพาหะโรค (Carrier)

ไวรัสตับอักเสบเป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อย แบ่งเป็นหลายชนิดย่อย เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ เอ, โรคไวรัสตับอักเสบบี, โรคไวรัสตับอักเสบ ซี, แต่ไม่มีการรายงานสถิติเกิดในภาพรวมของไวรัสตับอักเสบทุกชนิดย่อย ทั่วไปมักรายงานสถิติเกิดแยกต่างหากในแต่ละชนิดย่อยๆ ไวรัสตับอักเสบพบทุกอายุทั้งใน เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดยโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

ไวรัสตับอักเสบจัดเป็นโรคติดต่อ:

  • บางชนิดติดต่อผ่านทางระบบเดินอาหาร เช่น ไวรัสตับอักเสบ เอ
  • บางชนิดติดต่อทางสารคัดหลั่งซึ่งรวมทั้ง เลือด น้ำเหลือง และทางเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี
  • บางชนิดติดต่อจากการได้รับเลือดในการรักษาโรคต่างๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี,
  • บางชนิดติดต่อจากแม่สู่ลูกจากการคลอดบุตร เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี

เพื่อให้ประชากรโลกตระหนักถึงภัยจากโรคตับอักเสบ องค์การอนามัยโลกจึงประกาศให้วัน ที่ 28 กรกฎาคมของทุกปีเป็น “วันโรคตับอักเสบโลก (World hepatitis day)” ซึ่งสาเหตุของตับอักเสบทุกสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ทั้งนี้รวมถึงในประเทศไทยด้วย

ไวรัสตับอักเสบมีกี่ชนิด?

ไวรัสตับอักเสบ

ไวรัสตับอักเสบ มีหลายชนิดหรือหลายสายพันธุ์ย่อย กล่าวคือ มีตั้งแต่ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ ไล่ไปจนถึงชนิด เอช , และยังมีอีกหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญ คือ ไวรัสตับอักเสบ เอ, ไวรัสตับอักเสบ บี, และไวรัสตับอักเสบ ซี, โดยไวรัสตับอักเสบทุกชนิดให้อาการคล้ายกัน แต่แยกจากกันโดยการตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานของเชื้อชนิดย่อยต่างๆ

ไวรัสตับอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของไวรัสตับอักเสบทุกสายพันธุ์หรือทุกชนิดคล้ายกัน มีได้ตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงอาการมากขึ้นกับ ปริมาณไวรัสที่ร่างกายได้รับ, และสุขภาพดั่งเดิมของผู้ป่วย

อาการพบบ่อยของไวรัสตับอักเสบ ได้แก่

  • มีไข้
  • ปวดเมื่อยตัว คล้ายอาการจากโรคหวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่ แต่อ่อนเพลียมากกว่าไข้หวัดมาก
  • คลื่นไส้- อาเจียน
  • อาจมีท้องเสีย
  • อาจเจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวา (ตำแหน่งของตับ)
  • มักมีตาเหลือง- ตัวเหลือง (โรคดีซ่าน) ปัสสาวะสีเข้มจากสารสีเหลือง (บิลิรูบิน, Bilirubin) ในน้ำดีซึ่งมีสูงขึ้นในเลือดจากภาวะตับอักเสบ และสารนี้ถูกขับออกทางปัสสาวะ
  • อาจมีตับโตคลำได้ (ปกติจะคลำตับไม่ได้)

แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการของผู้ป่วย ประวัติการสัมผัสโรค (เช่น การกินอาหาร การได้รับเลือด การระบาดของโรคในที่ทำงาน ก ารมีเพศสัมพันธ์สำส่อน หรือ การใช้ยาเสพติด)
  • การตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ และ ตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานเพื่อแยกว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดใด
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพตับด้วย อัลตราซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน)

รักษาโรคไวรัสตับอักเสบได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบทุกชนิดเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ (การรักษาตามอาการ) ไม่มีการรับประทานยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าได้เฉพาะแบคทีเรีย แต่ฆ่าไวรัสไม่ได้

  • ดื่มน้ำสะ อาดในปริมาณมากกว่าปกติอย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • พักผ่อนให้มากๆ ร่างกายจะค่อยๆฟื้นตัวหายได้เอง
  • อาจมีการใช้ยาเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
  • การใช้ยาอื่นๆ โดยเฉพาะในโรคชนิดเรื้อรัง เช่น ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี ทั้งนี้ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และดุลพินิจของแพทย์

โรคไวรัสตับอักเสบรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?

ความรุนแรงของโรคไวรัสตับอักเสบขึ้นกับ ชนิดของเชื้อไวรัส , ปริมาณไวรัสที่ร่างกายได้รับ, และสุขภาพเดิมของผู้ป่วย

โดยทั่วไป ไวรัสตับอักเสบ เป็นโรคไม่รุนแรง รักษาหายได้ แต่ในรายที่รุนแรง เซลล์ตับจะมีการอักเสบถูกทำลายมาก จนเป็นผลให้เกิดภาวะตับวายและตายได้เฉียบพลัน, หรือกลาย เป็นไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง หรือโรคตับแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคมะเร็งตับ

ควรดูแลตนเองอย่างไร? เมื่อไรจึงควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอเมื่อดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 2 วันโดยเฉพาะเมื่อมีไข้สูง, กินหรือดื่มน้ำได้น้อยจากคลื่นไส้มาก อาเจียนมาก, หรือเจ็บใต้ชายโครงขวามาก, หรือปวดท้องมาก, หรือมีตาเหลือง-ตัวเหลือง

ส่วนการดูแลตนเองหลังพบแพทย์แล้ว ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ และ พยาบาล แนะนำ
  • พักผ่อนเต็มที่ ควรหยุดงาน หยุดโรงเรียนตามแพทย์แนะนำ
  • ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆอย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆตามแพทย์แนะนำ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ แต่ควรเป็นอาหารอ่อนย่อยง่าย (อ่านเพิ่มเติมในเกร็ดฯ เรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) เพิ่มผัก ผลไม้ให้มากๆ
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเพราะจะเพิ่มการทำลายเซลล์ตับ
  • ไม่ซื้อยากินเองเพราะอาจส่งผลให้ตับอักเสบเพิ่มขึ้น หรืออาจมีผลข้างเคียงจากยาเพิ่มขึ้น เพราะตับไม่สามารถกำจัดยาส่วนเกินออกจากร่างกายได้ตามปกติ
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆโดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย
  • แยกเครื่องใช้ ของใช้ส่วนตัว โดยเฉพาะแก้วน้ำและช้อน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง ลดความรุนแรงของโรค และลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
    • อาการต่างๆเลวลง
    • เมื่อกังวลในอาการ
  • ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเป็นการฉุกเฉินเมื่อ
    • กิน/ดื่มไม่ได้ หรือได้น้อยมาก
    • อาเจียนมาก
    • เกิดอาการสับสน และ/หรือซึมลง เพราะอาจเป็นอาการของตับวาย

ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันไวรัสตับอักเสบ ที่สำคัญคือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ และเพื่อให้มีสุข ภาพแข็งแรง
  • ล้างมือให้สะอาดเสมอโดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย
  • กินแต่อาหารที่ปรุงสุกอย่างทั่วถึง สะอาด ดื่มแต่น้ำสะอาด ระวังการกินน้ำแข็ง และอาหารสุกๆดิบๆ
  • รักษาความสะอาดแก้วน้ำและช้อนเสมอ
  • ระมัดระวังการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งของบุคคลอื่น โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือบาง อย่างร่วมกันเช่น เข็มฉีดยา เครื่องมือสักตามร่างกาย และกรรไกรตัดเล็บ
  • ใช้ถุงยางอนามัยชายเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ฉีดวัคซีนตับอักเสบบี ตามคำแนะนำของแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข

บรรณานุกรม

1. Dienstag,J., and Isselbacher, K. (2001). Acute viral hepatitis. In Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, D., Hausen, S., Longo, D., and Jamesson, J. Harrrison’s: Principles of internal medicine. (p1721-1737). New York. McGraw-Hill.
2. Viral hepatitishttp://www.cdc.gov/hepatitis/index.htm [2021,Jan23]
3. Viral hepatitishttp://en.wikipedia.org/wiki/Viral_hepatitis[2021,Jan23]