ไวกาบาทริน (Vigabatrin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไวกาบาทริน (Vigabatrin) หรืออีกชื่อว่า Gamma-vinyl-GABA ถูกใช้เป็นยารักษาโรคลมชัก ตัวยามีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายกับสารกาบา (GABA, Gamma-Aminobutyric acid) แต่การออกฤทธิ์ของยาจะไม่เกิดที่ตัวรับ GABA receptors ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) ยาไวกาบาทรินเป็นที่ยอมรับของประเทศแม็กซิโกในฐานะยารักษาโรคลมชักและในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) คณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐได้ประกาศให้ไวกาบาทรินเป็นยาที่นำมาใช้รักษาอาการชักเกร็งในเด็กทารกอายุ 1 เดือน - 2 ปี

เคยมีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาไวกาบาทรินกับยารักษาอาการลมชักตัวอื่น เช่น Valproate พบว่ายาไวกาบาทรินสามารถรักษาอาการลมชักในผู้ป่วยเด็กได้อย่างมีประสิทธิผลสูงถึงประมาณ 85% ในขณะที่ผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้มีการตอบสนองต่อยา Valproate ไม่ดีเท่าใดนัก

โดยทั่วไปยาไวกาบาทรินจะถูกผลิตเป็นยารับประทานด้วยมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและมีการกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 80 - 90% ตัวยาในกระแสเลือดจะไม่จับกับพลาสมาโปรตีนแต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีเมื่อผ่านไปที่ตับอีกด้วย ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 - 13 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด

มีข้อพึงระวังบางประการสำหรับการใช้ยาไวกาบาทรินด้วยอาจเป็นเหตุให้ตาบอดอย่างถาวรได้ ผลเสียดังกล่าวอาจเกิดขึ้นภายในสัปดาห์ต้นๆของการรับประทานยานี้และถึงแม้จะหยุดใช้ยานี้อาการทางตาก็ยังแย่ลงได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการมองไม่เห็นนี้อาจจะพัฒนาไปจนถึงขั้นรุนแรงแล้วผู้ป่วยจึงจะรู้ตัว ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำทางคลินิกเมื่อผู้ป่วยใช้ยาไวกาบาทรินจะต้องได้รับการตรวจสายตาทุกๆ 3 เดือนและหลังจากหยุดการใช้ยานี้ให้ตรวจซ้ำอีก 3 - 6 เดือนถัดมาเพื่อค้นหาความผิดปกติทางตาว่าเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตามแพทย์จะตัดสินใจใช้ยานี้เมื่อพิจารณาเป็นอย่างดีแล้วว่าก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยเท่านั้น นอกเหนือจากเรื่องผลกระทบต่อตาก็ยังต้องพิจารณาข้อมูลด้านอื่นก่อนการใช้ยานี้อีกเช่นกันเช่น

  • ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาไวกาบาทรินหรือไม่
  • เคยมีปัญหาด้านสายตา ป่วยด้วยโรคไต หรือมีภาวะโลหิตจาง อยู่ก่อนหรือไม่
  • มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า เคยทำร้ายตัวเองหรือคิดฆ่าตัวตายหรือไม่

อย่างไรก็ตามถึงแม้ผู้ป่วยจะใช้ยาไวกาบาทรินตามคำสั่งแพทย์แล้วก็ตาม แต่อาจมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) เกิดขึ้นจนเป็นที่รบกวนต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ทำความเข้าใจให้กับผู้ป่วยและญาติเช่น

  • ยาไวกาบาทรินอาจทำให้รู้สึกง่วงนอนและวิงเวียน จึงแนะนำให้ผู้ป่วยเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆและ/หรือทำงานกับเครื่องจักรในขณะที่ใช้ยานี้
  • กรณีใช้ยานี้ไปแล้ว 3 เดือนถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือกลับแย่ลงกว่าเดิมควรต้องพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ยานี้อาจเป็นเหตุให้น้ำหนักตัวเพิ่มซึ่งสามารถขอคำแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันมิให้น้ำหนักเพิ่มได้จากแพทย์พยาบาลเภสัชกรและ/หรือโภชนากร
  • การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุจะต้องมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้นด้วยผู้สูงอายุมีโอกาสได้รับอาการข้างเคียงจากยานี้สูงมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • อาการข้างเคียงหลายประการจากยานี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาอื่นรักษา ร่างกายผู้ป่วยจะค่อยๆปรับตัวจนอาการข้างเคียงเหล่านั้นดีขึ้นตามลำดับ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้จัดให้ยาไวกาบาทรินอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยาไวกาบาทรินจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมจากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลและตามร้านขายยาทั่วไป

ไวกาบาทรินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไวกาบาทริน

ยาไวกาบาทรินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ใช้เป็นยาป้องกันโรคลมชักทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่
  • บำบัดอาการชักเกร็งของเด็กทารก - เด็กอายุ 2 ปี

ไวกาบาทรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไวกาบาทรินมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า GABA-transaminase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่คอยลดปริมาณของสาร GABA ในสมองทำให้เกิดการสร้างสมดุลใหม่ของสาร GABA ในสมอง และส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ไวกาบาทรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไวกาบาทรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด

ไวกาบาทรินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไวกาบาทรินมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 16 ปี: รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
  • เด็กอายุ 10 - 16 ปี: รับประทานวันละ 500 มิลลิกรัมโดยแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี: การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*อนึ่ง: ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไวกาบาทริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไวกาบาทรินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไวกาบาทรินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไวกาบาทรินตรงเวลา

ไวกาบาทรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไวกาบาทรินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีภาวะซึมเศร้า รู้สึกสับสน อ่อนแรง น้ำหนักเพิ่ม ตาพร่า ง่วงนอน ไอ ท้องเสีย สูญเสียความจำ เกิดการติดเชื้อในช่องทางเดินปัสสาวะ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ปวดลูกตา ปวดศีรษะ สมรรถนะทางเพศถดถอย ประจำเดือนมาผิดปกติ (ในผู้หญิง) กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย มีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดท้อง หลอดลมอักเสบ ปวดหลัง ฝันร้าย และบริโภคอาหารได้มากขึ้น/น้ำหนักตัวเพิ่ม

มีข้อควรระวังการใช้ไวกาบาทรินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไวกาบาทรินเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในระหว่างให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ตรวจสุขภาพของลูกตาทุก 3 เดือนหรือบ่อยตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา หากพบอาการผิดปกติทางสายตาต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ผู้รักษา/มาโรงพยาบาลทันที
  • กรณีใช้ยานี้ไปแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไวกาบาทรินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไวกาบาทรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไวกาบาทรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาไวกาบาทรินร่วมกับยา Hydrocortisone, Prednisolone อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงด้านการมองเห็นมากขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เป็นอันตรายต่อลูกตาควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้งสองกลุ่มร่วมกัน
  • การใช้ยาไวกาบาทรินร่วมกับยา Propoxyphene, Chlorpheniramine อาจทำให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน ขาดสมาธิสูงขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามรับประทานยาไวกาบาทรินร่วมกับสุราด้วยจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนและง่วงนอนเป็นอย่างมาก

ควรเก็บรักษาไวกาบาทรินอย่างไร?

ควรเก็บยาไวกาบาทรินในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่อง แช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไวกาบาทรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไวกาบาทรินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Sabril (ซาบริล) sanofi-aventis

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Vigabatrin#Pharmacokinetics [2016,Jan23]
  2. http://www.drugs.com/dosage/vigabatrin.html [2016,Jan23]
  3. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Sabril/?type=brief [2016,Jan23]
  4. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Vigabatrin [2016,Jan23]