ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก (Lipoglycopeptide antibiotic)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 เมษายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกอย่างไร?
- ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกอย่างไร?
- ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แวนโคมัยซิน (Vancomycin)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- หลอดเลือดดำผิวอักเสบ (Superficial Thrombophlebitis)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
บทนำ
ยาไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก หรือยาปฏิชีวนะกลุ่มไลโปไกลโคเปปไทด์ หรือเรียกสั้นๆว่า ยาไลโปไกลโคเปปไทด์ (Lipoglycopeptide antibiotic หรือ Lipoglycopeptide) เป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะที่มีโครงสร้างเคมีเป็นสายยาว สามารถละลายและกระจายตัวได้ดีในไขมัน จึงทำให้ยากลุ่มนี้สามารถแทรกซึมเข้าชั้นไขมันใต้ผิวหนังและกระจายตัวไปยังเซลล์หรือโครงสร้างของผิวหนังที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียได้ดีกว่ายาปฏิชีวนะกลุ่มอื่นๆ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกเป็นยาชนิดฉีด ในปัจจุบันเท่าที่พบเห็นการใช้ทางคลินิกมีอยู่ 3 ตัวยา ดังนี้
1. Telavancin: ใช้ต่อต้านแบคทีเรียจำพวกสแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส(Staphylococcus aureus)ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลลิน (Methicillin-resistant staphylococcus aureus/MRSA) หรือแบคทีเรียชนิดแกรมบวกชนิดอื่นๆ โดยมีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยานี้กับผู้ป่วยวันละ1ครั้ง ส่วนระยะเวลาของการใช้ยานี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการป่วย ยานี้ได้ผ่านการรับรองเมื่อปี ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552) เพื่อใช้รักษาการติดเชื้อทางผิวหนังในระดับซับซ้อนและมีความรุนแรง เราสามารถพบเห็นยาTelavancin จัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Vibativ
2. Dalbavancin: ใช้ต่อต้านแบคทีเรียกลุ่ม MRSA เช่นกัน รวมถึงแบคทีเรียชนิดแกรมบวกชนิดอื่นๆ มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรียเช่นเดียวกับยา Telavancin ทางคลินิกใช้ยา Dalbavancin รักษาการติดเชื้อทางผิวหนังแบบเฉียบพลัน ยานี้ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนในปี ค.ศ.2014 (พ.ศ.2557) และวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Dalvance และ Xydalba
3. Oritavancin: มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียชนิดแกรมบวก รวมถึงแบคทีเรียจำพวก MRSA เช่นเดียวกัน ใช้รักษาการติดเชื้อทางผิวหนังเช่นเดียวกับยา Telavancin และยา Dalbavancin โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์และรบกวนการทำงานของเยื่อหุ้มเซลล์ในแบคทีเรีย การให้ยานี้เพียงวันละ1ครั้งเป็นเวลา 5 วันอย่างต่ำก็สามารถทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นลำดับ ยานี้ผ่านการขึ้นทะเบียนต่อจาก Dalvance ในปี ค.ศ.2014(พ.ศ.2557) และมีวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Orbactiv
ยาทั้ง 3 ตัวดังกล่าว มีโครงสร้างใกล้เคียงกับยา Vancomycin จึงทำให้มีสรรพคุณและมีกลไกการออกฤทธิ์ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้ก็มีข้อควรระวังการใช้อยู่หลายประการ แพทย์จะต้องติดตามอาการต่างๆขณะที่ผู้ป่วยได้รับยากลุ่มนี้ เช่น มีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นหรือไม่ อัตราการเต้นของหัวใจยังเป็นปกติดีหรือเกิดความผิดปกติ ตลอดจนอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยได้รับยานี้
นอกจากนี้กฎเกณฑ์สำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะทุกชนิดที่รวมถึงยากลุ่มไลโปไกลโคเปปไทด์ คือ ผู้ป่วยต้องได้รับยาต่อเนื่องจนกระทั่งครบเทอมการรักษาเพื่อมิให้เกิดการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย
เราจะพบเห็นการใช้ยากลุ่มไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกได้ในสถานพยาบาลเท่านั้น กรณีที่ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับยากลุ่มนี้เพิ่มเติม สามารถ สอบถามได้จากแพทย์หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้
ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังในระดับความรุนแรงที่มีสาเหตุ จากแบคทีเรียชนิดแกรมบวกที่ตอบสนองต่อยากลุ่มนี้ รวมถึงเชื้อ Staphylococcus aureusที่ดื้อต่อยาMethicillin
ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ และออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต สิ้นสภาพในการขยายพันธุ์ และตายลงในที่สุด
ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่ต้องเตรียมเป็นสารละลาย เพื่อหยดเข้าหลอดเลือดดำของผู้ป่วย
ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ขนาดการใช้ยาไลโปไกลโคเปปไทด์ จะขึ้นอยู่กับชนิดของตัวยาแต่ละตัว ประกอบกับความรุนแรงของโรค กรณีผู้ป่วยที่เป็นโรคไตร่วมด้วย หากได้รับยาDalbavancin และ Telavancin แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาลดลงตามค่า Creatinine clearance ในขณะที่ Oritavancin ไม่ได้ระบุให้ปรับลดขนาดการใช้ยาในผู้ป่วยโรคไต
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไลโปไกลโคเปปไทด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร ระบบทางเดินอาหารเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Clostridium difficile (C. difficile) (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร)
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ผนังหลอดเลือดดำบริเวณเข็มแทงอัก(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง หลอดเลือดดำผิวอักเสบ)
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
- ผลต่อไต: เช่น ปัสสาวะเป็นฟอง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เจ็บบริเวณที่ฉีดยา
มีข้อควรระวังการใช้ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดด้วยเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายและระหว่างที่ได้รับยานี้ต้องระวังไม่ให้เกิดบาดแผล ด้วยจะทำให้เลือดออกง่าย
- ห้ามใช้ยานี้ที่บรรจุภัณฑ์ชำรุด หรือมีสิ่งปนเปื้อนลงในตัวยา
- ห้ามหยุดใช้ยานี้โดยไม่มีคำสั่งแพทย์ ผู้ป่วยต้องได้รับยานี้จนครบเทอมการรักษาเพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย
- ระหว่างการใช้ยานี้เป็นระยะเวลานาน อาจเปิดโอกาสให้เชื้อโรคบางชนิดเข้ามาเล่นงานร่างกายได้ เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารจากเชื้อแบคทีเรีย C. difficile
- ขณะได้รับยานี้แล้วพบอาการแพ้ยา เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เกิดผื่นคันตามร่างกาย ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบแจ้งให้ให้ แพทย์ พยาบาล ทราบทันที
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาDalbavancin ร่วมกับวัคซีนอหิวาตกโรค เพราะจะทำให้การกระตุ้นของวัคซีนไม่ได้ผล ก่อนใช้วัคซีนนี้ ควรต้องหยุดการใช้ ยา Dalbavancin 14 วันไปแล้ว
- ห้ามใช้ยาOritavancin ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อย่างเช่นยา Ethinyl estradiol ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดด้อยลง ควรต้องป้องกันการตั้งครรภ์โดยใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- การใช้ยาTelavancin ร่วมกับยา Tenofovir อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)กับไต โดยทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปริมาณปัสสาวะเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ลดลง น้ำหนักตัวเพิ่มหรือลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวบวม หายใจขัด ปวดกระดูก กล้ามเนื้อเกิดตะคริว เป็นต้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกอย่างไร?
ควรเก็บยาไลโปไกลโคเปปไทด์ ในช่วงอุณหภูมิที่กำหนดในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไลโปไกลโคเปปไทด์ แอนติไบโอติก มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ORBACTIV (ออแบคทีพ) | The Medicine Company |
Dalvance (ดาลแวน) | Durata |
VIBATIV (ไวบาทีฟ) | Theravance Biopharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Lipoglycopeptide [2018,March17]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Telavancin [2018,March17]
- https://www.fda.gov/downloads/Drugs/DrugSafety/UCM183838.pdf [2018,March17]
- http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/EPAR_-Product_Information/human/002840/WC500183869.pdf [2018,March17]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/accesspak-for-hiv-pep-expanded-with-kaletra-with-telavancin-3222-14423-3173-0.html [2018,March17]
- https://www.allergan.com/assets/pdf/dalvance_pi [2018,March17]