ไลนากลิปติน (Linagliptin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 ตุลาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ไลนากลิปตินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไลนากลิปตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไลนากลิปตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไลนากลิปตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไลนากลิปตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไลนากลิปตินอย่างไร?
- ไลนากลิปตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไลนากลิปตินอย่างไร?
- ไลนากลิปตินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เมทฟอร์มิน (Metformin)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- เบาหวานกับการตั้งครรภ์ (Diabetes mellitus and pregnancy)
บทนำ
ยาไลนากลิปติน (Linagliptin) เป็นยาในกลุ่ม ไดเพปทิดิลเพปทิเดส-4 อินฮิบิเตอร์ (Dipeptidyl peptidase-4 inhibitor ย่อว่า DPP-4 Inhibitor; กลุ่มยาที่ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดเพียงประมาณ 30% และจะรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือดได้ประมาณ 75%-99% ก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ การใช้ยานี้ให้ได้ประสิทธิภาพ ผู้ป่วยต้องควบคุมอาหารร่วมด้วย ทั้งนี้ในการรักษา สามารถใช้ยาไลนากลิปตินในลักษณะยาเดี่ยว หรือจะใช้ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานตัวอื่นก็ได้
กลไกการออกฤทธิ์หลักของยาไลนากลิปติน คือตัวยาจะไปลดระดับฮอร์โมนที่มีชื่อว่ากลูคากอน (Glucagon)จากตับอ่อน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่คอยทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น อีกด้านหนึ่งตัวยานี้ยังจะคอยเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนเช่นกันที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายใช้น้ำตาลในเลือดได้มากยิ่งขึ้น
โดยทั่วไป ผู้ป่วยเบาหวาน จะใช้ยาไลนากลิปติน เพียงวันละ 1 ครั้งก็สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ทั้งวัน อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดของการใช้ยาไลนากลิปตินที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีระดับสารคีโตน(Ketone, สารเคมีปลายทางที่เกิดจากการสลายไขมันให้เป็นน้ำตาล)ในเลือดสูง
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ในการตรวจ/รักษา ต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอะไรอยู่ก่อน อย่างเช่นยา Rifampin
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติตับอ่อนอักเสบ
หากใช้ยาไลนากลิปตินอย่างถูกต้องตามแพทย์สั่ง ยานี้มักจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำ แต่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการใช้ยาไลนากลิปตินร่วมกับยารักษาเบาหวานชนิดอื่นๆ เช่น ยา Insulin หรือ Sulfonylureas โดยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการ อ่อนเพลีย วิงเวียน ง่วงนอน เป็นลม วิตกกังวล เหงื่อออกมาก นอกจากนี้ยังอาจทำให้ หัวใจเต้นเร็วขึ้น ทำให้เกิดอาการตาพร่า ปวดศีรษะ หนาวสั่น หรือทำให้รู้สึกหิวอาหาร เพื่อรักษาอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ ในเบื้องต้น ผู้ป่วยควรดื่มหรือกินอาหารที่เป็นแหล่งน้ำตาลโดยเร็ว เช่น น้ำตาล น้ำผึ้ง ขนมหวาน น้ำส้ม ก็จะช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็ว
อนึ่ง ที่สำคัญ การจะใช้ยาไลนากลิปตินได้อย่างปลอดภัย และเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายบุคคล จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว
ไลนากลิปตินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไลนากลิปตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ คือ
- ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2
ไลนากลิปตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไลนากลิปตินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอนจากตับอ่อน ส่งผลลดการผลิตน้ำตาลในตับ และยังกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนเช่นกัน ซึ่งกลไกทั้งหมดดังกล่าว ทำให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำลง จนเป็นเหตุให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
ไลนากลิปตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไลนากลิปตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยารักษาเบาหวานชนิดอื่น เช่น Linagliptin 2.5 มิลลิกรัม + Metformin 500 มิลลิกรัม/เม็ด, และ Linagliptin 2.5 มิลลิกรัม + Metformin 1,000 มิลลิกรัม / เม็ด
ไลนากลิปตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไลนากลิปตินมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิก ถึงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*อนึ่ง: ไม่ต้องปรับขนาดรับประทานยานี้ในผู้สูงอายุ หรือในผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคไต
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไลนากลิปติน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น ตับอ่อนอักเสบ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไลนากลิปตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไลนากลิปติน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไลนากลิปติน ตรงเวลา
ไลนากลิปตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไลนากลิปตินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อร่างกาย เช่น เยื่อจมูกอักเสบ คออักเสบ ไอ เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้ไลนากลิปตินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไลนากลิปติน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทมีเลือดเป็นกรด(Diabetic ketoacidosis)
- ห้ามนำยานี้ไปรักษาผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ด้วยยานี้ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิกที่แน่ชัดกับผู้ป่วยกลุ่มนี้
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากผู้ป่วยมีอาการตับอ่อนอักเสบ แล้วรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอถึงวันนัด
- ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไลนากลิปตินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไลนากลิปตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไลนากลิปตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไลนากลิปตินร่วมกับยา Pseudoephedrine จะรบกวนประสิทธิภาพของยาไลนากลิปติน และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาไลนากลิปตินร่วมกับยา Gatifloxacin อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูง กรณีที่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยบางรายอาจช็อก หมดสติ จนอาจถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาไลนากลิปตินร่วมกับยา Bexarotene (ยารักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง) อาจทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ หากต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาไลนากลิปตินร่วมกับยา Diazoxide จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาไลนากลิปตินด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยา และคอยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติอย่างสม่ำเสมอ
ควรเก็บรักษาไลนากลิปตินอย่างไร?
ควรเก็บยาไลนากลิปตินในช่วงอุณหภูมิ 20- 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
ไลนากลิปตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไลนากลิปตินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Trajenta Duo (ทราเจนตา ดูโอ) | Boehringer Ingelheim |
Trajenta (ทราเจนตา) | Boehringer Ingelheim |
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Dipeptidyl_peptidase-4_inhibitor [2016,Sept24]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Linagliptin [2016,Sept24]
- https://www.drugs.com/ppa/linagliptin.html [2016,Sept24]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/trajenta/?type=full#Indications [2016,Sept24]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/trajenta/?type=brief [2016,Sept24]