ไรฟาบิวติน (Rifabutin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไรฟาบิวติน (Rifabutin ย่อว่า Rfb) เป็นยาปฏิชีวนะที่เป็นอนุพันธ์กึ่งสังเคราะห์ของยา Rifampicin ถูกค้น พบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) ทางการแพทย์นำมาบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรค แต่ด้วยที่มีราคาแพงจึงใช้ไม่แพร่หลายเท่ากับ Rifampicin ปัจจุบันไรฟาบิวตินยังถูกนำไปรักษาอาการติดเชื้อวัณโรค (Mycobacterium avium complex) ในผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้ายอีกด้วย

จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยานี้พบว่า เมื่อไรฟาบิวตินถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 70% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลา 28 - 62 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ ยาไรฟาบิวตินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระบบสาธารณสุขในเขตชุมชน สำหรับประเทศไทยพบการใช้ยานี้ในสถานพยาบาลได้น้อย ด้วยเป็นยาที่ไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบกับมียาที่ใช้ทดแทนกันอยู่คือ Rifampicin

ยาไรฟาบิวตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไรฟาบิวติน

ยาไรฟาบิวตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้ป้องกันและบำบัดรักษาอาการติดเชื้อวัณโรค

ยาไรฟาบิวตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไรฟาบิวตินมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ DNA-dependent RNA polymerase ที่อยู่ในกระบวนการสร้างสารพันธุกรรมของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้หยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

ยาไรฟาบิวตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไรฟาบิวตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • เป็นยาแคปซูลชนิดรับประทานขนาด 150 มิลลิกรัม/แคปซูล

ยาไรฟาบิวตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไรฟาบิวตินมีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับป้องกันการติดเชื้อวัณโรค (Mycobacterium avium complex): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละครั้ง หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาจปรับขนาดรับ ประทานยาเป็น 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งทุกๆ 12 ชั่วโมง

ข.สำหรับรักษาการติดเชื้อวัณโรค (Mycobacterium avium complex): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละครั้ง หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาจปรับขนาดรับ ประทานยาเป็น 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งทุกๆ 12 ชั่วโมง

อนึ่ง:

  • การรักษาป้องกันวัณโรคในผู้ป่วยเอดส์ อาจใช้ยาไรฟาบิวตินร่วมกับยาต้านแบคทีเรียตัวอื่นๆ เช่นยา Clarithromycin, Ethambutol, Rifampicin, Clofazimine หรือยาอื่นซึ่งขึ้นอยู่กับคำสั่งแพทย์ และระยะเวลาของการใช้ยาขึ้นกับอาการโรคของผู้ป่วย ดังนั้นจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดยาจะขึ้นกับอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก และการใช้ยานี้ในเด็กยังมีข้อมูลที่จำกัด ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
  • ควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง คือ ประมาณ 1 ชม. ก่อนอาหาร หรือ ประมาณ 2 ชม. หลังอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไรฟาบิวติน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไรฟาบิวตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไรฟาบิวตินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาไรฟาบิวตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไรฟาบิวตินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ท้องเสีย
  • มีไข้
  • อาหารไม่ย่อย
  • แสบร้อนกลางอก
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้
  • ผื่นคัน
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • อุจจาระมีสีคล้ำ
  • หนาวสั่น
  • ไอ
  • ปวดตา
  • ปวดข้อ
  • การมองเห็นไม่ชัดเจน
  • กล้ามเนื้ออักเสบ
  • ผิวแลดูซีด
  • ปัสสาวะขัด
  • หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีแผลในปาก
  • อ่อนเพลีย
  • เจ็บคอ
  • อาเจียน
  • การรับรสชาติเปลี่ยนไป
  • ปวดท้อง
  • ท้องอืด
  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • ปัสสาวะ น้ำลาย และน้ำตามี สีส้ม แดง หรือน้ำตาล (จากสารบางชนิดจากยานี้)

มีข้อควรระวังการใช้ยาไรฟาบิวตินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไรฟาบิวตินดังนี้

มีข้อควรระวังการใช้ยาไรฟาบิวติน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่า ไรฟาบิวตินสามารถขับออกมาทางน้ำนมมารดาได้หรือไม่
  • หากพบอาการคล้ายกับแพ้ยาเช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หน้าบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้หยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อการรักษาอาการแพ้ยาและเพื่อปรับเปลี่ยนการรักษาใหม่
  • ระหว่างการใช้ยานี้
    • สามารถพบสารให้สี (สีน้ำตาล ส้ม หรือแดง) ในสารคัดหลั่งของร่างกาย เช่น น้ำตา น้ำลาย เหงื่อ
    • สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใส่อุปกรณ์ทางทันตกรรมในช่องปาก (เช่น ฟันปลอม) หรือผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ ควรถอดหรือเลี่ยงการสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว ด้วยสีที่ออกมากับสารคัดหลั่ง สามารถจับกับอุปกรณ์ทางทันตกรรมหรือคอนแทคเลนส์ได้อย่างถาวร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไรฟาบิวตินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไรฟาบิวตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไรฟาบิวตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไรฟาบิวติน ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิด สามารถทำให้ฤทธิ์ของการคุมกำเนิดด้อยประ สิทธิภาพลงไป หากมีการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกันแนะนำให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นเช่น การใส่ห่วงคุมกำเนิด (การใส่ห่วงอนามัย) หรือการใช้ถุงยางอนามัยชายร่วมด้วย
  • การใช้ยาไรฟาบิวติน ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin อาจทำให้ฤทธิ์การรักษาของ Warfarin ด้อยลงไป หากพบอาการเจ็บหน้าอก หายใจขัด บวมตามร่างกาย ต้องรีบไปโรงพยาบาล/แจ้งแพทย์ทันที กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทาน ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาไรฟาบิวติน ร่วมกับ ยาต้านไวรัสโรคเอดส์/ ยาต้านเอขไอวี เช่นยา Elvitegravir อาจทำให้ระดับยา Elvitegravir ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลต่อการรักษา จึงไม่ควรใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
  • การใช้ยาไรฟาบิวติน ร่วมกับ ยาต้านเอชไอวี บางตัวเช่นยา Indinavir อาจเสริมฤทธิ์ของยาไร ฟาบิวตินและก่อให้เกิดอาการข้างเคียงเพิ่มมากขึ้นเช่น ปวดหัว คลื่นไส้-อาเจียน ปวดท้อง มีไข้หนาวสั่น ปวดตามร่างกาย หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา หรือปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป

ควรเก็บรักษายาไรฟาบิวตินอย่างไร?

สามารถเก็บยาไรฟาบิวติน เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้อง
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาไรฟาบิวตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไรฟาบิวติน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Mycobutin (ไมโคบิวติน) Pfizer

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Rifabutin [2020,April4]
2 http://www.drugs.com/mtm/rifabutin.html [2020,April4]
3 http://www.mims.com/Hongkong/drug/info/Mycobutin/ [2020,April4]