ไมโทเทน (Mitotane)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 กุมภาพันธ์ 2560
- Tweet
- บทนำ
- ไมโทเทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไมโทเทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไมโทเทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไมโทเทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไมโทเทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไมโทเทนอย่างไร?
- ไมโทเทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไมโทเทนอย่างไร?
- ไมโทเทนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome)
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
บทนำ
ยาไมโทเทน(Mitotane)เป็นยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งของต่อมหมวกไต (Adrenocortical carcinoma)ที่ไม่สามารถใช้วิธีผ่าตัดในการรักษา และรักษาอาการ Cushing syndrome ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่ร่างกายมีฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid)มากเกินไป ทางการแพทย์จัดให้ยาไมโทเทนเป็นยาเคมีบำบัดแบบรับประทาน (Oral chemotherapeutic agent)
ยาไมโทเทน จะออกฤทธิ์กดการทำงานของต่อมหมวกไต แต่ไม่ได้ทำลายเซลล์ของต่อมหมวกไตแต่อย่างใด ตัวยาไมโทเทนยังอาจเป็นเหตุให้สมองได้รับความเสียหายได้อีกด้วย ทั้งนี้อาจมาจากเหตุผลที่ว่ายาไมโทเทนเป็น “อนุพันธ์ของยาฆ่าแมลง” ซึ่งไม่เพียงจะออกฤทธิ์กดการทำงานของต่อมหมวกไตเท่านั้น แต่ยังออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนต่างๆของร่างกายอีกด้วย
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาไมโทเทนเป็นยารับประทาน โดยมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและจะกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้เพียงประมาณ 35–40% ยาไมโทเทนละลายได้ดีในไขมัน การรับประทานยานี้พร้อมอาหารจะทำให้มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้มากยิ่งขึ้น ร่างกายจะสะสมยาไมโทเทนตามเนื้อเยื่อไขมันของร่างกาย ตับรวมถึงเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายจะเป็นผู้ทำลาย และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยาไมโทเทนอย่างต่อเนื่อง และอาจต้องใช้เวลา ประมาณ 18–159 วัน ในการกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ ระยะเวลาของการรักษาโดยใช้ยานี้อยู่ระหว่าง 1.5–12.5 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย
ส่วนมากผู้ที่รับประทานยาไมโทเทน จะมีอาการคลื่นไส้-อาเจียนในความรุนแรงระดับกลางๆ แพทย์จึงมักต้องจ่ายยาลดอาการคลื่นไส้-อาเจียน/ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนให้กับผู้ที่ใช้ยานี้ด้วย
ข้อห้ามใช้ของยาไมโทเทนมีไม่กี่ประการ เช่น ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาไมโทเทนรวมถึงผู้ป่วยที่ร่างกายได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง หรือผู้ที่อยู่ในภาวะช็อก
กรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาไมโทเทนเกินขนาด สามารถสังเกตได้จากอาการท้องเสีย อาเจียน ชามือ-เท้า อ่อนเพลีย การบำบัดรักษาผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดนั้นแพทย์จะดูแลและรักษาตามอาการ
อนึ่ง ยังมีข้อพึงระวังการใช้ยาไมโทเทนกับผู้ป่วยบางกลุ่มที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่อาจได้รับอันตรายจากการใช้ไมโทเทน อาทิ เช่น
- สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ถือเป็นกลุ่มที่ห้ามใช้ยาไมโทเทน ด้วยตัวยาสามารถทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
- สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร นักวิทยาศาสตร์พบว่ายานี้สามารถซึมผ่านออกมากับน้ำนมมารดาและผ่านเข้าสู่ทารกที่ดื่มนมมารดาได้ กรณีที่ต้องใช้ยาไมโทเทนกับ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องเปลี่ยนให้ทารกหันมาดื่มนมผงดัดแปลงแทนนมมารดา
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็กอย่างชัดเจน การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็กหรือไม่นั้น ควรต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- ผู้สูงอายุ: การใช้ยาไมโทเทนกับผู้สูงอายุ แพทย์จะเริ่มที่ขนาดต่ำๆก่อน ด้วยสภาพตับของผู้สูงอายุอาจทำหน้าที่ทำลายยาได้ไม่ดีเท่ากับคนทั่วไป การใช้ยาขนาดปกติจึงอาจทำให้ผู้สูงอายุได้รับผลข้างเคียงจากยาไมโทเทนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลของการใช้ยาไมโทเทนอีกมากมายที่ผู้ป่วยสามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกร ซึ่งเราจะพบการใช้ยาไมโทเทนแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น การใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสมปลอดภัยจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว
ไมโทเทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไมโทเทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดรักษาอาการโรคมะเร็งของต่อมหมวกไตที่ไม่สามารถรักษาโดยการผ่าตัด(Inoperable adrenocortical tumors)
- บำบัดอาการ Cushing syndrome
ไมโทเทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไมโทเทน ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ยานี้มีผลกดการทำงานของต่อมหมวกไต ส่งผลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึม(Metabolism/สันดาป)ของฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol)ของต่อมหมวกไต และทำให้การผลิตฮอร์โมน 17 Hydroxy corticosteroids ของต่อมหมวกไตลดลง จากกลไกที่เกิดขึ้น มีผลให้เนื้อร้ายที่บริเวณต่อมหมวกไตฝ่อตัวลง และยังสามารถบำบัดรักษาอาการของกลุ่มอาการคุชชิง(Cushing syndrome)ได้อีกด้วย
ไมโทเทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไมโทเทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของ Mitotane ขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด
ไมโทเทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานของยาไมโทเทนเฉพาะสำหรับการบำบัดโรคมะเร็งของต่อมหมวกไต ดังนี้ เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 2–6 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 3–4 ครั้ง ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 9–10 กรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 16 กรัม/วัน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาระยะเวลาของการใช้ยานี้ได้เหมาะสมที่สุดโดยดูจากการตอบสนองและประโยชน์ที่ผู้ป่วยได้รับ ทั้งนี้ ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารเพื่อเพิ่มการดูดซึมของตัวยาไมโทเทนจากระบบทางเดินอาหาร
อนึ่ง ขนาดยาที่ใช้ในการบำบัดอาการ Cushing syndrome จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นรายผู้ป่วยไป โดยขึ้นกับอาการและความรุนแรงของอาการของผู้ป่วย
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไมโทเทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาไมโทเทน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาต่างๆที่ใช้อยู่ก่อน เช่น การใช้ยาไมโทเทนร่วมกับยา Warfarin จะทำให้ฤทธิ์การรักษาของยาไมโทเทนด้อยลงไป
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไมโทเทน ให้รับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไมโทเทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไมโทเทนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดออกง่าย เกิดโลหิตจาง มีภาวะLeukopenia(เม็ดเลือดขาวทุกชนิดต่ำ)
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีการหลั่งน้ำลายมาก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน มีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หน้าแดง
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง มีภาวะตับอักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เลือดออกในทางเดินปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด มีโปรตีนใน ปัสสาวะ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า เลนส์ตา/แก้วตาขุ่น
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ฮอร์โมนของต่อมหมวกไตน้อยลง หน้าอก/เต้านมโตในผู้ชาย ต่อมไทรอยด์อักเสบ การเจริญเติบโตของร่างกายลดลง
มีข้อควรระวังการใช้ไมโทเทนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไมโทเทน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บขั้นรุนแรง ผู้ที่อยู่ในภาวะช็อก รวมถึง สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีของเม็ดยาเปลี่ยนไป
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วน ประกอบด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรงตามมา
- ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยโรคตับ
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามที่แพทย์สั่ง
- ระหว่างบำบัดรักษาด้วยยาไมโทเทน แพทย์จะคอยตรวจการทำงานของต่อมหมวกไต ของระบบเลือด การทำงานของตับ ระบบประสาท รวมถึงพฤติกรรมของผู้ป่วยมาประกอบร่วมกับการรักษา
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้งเพื่อรับการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไมโทเทนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑืเสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไมโทเทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไมโทเทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไมโทเทนร่วมกับยาที่ใช้รักษาโรคเอชไอวี /ยาต้านรีโทรไวรัส อย่างเช่นยา Darunavir, Rilpivirine, ด้วยจะทำให้ปริมาณความเข้มข้นของยารักษาโรคเอชไอวีในกระแสเลือดต่ำลงจนเป็นเหตุให้การรักษาเอชไอวี ด้อยประสิทธิภาพลงไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไมโทเทนร่วมกับยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง อย่างเช่น Nilotinib ด้วยจะทำให้ระดับยา Nilotinib ในกระแสเลือดลดต่ำลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์อาจต้องปรับระยะเวลาของการรับประทานยาทั้ง 2 ตัวให้ห่างกันอย่างเหมาะสมเสียก่อน
- การใช้ไมโทเทนร่วมกับยาฮอร์โมนคุมกำเนิด/ยาเม็ดคุมกำเนิด อย่างเช่น Estradiol จะทำให้ระดับยา Estradiol ในเลือดต่ำลงจนอาจเกิดภาวะประจำเดือนมาผิดปกติ หรือทำให้มีการตั้งครรภ์ตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานของยาทั้ง 2 ตัวให้เหมาะสมเป็นกรณีไป รวมถึงการใช้ถุงยางอนามัยชายในการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
- การใช้ยาไมโทเทนร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้ระดับของยา Hydrocodone ในกระแสเลือดต่ำลงจนทำให้ฤทธิ์การบำบัดอาการปวดของยา Hydrocodone ด้อยประสิทธิภาพลง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาไมโทเทนอย่างไร?
ควรเก็บยาไมโทเทนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด/แสงสว่าง ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไมโทเทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไมโทเทนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
LYSODREN (ไลโซเดรน) | Bristol-Myers Squibb |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/dosage/mitotane.html#Usual_Adult_Dose_for_Adrenal_Cortical_Carcinoma [2017,Feb4]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00648 [2017,Feb4]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/mitotane/?type=brief&mtype=generic [2017,Feb4]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Mitotane [2017,Feb4]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/mitotane-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Feb4]