ไมโซลาสทีน (Mizolastine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไมโซลาสทีน(Mizolastine) เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านการทำงานของสารฮีสตามีน(Histamine)โดยมีการออกฤทธิ์บริเวณตัวรับ(Receptor)ของผิวเซลล์ที่ตอบสนองต่อการกระตุ้นจากสารฮีสตามีน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า H1 receptor ทางคลินิกใช้ยาชนิดนี้บรรเทาอาการแพ้ต่างๆ เช่น ไข้ละอองฟาง(Hay fever) อาการระคายเคืองตาและจมูกตลอดจนผื่นคันต่างๆ

ยาไมโซลาสทีนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน สามารถใช้ได้กับผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

ข้อควรระวังที่ควรทราบเมื่อต้องการใช้ยาไมโซลาสทีน คือ

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไมโซลาสทีน
  • ห้ามใช้ยาชนิดนี้/ยานี้ร่วมกับยาปฏิชีวนะกลุ่ม Macrolide หรือยาต้านเชื้อรากลุ่ม Imidazole ด้วยจะทำให้การออกฤทธิ์ของยาไมโซลาสทีนเพิ่มมากขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆสูงขึ้นตามมาจากยาไมโซลาสทีน
  • ยานี้ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคตับ ด้วยมีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า ยาไมโซลาสทีนสามารถทำให้ตับทำงานผิดปกติได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพราะตัวยาจะรบกวน คลื่นไฟฟ้าของหัวใจ และอาจเป็นผลให้อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นได้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่ร่างกายมีภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ
  • องค์ประกอบในเม็ดยานี้จะมีน้ำตาลแลคโตสซึ่งใช้เป็นสารเพิ่มปริมาณ(Diluent) จึงไม่เหมาะที่จะใช้ยานี้กับผู้ที่ร่างกายขาดเอนไซม์ที่ใช้ย่อยแลคโตส (Lactose deficiency)
  • ระวังการใช้ยาชนิดนี้กับผู้สูงอายุ เพราะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ( เช่น หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นช้า)ได้ง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไมโซลาสทีนกับผู้ป่วยโรคเบาหวานเพราะจะทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทำได้ยากยิ่งขึ้น
  • *หากรับประทานยาชนิดนี้เกินขนาดต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุดโดยด่วน
  • ตัวยานี้สามารถทำให้เม็ดเลือดขาวลดต่ำได้ กรณีรับประทานยาไมโซลาสทีนแล้ว พบว่ามีอาการคล้ายติดเชื้อ ต้องหยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์โดยเร็ว
  • หากพบอาการหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เวียนศีรษะอย่างมาก ใบหน้าบวม ปากบวม หรือเกิดผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าตนเองแพ้ยาชนิดนี้เข้าแล้ว ต้องรีบนำ ผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที

ในต่างประเทศมีการวางจำหน่ายยาไมโซลาสทีนในลักษณะของยาสามัญประจำบ้านและสามารถซื้อหาโดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ อย่างไรก็ตามผู้บริโภค/ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยาไมโซลาสทีนอย่างถูกต้องปลอดภัยได้จากแพทย์หรือเภสัชกรตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป

ไมโซลาสทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไมโซลาสทีน

ยาไมโซลาสทีน เป็นยาต้านฮีสตามีน/ยาแก้แพ้ (Antihistamine)ที่ใช้บรรเทาอาการแพ้จาก ไข้ละอองฟาง และบรรเทาอาการแพ้ ระคายเคืองตา และจมูก นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นยาบรรเทาอาการผื่นคันตามผิวหนัง เช่น ลมพิษ เป็นต้น

ไมโซลาสทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ฮีสตามีน เป็นสารที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการแพ้ จะถูกปลดปล่อยจากเซลล์ เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Mast cell จากนั้นฮีสตามีนจะเข้าจับกับผิวเซลล์ในบริเวณตัวรับที่มีชื่อเรียกว่า H1 receptor และส่งผลให้เกิดอาการแพ้โดยแสดงออกมาในลักษณะ ต่างๆ เช่น ผื่นคัน ลมพิษ ระคายเคืองตา น้ำมูกไหล ซึ่งยาไมโซลาสทีนไม่สามารถยับยั้งการปลดปล่อยฮีสตามีนจาก Mast cell แต่ยาชนิดนี้จะปิดกั้นการเข้าจับของสารฮีสตามีนกับ H1 receptor จึงทำให้การกระตุ้นอาการแพ้ของร่างกายยุติลง

ไมโซลาสทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไมโซลาสทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน(Modified-release tablet) ที่ประกอบด้วย ตัวยา Mizolastine ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด

ไมโซลาสทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไมโซลาสทีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 1 เม็ด(10 มิลลิกรัม) พร้อมน้ำดื่มที่พอเพียง (1-2 แก้ว) วันละ1ครั้ง หรือตามคำสั่งแพทย์ โดยสามารถรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลด้าน ความปลอดภัย ประสิทธิผล และขนาดยานี้ ในเด็กวัยนี้

อนึ่ง:

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้พร้อมสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ทั่วไป ยาแก้แพ้ บางรายการ ผู้ป่วยสามารถหยุดใช้เมื่ออาการดีขึ้น กรณีของยาไมโซลาสทีน ผู้บริโภคสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ล่วงหน้าว่า ตนเองสามารถหยุดการใช้ยาไมโซลาสทีนได้หรือไม่เมื่ออาการแพ้ต่างๆดีขึ้นแล้ว

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวม ยาไมโซลาสทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไมโซลาสทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่รับประทานอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาไมโซลาสทีน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น

ไมโซลาสทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไมโซลาสทีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย หิวอาหารบ่อย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน
  • ผลต่อสภาพทางจิตใจ: เช่น อาจมีอาการ วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หรือเกิดอาการหอบหืด
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เป็นลม ใบหน้าบวม
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน

*อนึ่ง กรณีรับประทานยานี้เกินขนาด จะเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ไมโซลาสทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไมโซลาสทีน เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจ โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • การรับประทานยาไมโซลาสทีนร่วมกับยาใดๆควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ
  • หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะ ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรทุกชนิด เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียบ่อยครั้ง วิงเวียนศีรษะมาก ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไมโซลาสทีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไมโซลาสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไมโซลาสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาไมโซลาสทีนร่วมกับ ยา Erythromycin และ Ketoconazole เพราะจะ ทำให้ระดับยาไมโซลาสทีนในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่ รุนแรงตามมาจากยาไมโซลาสทีนร่วม
  • ห้ามใช้ยาไมโซลาสทีนร่วมกับ ยาBetahistine เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยา Betahistine ด้อยลงไป

ควรเก็บรักษาไมโซลาสทีนอย่างไร?

ทั่วไปยาไมโซลาสทีนมีอายุการใช้ยาหลังการผลิต 2-3 ปี ซึ่งสามารถเก็บยานี้ ดังนี้ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

ไมโซลาสทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไมโซลาสทีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Mizollen (มิซออลเลน)SANOFI
Mastel (มาสเทล)ACI

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/uk/mizollen-10mg-modified-release-tablets-leaflet.html [2018,Sept8]
  2. https://www.medicines.org.uk/emc/product/363/smpc [2018,Sept8]
  3. http://www.aci-bd.com/Brand/Mastel.pdf[2018,Sept8]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Mast_cell[2018,Sept8]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB12523[2018,Sept8]