ไมเกรน (Migraine)
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 26 ธันวาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคไมเกรนมีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- อะไรคือกลไกการเกิดโรคไมเกรน?
- โรคไมเกรนมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคไมเกรนได้อย่างไร?
- มีแนวทางการรักษาโรคไมเกรนอย่างไร?
- โรคไมเกรนรุนแรงไหม?
- มีผลข้างเคียงจากโรคไมเกรนไหม?
- ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
- ปวดหัว ปวดศีรษะ (Headache)
- อาการปวดศีรษะร้ายแรง:สัญญาณอันตรายของอาการปวดศีรษะ (Red Flag in Headache)
- ปวดศีรษะจากเครียด (Tension typed headache)
- โรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache)
- ปวดศีรษะข้างเดียว อาการปวดศีรษะข้างเดียว (Hemicranial Headache)
- ปวดศีรษะเรื้อรัง (Chronic daily headache)
- ยาไมเกรน ยาต้านไมเกรน (Antimigraine drugs)
บทนำ
โรคปวดศีรษะไมเกรน หรือโรคปวดหัวข้างเดียว หรือบางคนเรียกสั้นๆว่าโรคไมเกรน(Migraine) เป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่ง โดยมีอาการปวดศีรษะกำเริบเป็นพักๆ (Migraine attack) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะในระดับปานกลางถึงรุนแรง และมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ และตากลัวแสง เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรน มักมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย และปัจจุบันโรคนี้มียาที่สามารถรักษาบรรเทาอาการ และยาที่ป้องกันอาการกำเริบของโรค
มีการประมาณว่าใน 1 วัน ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนประมาณ 3,000 คนต่อประชากร 1 ล้านคน โดยพบอัตราเป็นโรคนี้สูงสุดในคนอเมริกาเหนือ รองลงมาคือคนอเมริกากลาง อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา
ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดยเฉลี่ยพบว่า ผู้หญิงประมาณ 15% จะเป็นโรคนี้ ใน ขณะที่ผู้ชายพบเป็นโรคนี้เพียงประมาณ 6%
อัตราสูงสุดของการเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนชนิดไม่มีอาการนำ ในผู้ชายอยู่ที่อายุ 10 -11 ปี ส่วนในผู้หญิง อยู่ที่ 14 - 17 ปี
ส่วนอัตราสูงสุดของผู้เป็นไมเกรนชนิดมีอาการนำ ในผู้ชายอยู่ที่อายุประมาณ 5 ปี ในผู้ หญิงประมาณ 12 - 13 ปี
โดยมีอัตราการเป็นโรคไมเกรนทุกชนิดสูงสุดทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายอยู่ที่ช่วงอายุ 30 -40 ปี ทั้งนี้แทบจะไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนเป็นครั้งแรกเมื่ออายุเลย 50 ปีไปแล้ว
โรคไมเกรนมีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไมเกรน คือ
ก. พันธุกรรม:
- ประมาณ 70% ของผู้ป่วยจะมีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรน
- และถ้ามีญาติที่เป็นโรคนี้โดยเฉพาะเป็นแบบมีอาการนำชนิดออรา (Aura คือ อาการที่เกี่ยวกับความรู้สึก เช่น เห็นแสงวาบ เห็นจุดดำๆ หรือรู้สึกซ่าในบริเวณใบหน้าและมือ เป็นต้น) โอกาสที่จะเป็นโรคนี้มีประมาณ 4 เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไป
- โดยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่ามีการถ่ายทอดผ่านจีนหรือยีน (Gene คือ ลักษณะทางพันธุกรรม) ตัวไหนชัดเจน แต่พบว่าอาจสามารถถ่าย ทอดผ่านทางจีนจากแม่สู่ลูกได้
- อย่างไรก็ตาม บางชนิดของโรคปวดศีรษะไมเกรน ทราบตำแหน่งจีนที่ผิดปกติชัดเจน คือ
- โรคไมเกรนชนิดมีอัมพาตครึ่งซีกร่วมด้วย (Familial hemiplegic migraine) เกิดจากมีความผิด ปกติที่บางตำแหน่งบนหน่วยพันธุกรรม (โครโมโซม/chromosome) คู่ที่ 1 หรือ 19 ซึ่งถ่าย ทอดทางพันธุกรรมได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะแบบมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกชั่ว คราวร่วมด้วย
ข. โรคอื่นๆ: บุคคลที่มีโรคบางอย่างจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนร่วมด้วย เช่น
- โรคลมชักบางชนิด
- โรคไขมันในเลือดสูงแบบที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- โรคหืด
- คนที่มีผนังกั้นห้องหัวใจห้องบนรั่ว
- โรคซึมเศร้า
- โรควิตกกังวล
- รวมทั้งโรคพันธุกรรมอีกหลายชนิด (ซึ่งมีชื่อเรียกที่ยากและยาว และพบได้น้อย จึงไม่ขอกล่าวถึง)
อะไรคือกลไกการเกิดโรคไมเกรน?
กลไกการเกิดโรคไมเกรน ยังไม่ละเอียดแน่ชัด ปัจจุบันกำลังค้นพบข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ ทฤษฎีแรกที่มีผู้เสนอไว้ คือ
- ทฤษฎีเกี่ยวกับหลอดเลือด (Vascular theory): ทฤษฎีนี้ถูกคิดขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ. 2483 โดย Wolff (แพทย์ชาวอเมริกัน) ซึ่งอธิบายว่า อาการนำก่อนปวดศีรษะชนิดออรา เกิดจากหลอดเลือดในสมองมีการหดตัว และเมื่อหลอดเลือดที่หดตัวขยายตัวออก จะทำให้มีอาการปวดศีรษะตามมา โดยหลักฐานสนับสนุนคือ พบหลอดเลือดนอกกะโหลกศีรษะมีการขยายตัวและเต้นตุ้บๆ และการให้ยาช่วยให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้อาการปวดศีรษะดีขึ้น ส่วนการให้ยาที่ขยายหลอดเลือด ทำให้อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ไม่สามารถอธิบายอาการนำก่อนปวดศีรษะชนิดไม่มีออรา รวมทั้งอาการร่วมที่เกิดระหว่างไมเกรนว่าเกิดได้อย่างไร นอกจากนั้น ยาบางตัวซึ่งไม่มีผลในการหดตัวของหลอดเลือด แต่ก็สามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ รวมทั้งการตรวจภาพหลอดเลือดสมองก่อนเกิดอาการและระหว่างเกิดอาการ ก็ไม่สนับสนุนทฤษฎีนี้ ดังนั้นปัจจุบันทฤษฎีนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่ยอบรับ
- ทฤษฎีเกี่ยวกับเซลล์ประสาท หลอดเลือด และสารสื่อประสาทร่วมกัน (Neurovascu lar theory): Leao ชาวบราซิล เป็นผู้เสนอทฤษฎีนี้ในปี พ.ศ. 2487 ซึ่งอธิบายว่า เซลล์ประ สาทในสมองบางตัวเกิดการตื่นตัว และปล่อยสารสื่อประสาท (สารเคมีที่มีหน้าที่ส่งต่อสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท) กระตุ้นเซลล์ประสาทใกล้เคียงให้ตื่นตัว และส่งต่อสัญญาณไปเรื่อยๆ การที่เซลล์ประสาทถูกกระตุ้นนี้ นำมาอธิบายการเกิดอาการนำก่อนการปวดศีรษะของผู้ป่วยได้ ส่วนอาการปวดศีรษะของผู้ป่วยอธิบายได้จาก เมื่อเซลล์ประสาทถูกกระตุ้นไปเรื่อยๆ จนไปกระ ตุ้นกลุ่มเซลล์ประสาทเฉพาะชนิดหนึ่ง เรียกว่า Trigerminal nucleus ซึ่งจะปล่อยสารเคมีหลายชนิดที่มีผลก่อให้เกิดอาการปวดเข้าสู่หลอดเลือด นอกจากสารเคมีกลุ่มนี้ก่อให้เกิดอาการปวดแล้ว ยังมีผลทำให้ หลอดเลือดขยายตัวอีกด้วย
จากทฤษฎีนี้ มีผู้ค้นพบเพิ่มเติมต่อไปอีกมากมาย เช่น
- จุดเริ่มต้นของการเกิดไมเกรน น่าจะมาจากเซลล์ประสาทในก้านสมอง (ควบคุมการหายใจ การทำงานของหัวใจ หลอดเลือด และความเจ็บปวด) และในสมองส่วนธาลามัส (สมองส่วนกลางที่ควบคุมสมดุลการรับรู้ความรู้ สึกของร่างกาย เช่น ด้านเสียง แสง และการได้ยิน)
- และได้มีการค้นพบว่าสารสื่อประสาทบางตัว คือ โดปามีน (Dopamine) และซีโรโทนิน (Serotonin) ที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดอาการต่างๆในไมเกรน
- และยังพบยาที่สะกัดการทำงานของสารสื่อประสาทที่ช่วยรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ เป็นต้น
โรคไมเกรนมีอาการอย่างไร?
สามารถแบ่งอาการจากโรคไมเกรนได้ดังนี้
- อาการนำ: คือ อาการที่เกิดนำก่อนการปวดศีรษะ อาจนำก่อนเป็นนาที่หรือเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน ซึ่งจากลักษณะอาการนำ แบ่งผู้ป่วยไมเกรนได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. อาการไมเกรนแบบคลาสสิก (Classical migraine): เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการนำ แบบออร่า โดย ก่อนปวดศีรษะ อาการออร่าจะเป็นอยู่นาน 5 - 20 นาที (ไม่เกิน 60 นาที) แล้วจะเว้นระยะไปพักหนึ่งก่อนปวดศีรษะ ซึ่งอาการออร่าแบ่งได้เป็นอาการ ทางตา ทางประสาทรับความรู้สึก และทางประสาทสั่งการ หรือหลายๆอาการร่วมกัน
- อาการทางตา ที่พบบ่อยคือ การเห็นแสงสว่างเกิดขึ้นเป็นจุดๆ โดยมีขอบของแสงแบบซิกแซก ซึ่งจะเริ่มเกิดตรงกลางก่อนที่จะขยายใหญ่ขึ้น บางครั้งอาจเห็นภาพผิดไปจากความเป็นจริง เช่น ภาพใหญ่ขึ้นจากปกติ เล็กกว่าปกติ เห็นภาพเป็นขาว-ดำ ไม่มีสี ร่วมด้วยได้ อาการอื่นเช่น ลานสายตาผิดปกติ เห็นภาพแคบลง หรือภาพตรงกลางหายไป
- อาการเกี่ยวกับประสาทรับความรู้สึก คือมีความรู้สึกผิดปกติที่ผิวหนัง เช่น รู้สึกคัน ชา ซ่า หรือแสบร้อน
- อาการเกี่ยวกับประสาทสั่งการ คือ มีความรู้สึกหนักที่แขนขา เหมือนไม่มีแรง แต่ไม่ใช่อัมพาตจริงๆ
2. อาการไมเกรนแบบพบบ่อย (Common migraine): เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการนำแบบออร่า แต่มีอาการนำอื่นๆแทน หรืออาจไม่มีการนำก็ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการนำก่อนที่จะปวดศีรษะได้นานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน ได้แก่
- รู้สึกไวกับแสง เสียง หรือกลิ่นมากกว่าปกติ
- รู้สึกเพลีย
- หาวบ่อย หิวบ่อย กินจุ หิวน้ำบ่อย
- ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
- อาการปวดศีรษะ: ที่เกิดตามมาหลังอาการนำในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะมีลักษณะดังนี้คือ
o มักเกิดในช่วงที่ผู้ป่วยตื่นอยู่ มีน้อยคนที่จะเกิดในขณะหลับและทำให้ต้องตื่นขึ้นมา
o อาการปวดศีรษะมักปวดข้างเดียว ไม่ขึ้นกับข้างซ้ายหรือขวา เป็นข้างไหนก็ได้ และแต่ละครั้งที่ปวดอาจจะย้ายข้างได้ ลักษณะปวดเป็นแบบตุ๊บๆ ความรุนแรงปานกลางหรืออาจปวดรุนแรง โดยมากจะปวดบริเวณขมับ ศีรษะด้านหน้าและรอบลูกตา ต่อมาอาการปวดจะลามไปด้านหลังของศีรษะและในที่สุดอาจปวดทั้งศีรษะ อาการปวดศีรษะจะเป็นอยู่นาน 4 - 72 ชั่วโมง
o การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการมีกิจกรรมต่างๆ จะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักชอบอยู่เงียบๆ และการนอนหลับจะทำให้อาการปวดดีขึ้น
- อาการอื่นๆ: ที่อาจพบร่วมกับอาการปวดศีรษะ คือ
o คลื่นไส้ อาเจียน
o เบื่ออาหาร
o ตากลัวแสง
o กลัวเสียง
o มึนศีรษะ เจ็บหนังศีรษะ
o เมื่ออาการปวดศีรษะหายไปแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการ อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนล้า รู้สึกหมดแรงตามมาได้ หรือในทางตรงกันข้าม อาจรู้สึกสดชื่น กระปรี้ประเปร่าผิดปกติก็ได้
- นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยไมเกรนกลุ่มอื่นๆที่พบได้น้อย คือ
1. โรคไมเกรนชนิดมีอัมพาตครึ่งซีกร่วมด้วย อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้นว่าโรคชนิดนี้พบมีความผิดปกติของจีนที่ชัดเจน ผู้ป่วยกลุ่มนี้พบได้น้อยมาก โดยจะมีอาการนำคือ แขน ขาครึ่งซีกอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต ร่วมกับมีอาการชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด ลานสายตาบอดไปครึ่งซีก อาจมีอาการซึมร่วมด้วยได้ อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่นาน 30 - 60 นาทีแล้วหายไป ตามด้วยอาการปวดศีรษะเหมือนไมเกรนทั่วๆไป
2. โรคไมเกรนชนิดเกิดกับใบหน้า (Facial migraine หรือ Carotidynia) เป็นโรคไมเกรนที่มักเกิดในคนอายุ 40 - 60 ปี ผู้ป่วยจะไม่ปวดศีรษะ แต่จะปวดบริเวณกรามและคอแทน จะปวดซีกเดียวและปวดแบบตุ๊บๆเหมือนกัน และหลอดเลือดบริเวณลำคอข้างที่ปวดจะเห็นเต้นตามจังหวะหัวใจได้ชัดเจน
3. โรคไมเกรนในเด็ก (Childhood periodic syndrome) เกิดขึ้นในเด็ก โดยเด็กจะมีอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน อาเจียนรุนแรง อาการกำเริบขึ้นเป็นช่วงๆ และเมื่อเด็กโตขึ้นก็จะเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนในที่สุด
4. โรคไมเกรนชนิดเกิดกับสมองส่วนด้านหลัง (Vertebrobasilar migraine) ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่มีอาการปวดศีรษะเหมือนกลุ่มข้างต้น แต่จะมีอาการอื่นๆแทน เช่น มึนงง เวียนศีรษะ พูดไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน และระบบการทรงตัวเสียไป
5. โรคไมเกรนชนิดเป็นอยู่นาน (Status migraine) คือผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะนานเกิน 72 ชั่วโมงขึ้นไป
แพทย์วินิจฉัยโรคไมเกรนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไมเกรน จาก
- การซักถามอาการผู้ป่วย และ
- การตรวจร่างกาย
- และมีเกณฑ์การวินิจฉัยเฉพาะโรคไมเกรนที่เป็นสากลใช้กันทั่วโลกซึ่งซับซ้อน จึงไม่ขอกล่าวรายละเอียด แต่ที่สำคัญ คือ ต้องแยกจากอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดอื่นๆให้ชัดเจน โดยเฉพาะโรคปวดศีรษะจากเครียด (Tension type headache) ซึ่งพบได้บ่อยมากกว่าโรคปวดศีรษะไมเกรนประมาณ 4 เท่า
- เพราะมีวิธีรักษาแตกต่างกัน
- และเพื่อแยกโรคทางระบบประสาทที่สำคัญอื่นๆออกไป เช่น เนื้องอกสมอง เป็นต้น
มีแนวทางการรักษาโรคไมเกรนอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคไมเกรน คือ
ก. หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น:
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้อาการปวดศีรษะกำเริบขึ้น ได้แก่ ความเครียด การนอนหลับมากหรือน้อยเกินไป การเจอแสงแดดจ้าหรือแสงไฟสว่างเกินไป กลิ่นที่รุนแรง เช่น น้ำหอม กลิ่นน้ำมันเครื่อง บุหรี่ อาหารบางอย่างก็อาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้ เช่น เนย โยเกิร์ต กล้วย ช็อคโกแลต ไส้กรอก ลูกเกด ถั่วต่างๆ ซีอิ๊ว น้ำส้มสายชู ผักดอง ผงชูรส สารให้ความหวานแทนน้ำตาล สารกันบูด ชา กาแฟ แอลกอฮอล์
- ช่วงวงรอบประจำเดือน) สภาพอากาศที่เย็นเกินไป หรือที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน เกิด ติดเชื้อเจ็บป่วยไม่สบาย เมารถ เมาเรือ
- ทั้งนี้ในผู้ป่วยแต่ละคน ปัจจัยกระตุ้นจะไม่เหมือนกัน และบางคนอาจจะไม่ทราบสิ่งกระตุ้นที่ชัดเจน ผู้ป่วยไมเกรนจึงต้องสังเกตตัวกระตุ้นอาการเสมอเพื่อการหลีกเลี่ยง
ข. การใช้ยารักษา: มีหลักการคือ การใช้ยาเพื่อบรรเทาขณะมีอาการปวดศีรษะ, การใช้ยาในระหว่างที่ไม่ได้มีอาการปวดศีรษะเพื่อป้องกันและลดความถี่ ลดความรุนแรงในการกำเริบของอาการ, และการใช้ยารักษาอาการร่วมต่างๆนอกเหนือจากการปวดศีรษะ
- การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการขณะปวดศีรษะ: มียาอยู่หลายกลุ่มให้เลือกใช้ ขึ้นกับความรุนแรงของอาการทั้งแบบกินและแบบฉีด ที่รู้จักกันดี คือ
- ยาคาเฟอร์กอท(Cafergot)
- การใช้ยาเพื่อป้องกัน ลดความถี่และความรุนแรงของอาการ: มียาอยู่หลายตัวให้เลือกใช้เช่นกัน ผู้ป่วยต้องมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้ จึงจะพิจารณาให้ได้รับยา คือ
- การปวดศีรษะกำเริบมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน
- การปวดศีรษะแต่ละครั้ง กินเวลานานมากกว่า 24 ชั่วโมง
- การปวดศีรษะแต่ละครั้ง ทำให้ทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันปกติไม่ได้
- ใช้ยาในกลุ่มที่บรรเทาอาการขณะปวดศีรษะหลายตัวแล้วไม่ได้ผล
- ใช้ยาในกลุ่มที่บรรเทาอาการขณะปวดศีรษะบ่อยมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์
- ใช้ยารักษาอาการอื่นๆที่เกิดขณะปวดศีรษะ เช่น ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน
อนึ่ง: แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ยาไมเกรน ยาต้าน ไมกรน’
ค. การใช้วิธีทางการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ: เช่น การใช้หลักทางจิตวิทยามาร่วมรักษา การสะกดจิต การฝึกโยคะ การฝังเข็ม การใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้น เป็นต้น
โรคไมเกรนรุนแรงไหม?
ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของไมเกรน คือ
- โรคปวดศีรษะไมเกรนเป็นโรคเรื้อรัง แต่มีโอกาสหายได้ โดยพบว่าประมาณ 30 - 40% ของผู้ป่วยไมเกรนที่เป็นมา 15 ปีแล้ว จะไม่มีอาการปวดศีรษะกำเริบมาอีกเลย
- ในช่วงที่ผู้ป่วยอายุน้อย อาการปวดศีรษะจะเป็นถี่และรุนแรงกว่าเมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้น โดยเฉพาะหลังอายุ 40 ปี ความถี่และความรุนแรงของอาการปวดจะลดลง
- ยกเว้นในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนถาวร ที่อาการอาจกลับมาเลวลงอีก
มีผลข้างเคียงจากโรคไมเกรนไหม?
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากโรคไมเกรน คือ
- ผู้ป่วยโรคไมเกรนแบบมีออร่าเป็นอาการนำ จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (เช่น โรคหัวใจขาดเลือด) และโรคหลอดเลือดสมอง (เช่น หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก) มากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า
- ส่วนผู้ป่วยไมเกรนแบบไม่มีออร่าเป็นอาการนำ อาจมีความเสี่ยงของโรคดังได้กล่าวเหล่านี้เพิ่มขึ้นได้บ้าง
- ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มบรรเทาอาการขณะปวดศีรษะบางตัวบ่อยเกินไป แทนที่จะช่วยบรรเทาอาการ อาจกลับทำให้อาการรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนเรื้อรัง(Chronic migraine) คือมีอาการปวดศีรษะในแต่ละครั้งยาวนานมากกว่า 15 วัน และอาการนี้เป็นอยู่นานมากกว่า 3 เดือน
ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
การดูแลตนเอง/การพบแพทย์สำหรับผู้ป่วยไมเกรน คือ
1. ถ้าอาการปวดศีรษะรุนแรง ร่วมกับมีไข้ หรืออาเจียนมาก ไม่ว่าเป็นโรคไมเกรนอยู่แล้ว หรือไม่เคยปวดศีรษะเรื้อรังมาก่อน ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพราะอาจมีโรคอื่นเกิดขึ้นมาใหม่ เช่น โรคสมองอักเสบ หรือเนื้องอกสมอง
2. ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรังบ่อยๆ ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะอาจไม่ตรงกับโรค เนื่องจากโรคปวดศีรษะแบบเรื้อรังมีอยู่หลายโรค เช่น จากความเครียด จึงควรพบแพทย์ที่เคยให้การรักษา เพราะจะได้ติดตามอาการของผู้ป่วย และได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง หรือเมื่อยังไม่เคยพบแพทย์เลย ก็ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุและการรักษาที่เหมาะสม
3. ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไมเกรนแล้ว ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ต่อเนื่อง ไม่ควรซื้อยากินเอง เนื่องจากการใช้ยารักษาบางตัวที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการติดยา มีผล ข้างเคียงเกิดขึ้น และที่สำคัญ คือ ทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนเป็นโรคไมเกรนแบบเรื้อรัง ซึ่งยากต่อการรักษา
4. ผู้ป่วยควรมีแพทย์ที่ดูแลประจำ ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์หรือเปลี่ยนโรงพยาบาลที่รัก ษาหลายโรงพยาบาล เพราะจะไม่สามารถติดตามอาการ และประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดที่กำลังรักษาอยู่ได้
5. ผู้ป่วยควรสังเกตตัวเองให้ดีว่า สิ่งใดเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการปวดศีรษะกำเริบขึ้น มา จะได้หลีกเลี่ยง
6. เนื่องจากผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงควรดูแลร่างกายลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆในการเกิดโรคนี้ด้วย เช่น
- การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- การไม่สูบบุหรี่
- การหลีกเลี่ยงยาคุมกำเนิดชนิดมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (รู้ได้โดยการอ่านที่ฉลากยาข้างกล่อง หรือปรึกษาเภสัชกร ถ้าซื้อยากินเอง)
- และการควบคุม น้ำหนักตัว ไขมันในเลือด และน้ำตาลในเลือด
บรรณานุกรม
- Neil H. Raskin, Stephen J. Peroutka, headache including migraine and cluster headache, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001.
- https://emedicine.medscape.com/article/1142556-overview#showall [2019,Dec7]