ไมคาฟังกิน (Micafungin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไมคาฟังกิน (Micafungin หรือ Micafungin sodium) เป็นยาต้านเชื้อราที่อยู่ในกลุ่มแอคไคโนแคนดิน (Echinocandin, ยาต้านเชื้อราชนิดออกฤทธ์ที่ผนังเซลล์ของเชื้อรา) โดยมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของเชื้อรานั่นเอง ด้วยการดูดซึมของยานี้จากระบบทางเดินอาหารมีระดับต่ำมาก ผลิตภัณฑ์จึงถูกออกแบบเป็นยาชนิดฉีด ยาที่อยู่ในกระแสเลือดสามารถกระจายตัวไปตามเนื้อเยื่อของร่างกายได้อย่างรวดเร็วและมีการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนถึงประ มาณ 99% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 14 - 17.2 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาไมคาฟังกินออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) ทางคลินิกได้นำยานี้มาต่อต้านเชื้อราประเภทแคนดิดา (Candidemia) และใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ยาไมคาฟังกินถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขบางประการที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยานี้ได้ หรือไม่ก็ต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมากอาทิ

  • มีประวัติแพ้ยาในกลุ่มแอคไคโนแคนดิน
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงต่อการใช้ยาทุกประเภทซึ่งรวมยาไมคาฟังกินด้วย
  • หากหลีกเลี่ยงได้ไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำอย่างเช่น ผู้ป่วย เอชไอวี (HIV) ผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ-ไต
  • ผู้ที่มีการใช้ยาบางกลุ่มอยู่ก่อน หากใช้ยาไมคาฟังกินร่วมด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากกลุ่มยาต่างๆเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้นอย่างเช่น Itraconazole, Nifedipine, Sirolimus
  • ยานี้ใช้ต่อต้านเชื้อรา ไม่เหมาะและถือเป็นข้อห้ามในการนำมารักษาอาการติดเชื้อไวรัส และติดเชื้อแบคทีเรียเพราะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสและฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้

กรณีที่แพทย์สั่งจ่ายยาไมคาฟังกินให้กับผู้ป่วย อาจจะพบอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) บางอย่างที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเช่น ท้องเสีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง นอนไม่หลับ และอาเจียน

ยาไมคาฟังกินจัดอยู่ในประเภทยาอันตราย การให้ยานี้กับผู้ป่วยจะต้องกระทำแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยาไมคาฟังกินเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกรในสถานพยาบาลนั้นๆ

ไมคาฟังกินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไมคาฟังกิน

ยาไมคาฟังกินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • รักษาการติดเชื้อราชนิดแคนดิดาที่หลอดอาหาร (Esophageal candidiasis)
  • ใช้ป้องกันการติดเชื้อราที่ตอบสนองกับยานี้ (Fungal infection prophylaxis)
  • บำบัดรักษาการติดเชื้อราแคนดิดาในกระแสเลือด (Candidemia)

ไมคาฟังกินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไมคาฟังกินคือ ตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ซึ่งมีอยู่ในเชื้อราและมีชื่อเรียกว่า 1,3-เบต้า-ดี-กลูแคน ซินเทส (1,3-beta-D-glucan synthase) ส่งผลให้เชื้อราอย่างแคนดิดาไม่สามารถสร้างผนังเซลล์ได้ทำให้เซลล์ของเชื้อราแตกออกและตายลงในที่สุด จากกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ไมคาฟังกินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไมคาฟังกินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดขนาด 50 มิลลิกรัม/ขวด

ไมคาฟังกินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไมคาฟังกินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

ก. สำหรับการติดเชื้อราแคนดิดาในกระแสเลือด (Candidemia):

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 100 มิลลิกรัมวันละครั้ง เฉลี่ยใช้เวลา 15 วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้ง ขนาดการใช้สูงสุดไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน

ข. สำหรับป้องกันการติดเชื้อรา (Fungal infection prophylaxis):

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 50 มิลลิกรัมวันละครั้ง เฉลี่ยใช้เวลา 19 วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้ง ขนาดการใช้สูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/วัน

ค. สำหรับการติดเชื้อราแคนดิดาที่หลอดอาหาร (Esophageal candidiasis):

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 150 มิลลิกรัมวันละครั้ง เฉลี่ยใช้เวลา 15 วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 30 กิโลกรัมลงมา: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้ง ขนาดการใช้สูงสุดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม /วัน
  • เด็กอายุ 4 เดือนขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 30 กิโลกรัมขึ้นไป: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้ง ขนาดการใช้สูงสุดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/วัน

*อนึ่ง

  • ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกในการใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 เดือนลงมา การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • ขนาดยาสูงสุดในแต่ละวัน ระยะเวลาการใช้ยานี้ โดยทั่วไปขึ้นกับความรุนแรงของอาการและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไมคาฟังกิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไมคาฟังกิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ไมคาฟังกินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไมคาฟังกินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาจพบอาการตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
  • ต่อระบบเลือด: เช่น ก่อให้เกิดภาวะโลหิตจาง Neutropenia (เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำ) Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ) Pancytopenia (เม็ดเลือดทุกชนิดต่ำ) Leukopenia (เม็ดเลือดขาวทุกชนิดต่ำ) รวมถึงภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน เลือดออกในกะโหลกศีรษะ มีภาวะชัก
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นช้า หลอดเลือดดำอักเสบ ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ อาจเกิดภาวะช็อกขึ้นได้
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ อาจมีภาวะ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อตับ: เช่น ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้นเช่น Alkaline phosphatase และ Aspartate aminotransferase เซลล์ตับถูกทำลาย/ตับอักเสบ มีภาวะตับโต ตัวเหลือง ตับวาย
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรืออาจเพิ่มสูงขึ้น ระดับเกลือโซเดียมในเลือดสูง โพแทสเซียมในเลือดสูงหรือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ระดับเกลือฟอสเฟต (Phosphate) ในเลือดต่ำ ระดับเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ เบื่ออาหาร ตัวบวม
  • ผลต่อไต: เช่น ทำให้ไตเสียหาย/ไตอักเสบ ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ไตวายเฉียบพลัน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีอาการไอ ปอดบวม เกิดภาวะหยุดหายใจ ตัวเขียวคล้ำด้วยร่างกายขาดออกซิเจน

มีข้อควรระวังการใช้ไมคาฟังกินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไมคาฟังกินเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยาในกลุ่มแอคไคโนแคนดิน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ระหว่างการให้ยานี้แล้วพบว่ามีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นเช่น มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว แน่นหน้าอก/ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ต้องหยุดการให้ยานี้ทันที พร้อมกับรีบแจ้งแพทย์/พยาบาล ทันที/ฉุกเฉินเพื่อทำการรักษาการแพ้ยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับโรคไตด้วยตัวยาไมคาฟังกินสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะดังกล่าวได้
  • หากพบอาการข้างเคียงที่รุนแรงเช่น ตัวเหลือง ปัสสาวะไม่ออก ไตวาย ตัวเขียวคล้ำ ต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและต้องมารับการให้ยานี้จนครบคอร์ส (Course) การรักษาถึงแม้อาการจะดีขึ้น
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไมคาฟังกินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไมคาฟังกินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไมคาฟังกินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาไมคาฟังกินร่วมกับยา Amphotericin B อาจทำให้ระดับยา Amphotericin B ในกระแสเลือดมีมากขึ้นจนส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ เกิดภาวะชัก อาจสูญเสียการได้ยิน/หูดับ ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะ สมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาไมคาฟังกินร่วมกับยา Sirolimus อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง)จากยา Sirolimus ตามมาเช่น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น มีภาวะเลือดออกง่าย อ่อนเพลีย ปวดขณะปัสสาวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาไมคาฟังกินอย่างไร

ควรเก็บยาไมคาฟังกินภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไมคาฟังกินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไมคาฟังกินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัมผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Mycamine (มายคามีน) Astellas Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Micafungin [2016,April23]
  2. http://www.drugs.com/cdi/micafungin.html [2016,April23]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/micafungin/?type=brief&mtype=generic [2016,April23]
  4. http://www.drugs.com/dosage/micafungin.html#Usual_Adult_Dose_for_Candidemia [2016,April23]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/micafungin-index.html?filter=2&generic_only= [2016,April23]