ไฟโบรมัยอัลเจีย (ตอนที่ 2)

ไฟโบรมัยอัลเจีย-2

      

แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนของการเกิดโรคไฟโบรมัยอัลเจีย แต่สันนิษฐานว่ามาจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น

  • พันธุกรรม (Genetics) ที่ผิดปกติ
  • การติดเชื้อที่เป็นตัวกระตุ้น
  • การได้รับบาดเจ็บทางร่างกายหรือจิตใจ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ ความเครียด เป็นต้น

นักวิจัยเชื่อว่า การที่ประสาทถูกกระตุ้นซ้ำ ๆ เป็นสาเหตุให้สารเคมีในสมองหรือสารสื่อประสาท (Neurotransmitters) ที่รับรู้ความเจ็บปวดมีการเปลี่ยนแปลงและไวต่อความรู้สึก กล่าวคือ ทำให้มีความรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าปกติ

สำหรับปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการทำให้เกิดโรคไฟโบรมัยอัลเจีย ได้แก่

  • เพศ - มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
  • ประวัติครอบครัว
  • มีความผิดปกติอย่างอื่น เช่น โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) หรือ โรคเอสแอลอีหรือลูปัส (Systemic lupus erythematosus / Lupus)

ส่วนอาการแทรกซ้อนของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย ได้แก่

  • อาการปวดและอาการนอนไม่หลับซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตหรือความสามารถในการทำงานด้อยลง
  • เป็นโรคซึมเศร้าหดหู่และวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของร่างกาย
  • มีอัตราการฆ่าตัวตายและทำร้ายร่างกายสูง
  • มีอัตราในการเป็นโรคเกี่ยวกับไขข้ออักเสบ (Rheumatic) สูง เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี และ โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด (Ankylosing spondylitis)

ในส่วนของการวินิจฉัยโรค แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย 18 จุด เพื่อดูว่ามีจุดไหนบ้างที่กดแล้วเจ็บ และสอบประวัติว่ามีอาการปวดทั่วร่างกายมานานมากกว่า 3 เดือน โดยไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวด

นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้การเอ็กซเรย์ และการตรวจเลือดเพื่อตัดสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการใกล้เคียงกันออกไป เช่น

  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count)
  • การตรวจอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงใน 1 ชั่วโมง (Erythrocyte sedimentation rate) ที่เป็นการตรวจที่บ่งบอกว่ามีการอักเสบ แต่ไม่ได้บอกสาเหตุของการอักเสบ
  • การตรวจ (Cyclic citrullinated peptide test)
  • การตรวจค่า Rheumatoid factor
  • การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid function tests)

แหล่งข้อมูล:

  1. Fibromyalgia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/fibromyalgia/symptoms-causes/syc-20354780 [2020, Jul 7].
  2. Fibromyalgia. https://www.cdc.gov/arthritis/basics/fibromyalgia.htm [2020, Jul 7].
  3. Fibromyalgia. https://www.rheumatology.org/I-Am-A/Patient-Caregiver/Diseases-Conditions/Fibromyalgia [2020, Jul 7].