ไฟโบรมัยอัลเจีย (ตอนที่ 1)

ไฟโบรมัยอัลเจีย-1

      

จากที่ดาราสาวได้โพสต์ถึงอาการป่วยของตัวเองผ่านอินสตาแกรม ด้วยการเขียนข้อความเกี่ยวกับโรค "ไฟโบรมัยอัลเจีย" ซึ่งเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้ผู้ที่ป่วยเจ็บปวดกล้ามเนื้อ ทำให้นอนไม่หลับ มีอาการอ่อนเพลีย และมีปัญหาเรื่องความจำและสมาธิ

เธอกล่าวว่า อาการแย่มากจนทำให้เธอเคยคิดสั้นจะฆ่าตัวตายและเกือบเป็นอัมพฤตมาแล้ว รวมทั้งทำให้เป็นโรคซึมเศร้าด้วย เพราะอาการเจ็บปวดที่ทรมานมากแบบที่อธิบายไม่ได้และไม่มีคนเข้าใจ

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นความผิดปกติเรื้อรังที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อและกระดูกทั่วตัว (Musculoskeletal) ร่วมกับมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ มีปัญหาด้านความจำและอารมณ์ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า โรคไฟโบรมัยอัลเจียไปขยายความรู้สึกของสมองในกระบวนการรับรู้ความเจ็บปวด ทำให้มีการรับรู้ความเจ็บปวดได้มากกว่าคนปกติทั่วไป (Central Pain Amplification disorder)

โรคไฟโบรมัยอัลเจียไม่ใช่โรคภูมิแพ้ตัวเอง ไม่ได้เกิดจากการอักเสบ แต่เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท มีอาการปวดเป็นๆ หายๆ ไปทั่วร่างกาย มีประชากรร้อยละ 2-4 เป็นโรคนี้ และเป็นโรคที่เกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนมากมักเป็นในวัยกลางคน โดยอาการที่เกิดขึ้น ได้แก่

  • ปวดกระจายไปทั่วร่างกายทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ส่วนบนและส่วนล่างนานอย่างน้อย 3 เดือน
  • สมองล้า (Fibro fog) ขาดสมาธิ
  • หดหู่ซึมเศร้าและวิตกกังวล
  • ท้องไส้ปั่นป่วน
  • ปวดไมเกรนหรือปวดศีรษะแบบอื่นๆ
  • นอนไม่หลับ
  • เป็นเหน็บชาตามมือและเท้า
  • มีปัญหาระบบการย่อย เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome = IBS) และ กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease = GERD)
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง (Interstitial Cystitis) หรือปวดกระเพาะปัสสาวะ
  • มีภาวะความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular joint disorders)

แหล่งข้อมูล:

  1. “ใหม่ สุคนธวา” เล่าความทรมาน หลังตรวจพบป่วยโรค “ไฟโบรมัยอัลเจีย”. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%87/125629?utm_source=web_pptv&utm_medium=top_entnews_2&utm_campaign=125475 [2020, Jul 6].
  2. Fibromyalgia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/fibromyalgia/symptoms-causes/syc-20354780 [2020, Jul 6].
  3. Fibromyalgia. https://www.cdc.gov/arthritis/basics/fibromyalgia.htm [2020, Jul 6].
  4. Fibromyalgia. https://www.rheumatology.org/I-Am-A/Patient-Caregiver/Diseases-Conditions/Fibromyalgia [2020, Jul 6].