ไฟเบรต (Fibrate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาไฟเบรต (Fibrate) หรือ อนุพันธุ์ของกรดไฟบริค (Fibric acid derivatives) คือ กลุ่มยาที่มีโครงสร้างทางเคมีประเภทกรดแอมพิฟาติก คาร์บอกไซลิค (Amphipatic carboxylic acids, สารเคมีที่สัมพันธ์กับกรดไขมัน) ยานี้ถูกนำมาใช้รักษาโรคไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglycerides) อีกทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณไขมันคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี เช่น เฮชดีแอล-คอเลสเตอรอล (HDL-cholesterol) แต่ยากลุ่มไฟเบรตไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนักในการลดไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี/ไขมันประเภทแอลดีแอล (LDL-cholesterol)

จากข้อมูลทางคลินิกพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากๆจะนำไปสู่ภาวะตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) และเป็นอีกหนึ่งกรณีที่ยากลุ่มไฟเบรตมีบทบาทถูกนำมาใช้ป้องกันภาวะตับอ่อนอักเสบจากสาเหตุนี้

ตัวอย่างยากลุ่มไฟเบรตที่มีใช้ในปัจจุบันอาทิ เช่นยา Bezafibrate, Ciprofibrate, Clofibrate, Fenofibrate, และ Gemfibrozil

รูปแบบของยากลุ่มไฟเบรตมักเป็นยาชนิดรับประทานเสียเป็นส่วนมาก และผลข้างเคียงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างมากของยากลุ่มนี้คือ ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย/กล้ามเนื้อบาดเจ็บอักเสบอย่างรุนแรง(Rhabdomyolysis), รวมไปถึงภาวะไตวาย

ปัจจุบันคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาบางตัวในกลุ่มไฟเบรตลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่นยา Fenofibrate และ Gemfibrozil ทั้งนี้ความเหมาะสมของการใช้ยาตัวใดในการรักษา จะต้องขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรจะไปเสาะหาหรือซื้อยามารับประทานเอง

ไฟเบรตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ไฟเบรต

ยากลุ่มไฟเบรตมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้รักษาภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูงโดยจะออกฤทธิ์ลดไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ได้ดี

ไฟเบรตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากลุ่มไฟเบรตมีกลไกการออกฤทธิ์ เช่น

  • กระตุ้นกระบวนการของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับไขมันที่เรียกว่า Lipoprotein lipolysis ส่งผลให้ไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ลดลง
  • กระตุ้นกระบวนการดูดจับกรดไขมันเข้าสู่ตับร่วมกับลดการผลิตไตรกลีเซอไรด์ของตับ
  • เพิ่มการจับตัวของไขมันคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (LDL) กับตัวรับ(Receptors) ในร่างกายจึงทำให้เกิดการเผาผลาญไขมันได้เร็วขึ้น
  • ลดกระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีระหว่างไขมันคอเลสเตอรอลชนิดวีแอลดีแอล (VLDL) และชนิดเฮชดีแอล (HDL) จนเป็นผลให้ลดไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดได้
  • ทำให้ร่างกายสร้างไขมันคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีคือ เอชดีแอล (HDL) เพิ่มมากขึ้น และกระ ตุ้นปฏิกิริยาย้อนกลับของการลำเลียง/การทำงานของไขมันคอเลสเตอรอล (Cholesterol transport)

ทั้งนี้ จากกลไกทั้งหมดดังกล่าวจึงทำให้ยากลุ่มไฟเบรตมีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

ไฟเบรตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากลุ่มไฟเบรตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาเม็ด ขนาด 450, 600 และ 900 มิลลิกรัม/เม็ด เช่นยา Gemfibrozil
  • ยาเม็ด ขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด เช่นยา Clofibrate
  • ยาเม็ด ขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัม/เม็ด เช่นยา Benzafibrate
  • ยาเม็ด ขนาด 145 และ 160 มิลลิกรัม/เม็ด เช่นยา Fenofibrate
  • ยาเม็ด ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด เช่นยา Ciprofibrate
  • ยาแคปซูล ขนาด 300 มิลลิกรัม/แคปซูล เช่นยาGemfibrozil
  • ยาแคปซูล ขนาด 100, 135, 200 และ 300 มิลลิกรัม/แคปซูล เช่นยา Fenofibrate

ไฟเบรตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยากลุ่มไฟเบรตมีหลายตัวยาซึ่งจะมีขนาดรับประทานแตกต่างกันไป ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะชนิดที่ใช้บ่อยสำหรับโรคไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidaemias) เช่น

ก. Fenofibrate: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 67 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง หรือรับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): รับประทาน 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารจะช่วยเพิ่มการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น

ข. Gemfibrozil: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 1.2 กรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น โดยขนาดรับประ ทานเพื่อคงระดับการรักษา 0.9 - 1.5 กรัม/วัน
  • เด็ก: ห้ามใช้ Gemfibrozil กับเด็ก
  • อนึ่ง: ควรรับประทานยาในช่วงท้องว่างหรือก่อนอาหาร ½ ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

ค. Clofibrat: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 2 กรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 4 ครั้งทุก 6 ชั่วโมง
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาถึงขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
  • อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

ง. Bezafibrate: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง อาจเพิ่มขนาดรับประทานทีละน้อยภายใน 5 - 7 วันแรก โดยขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาถึงขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
  • อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร

จ. Ciprofibrate: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 100 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาถึงขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
  • อนึ่ง: อาจรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากลุ่มไฟเบรต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยา แล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไฟเบรตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยากลุ่มไฟเบรต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม หากลืมรับประทานยาบ่อยๆหลายครั้งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการรักษาได้

ไฟเบรตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มไฟเบรตสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ปวดหัว
  • วิงเวียน
  • อ่อนแรง
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผิวแพ้แสงแดดง่าย (ผิวหนังอักเสบ และ/หรือขึ้นผื่นเมื่อผิวถูกแสงแดดโดยตรง/ผื่นแพ้แสงแดด)
  • ช่องคลอดอักเสบ
  • ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ไซนัสอักเสบ
  • เยื่อจมูกอักเสบ
  • ไอ
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ตับอักเสบ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ผื่นคัน
  • ลมพิษ
  • ดีซ่าน
  • กดไขกระดูก (ตรวจพบจากการตรวจเลือด ซีบีซี/CBC, โดยพบมีเม็ดเลือดต่ำ)
  • เกิดภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ
  • เป็นพิษกับไต /ไตอักเสบ
  • เส้นประสาทอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ไฟเบรตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มไฟเบรต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มไฟเบรต
  • ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง ผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดี
  • ห้ามใช้ยานี้บางตัวกับเด็ก เช่น Gemfibrozil ดังนั้นการจะเลือกใช้ยาตัวใดกับผู้ป่วยเด็กจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • หากพบผลข้างเคียงเรื่องการทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • หากใช้ยานี้ไปแล้ว 2 เดือนผลการรักษาไม่ดีขึ้น ควรหยุดยาแล้วกลับไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ประเมินแนวทางการรักษาใหม่
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน), ผู้ป่วยเบาหวาน ,ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มไฟเบรตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไฟเบรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากลุ่มไฟเบรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Fenofibrate ร่วมกับยา Cyclosporin อาจทำให้ความเข้มข้นของยา Cyclosporin ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้เป็นพิษกับไต จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
  • การใช้ยา Gemfibrozil หรือยา Clofibrate หรือยา Ciprofibrate ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยา Bezafibrate ร่วมกับยา Colestyramine จะทำให้ยับยั้งการดูดซึมของยา Bezafibrate จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกัน

ควรเก็บรักษาไฟเบรตอย่างไร?

ควรเก็บยากลุ่มไฟเบรต เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ไฟเบรตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไฟเบรต มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Atromid-S (อะโตรมิด-เอส)Wyeth
Febrate (ฟีเบรท)Umeda
Fenomed-200 (ฟีโนเมด-200)Mediorals
Fenox (ฟีนอค)Abbott
Fibril (ไฟบริล)Berlin Pharm
Lexemin (เลซีมิน)Unison
Lipanthyl (ไลแพนทิล)Abbott
Lipothin 200 (ไลโปทิน)T. O. Chemicals
Stanlip (สแตนลิป)Ranbaxy
Supralip NT 145 (ซุปราลิบ เอ็นที 145)Abbott
Trilipix (ไตรไลปิค)Abbott
Vytorin (ไวโทริน)MSD
Bisil (บิซิล)Sriprasit Pharma
Delipid (เดลิปิด)T.Man Pharma
Dropid (ดรอปิด)Medicine Products
Fibropid 300 (ไฟโบรปิด 300)V S Pharma
G.F.B.-600 (จี.เอฟ.บี.-600)Umeda
Gembropac (เจมโบรแพค)Inpac Pharma
Gemfibril (เจมไฟบริล)Siam Bheasach
Gemox (เจม็อกซ์)R.X.
Gozid (โกซิด)General Drugs House
Hidil (ไฮดิล)Berlin Pharm
Lespid (เลสปิด)Charoon Bhesaj
Lipicap (ลิปิแคป)Vesco Pharma
Lipison (ลิปิซัน)Unison
Lipolo (ลิโปโล)MacroPhar
Locholes (โลโคลส์)T.O. Chemicals
Lodil (โลดิล)Pharmahof
Lopicare (โลปิแคร์)Siam Medicare
Lopid/Lopid OD (โลปิด/โลปิด โอดี)Pfizer
Lopol (โลปอล)Suphong Bhaesaj
Modalim (โมดาลิม)Sanofi-aventis
Manobrozil (มาโนโบรซิล)March Pharma
Milpid (มิลปิด)Millimed
Norpid (นอร์ปิด)Greater Pharma
Poli-Fibrozil (โพลี-ไฟโบรซิล)Polipharm
Polyxit (โพลีซิท)Pharmasant Lab
Ronox (โรน็อกซ์)Charoen Bhaesaj Lab
Tolip (โทลิบ)Utopian
U-Pid (ยู-ปิด)Patar Lab
Benzalip (เบนซาลิบ)Actavis
Bezamil (เบซามิล)Milano
Evicta (อีวิคตา)Charoon Bhesaj
Polyzalip (โพลี่ซาลิบ)Central Poly Trading
Raset (ราเซ็ท)Unison

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Fibrate [2021,Aug21]
  2. https://www.medicinenet.com/fibrates/article.htm#what [2021,Aug21]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=fenofibrate [2021,Aug21]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=Gemfibrozil [2021,Aug21]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=Bezafibrate%20 [2021,Aug21]
  6. https://www.mims.com/thailand/drug/info/fenofibrate%20gpo [2021,Aug21]
  7. https://www.mims.com/thailand/drug/info/gemfibrozil-teva [2021,Aug21]
  8. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/clofibrate?mtype=generic [2021,Aug21]
  9. https://www.healthnavigator.org.nz/medicines/b/bezafibrate/[2021,Aug21]
  10. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/ciprofibrate?mtype=generic[2021,Aug21]
  11. https://www.drugs.com/imprints/atromid-s-500-2503.html [2021,Aug21]