ไพแวมพิซิลลิน (Pivampicillin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 มกราคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ไพแวมพิซิลลินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไพแวมพิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไพแวมพิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไพแวมพิซิลลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไพแวมพิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไพแวมพิซิลลินอย่างไร?
- ไพแวมพิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไพแวมพิซิลลินอย่างไร?
- ไพแวมพิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอมปิซิลลิน (Ampicillin)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- หนองใน (Gonorrhea)
- ไข้พาราไทฟอยด์ ไข้รากสาดเทียม (Paratyphoid fever)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
บทนำ
ยาไพแวมพิซิลลิน(Pivampicillin หรือ Pivampicilline หรือ Pivaloylampicillin ) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มแอมปิซิลลิน(Ampicillin) มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ยาไพแวมพิซิลลินยังไม่ใช่ตัวยาที่ออกฤทธิ์ได้ทันที แต่หลังจากตัวยานี้ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้ากระแสเลือด เอนไซม์ที่อยู่ตามเซลล์ของเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายจะเปลี่ยนรูปโครงสร้างโมเลกุล จากยาไพแวมพิซิลลินไปเป็นตัวยา Ampicillin ที่สามารถ ออกฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและลบ(Gram-positive and Gram-negative bacteria) อาทิ Streptococci, Pneumococci, Staphylococci, Hemophilus/H. influenza, Neisseria/N. gonorrhoeae , Escherichia/E. coli, และ Proteus/P. mirabilis ทางคลินิก นำยาไพแวมพิซิลลินมาบำบัดรักษาอาการของการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง รักษาโรคปอดบวม การติดเชื้อของอวัยวะระบบหู-คอ-จมูก ตลอดจนกระทั่งการติดเชื้อแบคทีเรียในท่อทางเดินปัสสาวะ/ระบบทางเดินปัสสาวะ
ยาไพแวมพิซิลลินมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้อย่างรวดเร็ว และมีเวลาอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ
กฎเกณฑ์ที่สำคัญทางคลินิกของการใช้ยาปฏิชีวนะต่างๆที่รวมถึงยาไพแวมพิซิลลินเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย คือ ผู้ป่วยต้องได้รับยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ใช้ยาไป 1–2 วันแล้วอาการดีขึ้นเหมือนจะเป็นปกติก็ยังต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่รวมถึงยาไพแวมพิซิลลินจนครบเทอมการรักษา
นอกจากนี้ ยังมีข้อพึงระวังต่างๆที่ควรทราบเมื่อได้รับยาไพแวมพิซิลลิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้ หรือแพ้ยาในกลุ่มPennicillin ที่รวมถึงยา Ampicillin
- ระวังการใช้ยาชนิดนี้ในขนาดที่สูงกับผู้ป่วยโรคไต ด้วยเสี่ยงต่อภาวะไตเป็นพิษ/ไตอักเสบ
- ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวที่ได้รับยาไพแวมพิซิลลิน ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุผลทางเภสัชจลนศาสตร์กล่าวว่า การกำจัดสารเมตาบอไลท์(Metabolite)ของยาไพแวมพิซิลลินจะเกิดโดยเมตาบอไลท์เหล่านั้นจะต้องเข้ารวมตัวกับสารชีวะโมเลกุลของร่างกายที่มีชื่อว่า คาร์นิทีน(Carnitine) สารประกอบชนิดนี้มีความสำคัญช่วยป้องกันอาการหัวใจวาย หากปริมาณคาร์นิทีนในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว/หัวใจวายลดต่ำลง อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงตามมาต่อผู้ป่วยนั่นเอง
- หลีกเลี่ยงมิให้ตัวยาไพแวมพิซิลลินสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ด้วยอาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้ทางผิวหนัง/ผื่นผิวหนังอักเสบได้
- ระหว่างที่ได้รับยานี้ ต้องเฝ้าระวังระดับเกลือโปแตสเซียมในร่างกาย/ในเลือดให้เป็นปกติอย่างสม่ำเสมอ เพราะยาไพแวมพิซิลลินสามารถส่งผลกระทบทำให้ระดับโปแตสเซียมของร่างกายผิดปกติได้ทั้งอาจสูงขึ้นหรือต่ำลง
- การใช้ยาไพแวมพิซิลลินเป็นเวลานานเกินไป ต้องระวังเชื้อโรคชนิดอื่นที่ทน/ดื้อยาต่อยาไพแวมพิซิลลิน จนอาจเข้าแทรกแซงจนกระทั่งทำให้เกิดโรคติดเชื้อจากเชื้อที่ดื้อยาตามมา
- การใช้ยาไพแวมพิซิลลินกับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือผู้ป่วยเอชไอวี(HIV)ต้องระวังอาการแพ้ยา โดยอาการจะแสดงออกทางผิวหนังที่สามารถถูกกระตุ้นให้เกิดอาการได้อย่างช้าๆและไม่รู้ตัว
- กรณีที่มีอาการแพ้ยานี้ เช่น อึดอัด/แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจขัด/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม ตัวบวม มีผื่นคัน มีลมพิษขึ้นตามร่างกาย ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ยาไพแวมพิซิลลิน ยังไม่มีการใช้ในประเทศไทย แต่จะพบเห็นการใช้ในแถบประเทศเดนมาร์ก โดยจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Pondocillin” และจัดว่าเป็นยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว
ไพแวมพิซิลลินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไพแวมพิซิลลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณระบบทางเดินหายใจ /โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ(Respiratory tract infections)
- รักษาการติดเชื้อหนองใน(Gonococcal urethritis)
- รักษาไข้รากสาดเทียมหรือไข้พาราไทฟอยด์(Paratyphoid fever)
ไพแวมพิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไพแวมพิซิลลิน ที่ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนรูปไปเป็นตัวยา Ampicillin ทีมีกลไกการออกฤทธิ์สามารถยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรียก่อโรคที่ตอบสนองต่อยานี้ ส่งผลให้แบคทีเรียนั้นหมดสภาพในการกระจายพันธ์และตายลงในที่สุด
ไพแวมพิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไพแวมพิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีตัวยา Pivampicillin ขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด
ไพแวมพิซิลลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไพแวมพิซิลลินมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาโรคหนองใน(Gonococcal urethritis):
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 1,500 มิลลิกรัม ครั้งเดียว โดยใช้ร่วมกับยาProbenecid 1 กรัม
- เด็ก: การใช้ยานี้และขนาดยานี้ในเด็ก ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
ข. สำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยาไพแวมพิซิลลิน:
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- เด็กอายุ 3 เดือน–1 ปี: รับประทานยา 40–60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- เด็กอายุมากกว่า 1 ปี-10ปี: รับประทานยา 12.5–17.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ขนาดรับประทานยาสูงสุดไม่ควรเกิน 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน: การใช้ยานี้และขนาดยานี้ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด
- ใช้ยานี้ต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ห้ามหยุดรับประทานยานี้เองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไพแวมพิซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไพแวมพิซิลลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไพแวมพิซิลลินสามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
ไพแวมพิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไพแวมพิซิลลินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้าง้คียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการลำไส้ใหญ่อักเสบจากการใช้ยาปฏิชีวนะ(Antibiotic-associated colitis)
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ อาจทำให้มีอาการพิษต่อสมอง/สมองอักเสบ กระตุ้นให้เกิดอาการชัก
- ผลต่อไต: เช่น เกิดพิษกับไต/ไตอักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีอาการผื่นคัน ลมพิษ บวมตามผิวหนัง
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดข้อ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้ไพแวมพิซิลลินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไพแวมพิซิลลิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาไพแวมพิซิลลิน โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
- ห้ามใช้ยานี้เป็นเวลายาวนานเกินไป ด้วยเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่นๆที่ดื้อต่อยาไพแวมพิซิลลิน
- ระวังระดับสาร Carnitine ในร่างกายลดต่ำลง
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- เมื่อใช้ยานี้จนครบเทอมการรักษา แล้วอาการป่วยไม่ดีขึ้น ควรรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไพแวมพิซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไพแวมพิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไพแวมพิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไพแวมพิซิลลินร่วมกับ ยาProbenecid จะทำให้ตัวยาไพแวมพิซิลลิน อยู่ในร่างกายได้ยาวนานขึ้นจนทำให้แสดงฤทธิ์การต่อต้านแบคทีเรียดียิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ยาไพแวมพิซิลลินร่วมกับกลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดต่างๆด้วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา
ควรเก็บรักษาไพแวมพิซิลลินอย่างไร?
ควรเก็บยาไพแวมพิซิลลินภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไพแวมพิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไพแวมพิซิลลิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Pondocillin (พอนโดซิลลิน) | PharmaCoDane |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Proampi
บรรณานุกรม
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB01604 [2017,Dec23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pivampicillin [2017,Dec23]
- http://www.mims.com/india/drug/info/pivampicillin/?type=full&mtype=generic#Indications [2017,Dec23]
- https://www.tabletwise.com/uae/pondocillin-tablet [2017,Dec23]
- http://pubmedcentralcanada.ca/pmcc/articles/PMC444697/pdf/aac00341-0060.pdf [2017,Dec23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ampicillin [2017,Dec23]