ไบโซโปรลอล (Bisoprolol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 กรกฎาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- ไบโซโปรลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไบโซโปรลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไบโซโปรลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไบโซโปรลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไบโซโปรลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไบโซโปรลอลอย่างไร?
- ไบโซโปรลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไบโซโปรลอลอย่างไร?
- ไบโซโปรลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
บทนำ
ยาไบโซโปรลอล (Bisoprolol) เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker) ทางคลินิกจะใช้ยานี้เพื่อรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยยาจะลดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจทำให้การสูบฉีดเลือดของหัวใจน้อยลง จึงมีผลลดความเสี่ยงเรื่องหัวใจวาย
ยาไบโซโปรลอลเป็นยาที่ออกฤทธิ์เพียงระยะสั้น ดังนั้นการรับประทานยาต่อวันจะอยู่ที่ 2 - 3 ครั้ง ในทางปฏิบัติแพทย์อาจจะปรับขนาดการใช้เป็นวันละครั้งโดยพิจารณาเป็นกรณีไป
ยาไบโซโปรลอลชนิดรับประทานสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้มากกว่า 90% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 30% จากนั้นจะถูกลำเลียงส่งไปที่ตับเพื่อเผาผลาญ โดยอาจต้องใช้เวลาประมาณ 10 - 12 ชั่วโมงเพื่อที่จะกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดทางปัสสาวะและส่วนน้อยทางน้ำดี
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ไบโซโปรลอลเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน สถาน พยาบาลต่างๆควรมีสำรองไว้เพื่อใช้สำหรับรักษาผู้ป่วย คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำ หนดให้ยาไบโซโปรลอลอยู่ในหมวดยาอันตรายด้วยมีข้อจำกัดการใช้ยาอีกหลายกรณี และเป็นเหตุ ผลที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงหรือผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวได้ทุกรายเช่น ห้ามใช้ยากับผู้ที่มีอาการหอบ - หืดอย่างรุนแรง ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ สตรีตั้งครรภ์ ฯลฯ ดังนั้นการใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยจึงควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเสมอ
ไบโซโปรลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไบโซโปรลอลมีสรรพคุณดังนี้เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- รักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- รักษาโรคหัวใจล้มเหลว
ไบโซโปรลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธ์ของยาไบโซโปรลอลคือ ตัวยาจะเข้าแข่งขันในการจับกับตัวรับที่เรียก ว่า Beta-1 receptor ที่อยู่ในกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดการลดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจรวม ถึงลดความต้องการออกซิเจนที่มาหล่อเลี้ยงหัวใจอีกด้วย จากกลไกเหล่านี้ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจรวมถึงความดันโลหิตลดลง และเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ไบโซโปรลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไบโซโปรลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 2.5 และ 5 มิลลิกรัม/เม็ด
ไบโซโปรลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไบโซโปรลอลมีขนาดรับประทานดังนี้เช่น
ก.สำหรับความดันโลหิตสูงและอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 2.5 - 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิ กรัม/วัน
ข.สำหรับรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 1.25 มิลลิกรัมวันละครั้ง ถ้าการตอบสนองของผู้ป่วยดีขึ้น แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 1.25 มิลลิกรัมทุก 1 สัปดาห์ และขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิ กรัม/วัน
อนึ่ง
- ในทางคลินิกยังไม่มีการจัดทำขนาดรับประทานยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไบโซโปรลอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไบโซโปรลอลอาจส่งผลให้อา การของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไบโซโปรลอลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไบโซโปรลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไบโซโปรลอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น เวียนหัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หัวใจเต้นช้า คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ปั่นป่วนในกระเพาะอาหาร กระจกตาอักเสบ มีอาการตากลัวแสง สมรรถภาพทางเพศลดลง อาหารไม่ย่อย ประสาทหลอน นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน
สำหรับผู้ที่รับประทานยานี้เกินขนาดจะมีอาการหัวใจเต้นช้าผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจล้มเหลว หลอดลมเกร็งตัว/หายใจลำบาก น้ำตาลในเลือดต่ำ หากพบอาการดังกล่าวให้หยุดการใช้ยานี้ และรีบพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
มีข้อควรระวังการใช้ไบโซโปรลอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไบโซโปรลอลดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลว (Uncompensated cardiac failure) ผู้ที่มีหัวใจ เต้นช้า (Sinus bradycardia) ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดส่วนปลายทำงานผิด ปกติ (Peripheral vascular disease)
- ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติอย่างสม่ำเสมอขณะที่ใช้ยานี้
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังภาวะถอนยาในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยานี้ไม่ถูกต้องหรือหยุดการใช้ยาเอง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไบโซโปรลอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไบโซโปรลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไบโซโปรลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น
- การใช้ยาไบโซโปรลอลร่วมกับยาบางกลุ่มจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของไบโซโปรลอล ด้อยลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกันหรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป ยากลุ่มดังกล่าวเช่น ยาที่มีส่วนประกอบของเกลืออะลูมิเนียม ( Aluminium เช่น ยา Aluminium hydroxide) หรือแคลเซียม (เข่น Calcium carbonate) Barbiturates, Cholestyramine, ยากลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs), Ampicillin และ Rifampicin
- การใช้ยาไบโซโปรลอลร่วมกับอินซูลินหรือยาต้านเบาหวานตัวอื่นๆเช่น Metformin อาจก่อ ให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นราย บุคคลไป
- การใช้ยาไบโซโปรลอลร่วมกับยา Theophylline จะทำให้ฤทธิ์การรักษาของยาไบโซโปรลอล ลดลง และทำให้การออกฤทธิ์ของ Theophylline มีมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดภาวะคลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ เกิดภาวะตัวสั่น กระสับกระส่าย เพื่อป้องกันอาการเหล่านี้แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมหรือไม่ก็หลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาไบโซโปรลอลร่วมกับยา Atazanavir จะเกิดความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงมีอาการวิงเวียน เป็นลม ติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาไบโซโปรลอลอย่างไร?
ควรเก็บยาไบโซโปรลอลภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไบโซโปรลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไบโซโปรลอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bisloc (บิสล็อก) | Unison |
Concor (คอนคอร์) | Merck |
Hypercor (ไฮเพอร์คอร์) | Sriprasit Pharma |
Lodoz (โลดอซ) | Merk |
Novacor (โนวาคอร์) | Tri Medical |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Bisoprolol#Medical_use [2015,June6]
2 http://www.cimsasia.com/USA/drug/info/bisoprolol/bisoprolol?type=full [2015,June6]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=bisoprolol [2015,June6]
4 http://www.drugs.com/dosage/bisoprolol.html#Usual_Adult_Dose_for_Hypertension [2015,June6]
5 http://www.drugs.com/drug-interactions/bisoprolol-index.html?filter=3&generic_only= [2015,June6]