ไบคาลูตาไมด์ (Bicalutamide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 27 มกราคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ไบคาลูตาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไบคาลูตาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไบคาลูตาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไบคาลูตาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไบคาลูตาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไบคาลูตาไมด์อย่างไร?
- ไบคาลูตาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไบคาลูตาไมด์อย่างไร?
- ไบคาลูตาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
- โรคตับ (Liver disease)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- ยาลดไขมัน (Lipid-lowering drugs)
- ต่อมลูกหมากโต หรือ บีพีเอช (Benign prostatic hypertrophy or BPH)
บทนำ
ยาไบคาลูตาไมด์(Bicalutamide) เป็นยาในกลุ่มแอนตี้แอนโดรเจน (Antiandrogen) หรือแอนโดรเจนบล็อกเกอร์ (Androgen blockers) หรือ นอน-สเตียรอยด์ แอนโดรเจน รีเซพเตอร์ อินฮิบิเตอร์(Non-steroid androgen receptor inhibitor ย่อว่า NSAA) ซึ่งคือ ยาที่ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย Androgen ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการมะเร็งต่อมลูกหมาก(Prostate cancer) โดยสามารถใช้เป็นลักษณะยาเดี่ยวหรือจะใช้เป็นยาร่วมรักษาพร้อมการผ่าตัด และ/หรือรังสีรักษาก็ได้
ยาไบคาลูตาไมด์จะออกฤทธิ์ชะลอการลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมากและทำให้ชีวิตของผู้ป่วยยืนยาวขึ้น ยานี้ยังถูกนำมาใช้รักษาสตรีที่มีภาวะขนดก(Hirsutism), ใช้เป็นฮอร์โมนบำบัดในบุคคลกลุ่มที่เรียกว่าสตรีข้ามเพศ (Transgender women), รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen-dependent conditions) เช่น เป็นสิวรุนแรง ศีรษะล้านจากฮอร์โมน Androgen
ตัวยาไบคาลูตาไมด์ ไม่ได้ทำให้ระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนในร่างกายต่ำลง แต่เป็นตัวกีดกันหรือแข่งขันกับฮอร์โมนแอนโดรเจน โดยยานี้จะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor) ฮอร์โมนAndrogenในร่างกายที่มีชื่อว่า แอนโดรเจน รีเซพเตอร์ (Androgen receptor) ทำให้ฮอร์โมนAndrogenไม่สามารถแสดงฤทธิ์/ออกฤทธิ์ได้หรือแสดงฤทธิ์ได้น้อยลง จึงส่งผลลดการลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือบำบัดรักษาอาการโรค/ภาวะต่างๆที่กล่าวในตอนต้นที่เกิดจากร่างกายมีฮอร์โมนAndrogenสูงเกินปกติ
มะเร็งต่อมลูกหมากจัดเป็นมะเร็งที่มีความไว/ชอบต่อฮอร์โมนแอนโดรเจน กล่าวคือจะใช้ฮอร์โมนนี้เพื่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง การใช้ยานี้จึงส่งผลชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากนั่นเอง
รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยาไบคาลูตาไมด์เป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือด จะรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 96% และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยานี้ที่ตับ ร่างกายต้อง ใช้เวลาประมาณ 6 – 7 วัน เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ยาไบคาลูตาไมด์ มีข้อจำกัดการใช้ในผู้ป่วยบางกลุ่ม อาทิเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรี สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับ หรือโรคเบาหวาน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไบคาลูตาไมด์ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ด้วยจะเสี่ยงต่อการมีภาวะเลือดออกง่าย
- กรณีที่ใช้ยานี้แล้วเกิดอาการวิงเวียน ต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะ ทุกประเภท รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง ด้วยยาไบคาลูตาไมด์จะกระตุ้นให้ ผิวหนังไวกับแสงแดดมากขึ้น กรณีต้องออกกลางแจ้งให้ใช้ครีมกันแดดทาผิวหนัง ร่วมกับสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังอย่างมิดชิด
- หากพบว่ามีอาการปัสสาวะมีสีคล้ำ/ปัสสาวะเป็นเลือด เบื่ออาหารมาก คลื่นไส้มาก อุจจาระมีสีซีด ปวดท้อง เหนื่อยง่าย อาเจียน อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลือง ให้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าเกิดปัญหาที่ตับของผู้ป่วย และต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด
- บางกรณีพบว่า ยานี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อปอดของผู้ป่วย โดยสังเกตจากหายใจขัด/หายใจลำบาก ร่วมกับมีอาการไอ หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับยา Goserelin หรือยา Leuprolide(ยารักษามะเร็งต่อมลูกหมาก) หากได้รับยาไบคาลูตาไมด์ อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และทำให้เกิดอาการง่วงนอน สับสน กระหายน้ำ หายใจเร็วขึ้น จึงถือเป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่ผู้ป่วยต้องแจ้งว่า ตนเองมีโรคประจำตัวและใช้ยาชนิดใดอยู่
- ผู้ป่วยสูงอายุจะมีความไว/การตอบสนองต่อยาไบคาลูตาไมด์มาก โดยอาจเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยานี้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ
- ระหว่างได้รับยาไบคาลูตาไมด์ นอกจากจะต้องตรวจสภาวะของมะเร็งของ ต่อมลูกหมากแล้ว ผู้ป่วยยังต้องรับการตรวจเลือดเพื่อดู การทำงานของตับ และดูระดับน้ำตาลในเลือดร่วมด้วยเป็นระยะๆตามแพทย์แนะนำ
ยาไบคาลูตาไมด์สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่พบเห็นได้บ่อย เช่น ปวดหลัง ปวดเชิงกราน หรือปวดตามอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกาย ท้องผูกหรือท้องเสีย สมรรถนะทางเพศถดถอย วิงเวียน ปัสสาวะถี่/ปัสสาวะบ่อย ปวดศีรษะ รู้สึกร้อนวูบวาบ คลื่นไส้ เหงื่อออกมาก เป็นต้น
องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ยาไบคาลูตาไมด์เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้เพื่อให้บริการกับผู้ป่วย ยานี้ได้ถูกนำมาใช้ในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างน้อย 70 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ตัวยาไบคาลูตาไมด์เป็นยาควบคุมพิเศษ การใช้ยาต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ และจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
ไบคาลูตาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไบคาลูตาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น บำบัดรักษาอาการมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยชะลอการเจริญเติบโตและลดโอกาสการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
ไบคาลูตาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไบคาลูตาไมด์คือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับในร่างกายที่มีชื่อว่า แอนโดรเจน รีเซพเตอร์ และแสดงฤทธิ์กีดกันฮอร์โมนแอนโดรเจนซึ่งมีอิทธิพลสนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่ต่อมลูกหมาก จากกลไกนี้ส่งผลให้เซลล์มะเร็งฯชะลอการแบ่งตัว จึงช่วยลดโอกาสเกิดการลุกลามและการแพร่กระจายของมะเร็งฯ ส่งผลก่อให้เกิดฤทธิ์การรักษาได้ตามสรรพคุณ
ไบคาลูตาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไบคาลูตาไมด์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีตัวยา Bicalutamide ขนาด 50 และ 150 มิลลิกรัม/เม็ด
ไบคาลูตาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไบคาลูตาไมด์มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 50 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้ในเด็ก
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้ตรงตามเวลาเดิมในแต่ละวัน เพื่อรักษาระดับความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดให้สม่ำเสมอตลอดเวลา
- ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดรับประทานกับผู้ป่วยโรคไตและโรคตับที่มีระดับความรุนแรงโรคต่ำ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคตับที่มีความรุนแรงตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไป
- หากพบภาวะเต้านมโตหลังจากใช้ยานี้ ควรต้องรีบมาปรึกษาแพทย์ผู้รักษาโดยเร็ว
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไบคาลูตาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไบคาลูตาไมด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไบคาลูตาไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไบคาลูตาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไบคาลูตาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง มีเม็ดเลือดขาวต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย คลื่นไส้ ท้องอืด อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น มีภาวะตับอักเสบ
- ผลต่อไต: เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เหงื่ออกมาก
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ท่อปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง น้ำหนักตัวลดลง
- ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เต้านมโต เต้านมบวม เจ็บเต้านม รู้สึกร้อนวูบวาบ ปวดเชิงกราน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจลำบาก เกิดพังผืดในปอด ปอดอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้ไบคาลูตาไมด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไบคาลูตาไมด์ เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรี
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก
- ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับที่มีความรุนแรงตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไบคาลูตาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไบคาลูตาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไบคาลูตาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไบคาลูตาไมด์ร่วมกับยา Tadalafil อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยา Tadalafil มากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
- การใช้ยาไบคาลูตาไมด์ร่วมกับยา Pimozide จะทำให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติตามมา จึงไม่ควรใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาไบคาลูตาไมด์ร่วมกับยา Lomitapide(ยาลดไขมันในเลือด) อาจทำให้ระดับยา Lomitapide ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยา Lomitapide สูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไบคาลูตาไมด์ร่วมกับยา Mipomersen(ยาลดไขมันในเลือด), Teriflunomide, ด้วยอาจก่อให้เกิดพิษต่อตับ/ตับอักเสบมากขึ้น
ควรเก็บรักษาไบคาลูตาไมด์อย่างไร?
ควรเก็บยาไบคาลูตาไมด์ในช่วงอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
ไบคาลูตาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไบคาลูตาไมด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bicalutamide Sandoz (ไบคาลูตาไมด์ แซนดอซ) | Sandoz |
Bicalutamide-Teva (ไบคาลูตาไมด์-เทวา) | Teva |
Calumid (คาลูมิด) | Gedeon Richter |
Casodex (คาโซเด็กซ์) | AstraZeneca |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Bical, Bicares, Biprosta, Caludec, Caluran, Calutide, Casolon, Macabi,Utamide
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/cdi/bicalutamide.html [2017,Jan7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bicalutamide [2017,Jan7]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/bicalutamide/?type=brief&mtype=generic [2017,Jan7]
- https://www.drugs.com/dosage/bicalutamide.html [2017,Jan7]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/bicalutamide-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Jan7]