ไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin) หรือ กลีเซอริลไตรไนเตรท (Glyceryl trinitrate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ไนโตรกลีเซอริน(Nitroglycerin เรียกย่อว่า ไนโตร/Nitro) ถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอิตาลีในปี ค.ศ. 1847 (พ.ศ. 2390) และได้พัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มีการผลิตเพื่อใช้ในกองทัพเป็นอันมาก ในด้านสาธารณสุขของการพยาบาล ไนโตรกลีเซอรินจะถูกนำมาใช้รักษาอาการ หัวใจขาดเลือด/กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และภาวะหัวใจล้มเหลว อนึ่งปัจจุบัน ยานี้มีใช้อีกชื่อว่า “กลีเซอริลไตไนเตรท (Glyceryl trinitrate)”

จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์(Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) พบว่า ไนโตรกลีเซอริน ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ดี รูปแบบการบริหารยาจะอยู่ในรูปยาอมใต้ลิ้น ยาฉีด และพลาสเตอร์แปะผิวหนัง (ยังไม่มีในประเทศไทย)

  • สำหรับยาอมใต้ลิ้นจะใช้เวลาออกฤทธิ์ 1 – 3 นาที
  • ยาฉีดจะออกฤทธิ์ทันที
  • ชนิดแปะผิวหนังจะใช้เวลา 30 – 60 นาที

ทั้งนี้ ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายยานี้ และพบว่ามีปริมาณไนโตรกลีเซอรินบางส่วนจะถูกขับออกมากับปัสสาวะ

ยาไนโตรกลีเซอริน เป็นยาที่ออกฤทธิ์แรง การใช้ยาต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดรับประทานยาเองโดยเด็ดขาด

ยาไนโตรกลีเซอรินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไนโตรกลีเซอริน

ยาไนโตรกลีเซอริน มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ป้องกันอาการเจ็บหน้าอก ด้วยภาวะหัวใจขาดเลือด/กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)

ยาไนโตรกลีเซอรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของไนโตรกลีเซอริน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อเอนไซม์ไนตริก ออกไซด์ สติมูเลต กัวไนเลท ไซเคลส (Nitric oxide stimulates guanylate cyclase) ซึ่งมีผลกับกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้เกิดการคลายตัว ท่อในหลอดเลือดจึงขยาย ส่งผลให้เลือดเข้าไปเลี้ยงบริเวณอวัยวะที่มีภาวะขาดเลือดสูงขึ้น ด้วยกลไกนี้จึงบรรเทาและช่วยรักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดตามสรรพคุณ

ยาไนโตรกลีเซอรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไนโตรกลีเซอริน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ขนาด 25 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (ใช้เฉพาะในโรงพยาบาล)
  • ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/ 10 มิลลิลิตร (ใช้เฉพาะในโรงพยาบาล)
  • ชนิดสเปรย์พ่น ขนาด 0.4 มิลลิกรัม/โด๊ส
  • ยาเม็ดชนิดอมใต้ลิ้น ขนาด 0.3 0.4 และ 0.6 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาไนโตรกลีเซอรินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไนโตรกลีเซอริน มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ชนิดอมใต้ลิ้น: เช่น หากเริ่มมีอาการเจ็บหน้าอก อันมีเหตุมาจากหัวใจขาดเลือด

ให้อมครั้งละ 1 เม็ด ทุก 5 นาที เท่าที่จำเป็น เป็นเวลา 15 นาที หรือไม่เกิน 3 เม็ด ในเวลา 15 นาที

  • ชนิดสเปรย์: เช่น ให้สเปรย์ใต้ลิ้นเมื่อรู้สึกเจ็บหน้าอก สามารถพ่นซ้ำได้ทุก 5 นาที เท่าที่จำเป็น ห้ามใช้เกิน 3 โด๊ส (Dose/ขนาดยาต่อการใช้ 1 ครั้ง) ภายในเวลา 15 นาที

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึง ยาไนโตรกลีเซอริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไนโตรกลีเซอริน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไนโตรกลีเซอริน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาไนโตรกลีเซอรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไนโตรกลีเซอรีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • วิงเวียน
  • อ่อนเพลีย
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • ใบหน้าแดง
  • มีผื่นคัน
  • และผื่นผิวหนังอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ยาไนโตรกลีเซอรินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไนโตรกลีเซอริน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวในระยะแรกๆ
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยภาวะโลหิตจาง ผู้ที่มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง
  • ห้ามใช้ร่วมกับยา Sildenafil (ยาขยายหลอดเลือดชนิดหนึ่ง ใช้ในอาการ นกเขาไม่ขัน)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำ
  • ระหว่างการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ หากพบ อาการ ตาพร่า ปากแห้ง ให้หยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • ระวังการใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไนโตรกลีเซอรีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไนโตรกลีเซอรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไนโตรกลีเซอรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไนโตรกลีเซอรีน ร่วมกับ ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง กลุ่ม Calcium channel blockers สามารถทำให้ความดันโลหิตต่ำได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาไนโตรกลีเซอรีน ร่วมกับยาขยายหลอดเลือดตัวอื่นๆ (เช่นยา Sildenafil, Vardenafil) หรือรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ อาจก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้ หากไม่จำเป็นควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาไนโตรกลีเซอรินอย่างไร?

ควรเก็บ ยาไนโตรกลีเซอริน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาไนโตรกลีเซอรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไนโตรกลีเซอรินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Nitroject (ไนโตรเจค) Sun Pharma
Nitromint (ไนโตรมินท์) Egis
Nitrostat (ไนโตรสแตท) Pfizer

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Nitroglycerin [2020,March21]
2. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=nitroglycerin[2020,March21]
3. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=glyceryl+trinitrate[2020,March21]
4. http://www.rxlist.com/nitrostat-drug/indications-dosage.htm [2020,March21]
5. http://www.empr.com/nitrostat/drug/235/ [2020,March21]
6. http://www.drugs.com/drug-interactions/nitroglycerin-index.html?filter=3&generic_only= [2020,March21]