ไนลูทาไมด์ (Nilutamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไนลูทาไมด์(Nilutamide )เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน/ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน(Antiandrogens) ซึ่งมีอยู่ในร่างกายของคนเรา โดยยานี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานเอนไซม์หลายตัว เช่น Cytochrome P450 (CYP), CYP1A2 (Cytochrome P450 1A2 ), CYP2C9(Cytochrome P450 2C9) , CYP3A4 (Cytochrome P450 3A4) ซึ่งจะส่งผลทำให้อาการมะเร็งต่อมลูกหมากชะลอตัวลง นอกจากนี้ ยาไนลูทาไมด์ยังยับยั้งเอนไซม์ CYP17A1(Cytochrome P450 17A1)ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสังเคราะห์ฮอร์โมนแอนโดรเจน ทางการแพทย์พบว่า การมีแอนโดรเจนปริมาณมากเกินไป จะเป็นเหตุให้เซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมากเจริญและขยายตัวมากขึ้น จากกลไกดังกล่าว ยาไนลูทาไมด์จึงถูกนำมาใช้บำบัดอาการมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะลุกลามแพร่กระจาย(Metastatic prostate cancer) ซึ่งรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไนลูทาไมด์คือ ยารับประทาน

หลังจากตัวยาไนลูทาไมด์ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร เข้าสู่กระแสเลือด ก็จะถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีโดยเอนไซม์จากตับที่มีชื่อว่า CYP2C19 (Cytochrome P450 2C19) และ FMO (Flavin-containing monooxygenase ) โดยร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 23-87 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด และผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

มีข้อจำกัดและข้อควรระวังของการใช้ยาไนลูทาไมด์บางประการที่ทำให้แพทย์ไม่สามารถใช้ยานี้เพื่อรักษาผู้ป่วย เช่น

  • ผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
  • ผู้ป่วยโรคตับขั้นรุนแรง
  • ยานี้ไม่ได้ถูกออกแบบให้ใช้กับสตรี
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดภาวะใบหน้าแดง และวิงเวียน มากยิ่งขึ้น
  • ผู้ที่รับประทานยาอื่นๆ เช่นยา Phenytoin, Theophylline, หรือ Vitamin K antagonists/ยาต้านวิตามินเค(อย่างเช่นยา Warfarin) หากได้รับยาไนลูทาไมด์ ยาไนลูทาไมด์จะสามารถกระตุ้นให้ร่างกายผู้ป่วยได้รับพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากยากลุ่มดังกล่าวได้มากยิ่งขึ้น
  • ต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์ ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะมีอาการ วิงเวียน รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีบางกรณีที่ยานี้ทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของปอด โดยก่อให้เกิดภาวะ ปอดบวม (Interstitial pneumonitis) รวมถึงอาจเกิดพังผืดในปอด(Pulmonary fibrosis) ดังนั้นระหว่างใช้ยานี้ แล้วพบเห็นอาการ ไข้ เจ็บหน้าอก ไอ หายใจขัด/หายใจลำบากเกิดขึ้นกับ ผู้ป่วยต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที

ผู้ที่ได้รับยาไนลูทาไมด์ อาจต้องได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากร่วมด้วย จากนั้นต้องเฝ้าระมัดระวังอาการ และมารับการตรวจร่างกายตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ในระหว่างนี้ ผู้ป่วยควรสังเกตอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างที่รับประทานยานี้ร่วมด้วยนี้ เช่น มีอาการคลื่นไส้บ่อย สมรรถนะทางเพศถดถอย ผมบางลง ปัสสาวะเป็นเลือด ตาพร่า ท้องเสีย เจ็บแน่นหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อ อาการเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความรำคาญต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรรีบเข้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดการใช้ยานี้ หรืออาจต้องปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

เราสามารถพบเห็นยาไนลูทาไมด์ในรูปแบบยาแผนปัจจุบัน และถูกวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Nilandron ซึ่งมักมีใช้แต่ในสถานพยาบาล โดยการใช้ยาชนิดนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว

ไนลูทาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไนลูทาไมด์

ยาไนลูทาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะลุกลามแพร่กระจาย (Metastatic prostate cancer)

ไนลูทาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไนลูทาไมด์ มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อเรียกว่า Androgen receptor จึงส่งผลปิดกั้นการทำงานของฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่งผลให้เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากหยุดหรือชะลอการเจริญเติบโตลง

ไนลูทาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไนลูทาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Nilutamide 150 มิลลิกรัม/เม็ด

ไนลูทาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไนลูทาไมด์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทานยา 300 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหาร เป็นเวลา 30 วัน จากนั้น แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานลงเป็น 150 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง
  • เด็ก: เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นโรคของชายสูงอายุ จึงยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกในการใช้ยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบอาการเป็นพิษเกิดกับตับ/ตับอักเสบ
  • ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาไนลูทาไมด์โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไนลูทาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไนลูทาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไนลูทาไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

ไนลูทาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไนลูทาไมด์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า เกิดต้อกระจก ตากลัวแสง
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ตับอักเสบ
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น ความดันโลหิตสูง เจ็บหน้าอก หัวใจวาย
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง ปวดกระดูก ข้ออักเสบ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด น้ำตาลในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ปอดบวม โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน ไอ เยื่อจมูกอักเสบ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ ซึม
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เหงื่อออกมาก ผมร่วง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องผูกหรือท้องเสีย ปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน เลือดออกในทางเดินอาหาร ปากแห้ง
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น รู้สึกร้อนวูบวาบ สมรรถนะทางเพศถดถอย เต้านมโตขึ้น
  • อื่นๆ: เช่น ขนาดอัณฑะเล็กลง

มีข้อควรระวังการใช้ไนลูทาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไนลูทาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง หรือมีเนื้องอกตับ
  • ห้ามนำยาไปใช้รักษามะเร็งชนิดอื่นที่นอกเหนือจากมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้โดยมิได้ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรี
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อ การตรวจเลือด และการตรวจร่างกายจากแพทย์ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไนลูทาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไนลูทาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไนลูทาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาไนลูทาไมด์ร่วมกับยา Lomitapide, Leflunomide, Mipomersen, และ Teriflunomide, เพราะจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่สูงขึ้นจากยาไนลูทาไมด์กับตับตามมา
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาไนลูทาไมด์ร่วมกับยา Naltrexon, Bedaquiline, Clofarabine, Methotrexate, ด้วยจะทำให้ตับทำงานผิดปกติมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถสังเกตได้จากมีอาการ ไข้ หนาวสั่น ปวดข้อ ตัวบวม มีผื่นคันตามผิวหนัง

ควรเก็บรักษาไนลูทาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาไนลูทาไมด์ในช่วงอุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

ไนลูทาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไนลูทาไมด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Nilandron (ไนแลนดรอน)sanofi pasteur

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Anandron

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/nilandron.html[2017,Aug19]
  2. https://www.drugs.com/dosage/nilandron.html[2017,Aug19]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/nilutamide,nilandron.html[2017,Aug19]
  4. file:///C:/Users/apai/Downloads/20161215_a682f5ef-c79f-419e-94b6-b1a84b7b6651.pdf[2017,Aug19]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00665[2017,Aug19]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Nilutamide[2017,Aug19]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/CYP17A1#Function[2017,Aug19]