ไนตราซีแพม (Nitrazepam)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไนตราซีแพม(Nitrazepam) ตามกฏหมายยาของไทยจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ยานี้อยู่ในกลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน(Benzodiazepine) มีฤทธิ์ช่วยให้นอนหลับ ลดความวิตกกังวล บำบัดอาการลมชัก และช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว แพทย์จะสั่งจ่ายยาชนิดนี้/ยานี้ให้กับผู้ป่วยเพียงระยะสั้นๆเพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการติดยา

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไนตราซีแพมเป็นยาแบบรับประทาน มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ 53–94% ตับเป็นอวัยวะที่คอยทำลายโครงสร้างเคมีของยาชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลานานประมาณ 16–38 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาไนตราซีแพมออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ทั้งนี้ มีข้อควรระวัง ข้อห้าม และสิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับยาไนตราซีแพมดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคต้อหิน ผู้ที่มีภาวะหายใจขัด/หายใจลำบากอย่างรุนแรง ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ผู้ป่วยโรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคตับระยะสุดท้าย ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคไต
  • ยานี้จะลดความสามารถการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายลง ดังนั้นขณะที่ยังมีฤทธิ์ของยาไนตราซีแพมจึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติติดยาเสพติด ผู้ที่ติดสุรา ด้วยมีความเสี่ยงที่จะติดยา ไนตราซีแพมได้สูงเช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไนตราซีแพมกับผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า หรือผู้ที่มีประวัติทำร้าย ตัวเอง ด้วยยาชนิดนี้อาจกระตุ้นอาการดังกล่าวให้กำเริบ
  • เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในช่วงให้นมบุตร เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาทุกประเภทซึ่งรวมถึงยาไนตราซีแพมด้วย จึงไม่ควรใช้ยาในกลุ่มนี้ นอกจากเป็นคำสั่งแพทย์
  • *ห้ามรับประทานยานี้เกินขนาด ด้วยจะทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างรุนแรง เช่น ความดันโลหิตต่ำ เกิดอาการโคม่า หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ด้วยยานี้จะกดการทำงานของหัวใจ นอกจากนี้ ยานี้ยังทำให้รู้สึกสับสน และง่วงนอนอย่างรุนแรง การช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีกินยานี้เกินขนาด แพทย์จะดูแลตามอาการ และใช้วิธีล้างท้องร่วมกับการใช้ยา Flumazenil เพื่อลดฤทธิ์ของยาไนตราซีแพม
  • มีรายงานทางคลินิกพบว่า ผู้ที่ใช้ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนต่อเนื่องเป็นเวลานานประมาณ 1–6 เดือน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ หรือไม่ก็เร่งให้เกิดการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเร็วขึ้น
  • ห้ามใช้ยาไนตราซีแพมร่วมกับยาเบนโซไดอะซีปีนชนิดอื่นโดยไม่มีคำสั่งแพทย์ การเสริมฤทธิ์ของการนอนหลับจากยา 2 ตัวขึ้นไปเป็นเรื่องที่ต้องระวังด้วยจะเกิด ภาวะกดประสาท/กดการทำงานของสมองอย่างรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเอง เช่น โคม่า
  • ห้ามใช้ยาไนตราซีแพมนานเกิน 1–2 สัปดาห์
  • หลังได้รับยานี้ มีผู้ป่วยบางรายอาจเสียความทรงจำไปชั่วคราว
  • ห้ามแบ่งยาชนิดนี้ให้กับผู้อื่นร่วมรับประทาน

ในประเทศไทยมีการจัดจำหน่ายยาไนตราซีแพมด้วยเช่นกัน แต่ประชาชนไม่สามารถซื้อได้จากร้านขายยา ด้วยยานี้จะมีใช้แต่ในสถานพยาบาล และแพทย์ผู้ให้การตรวจรักษาจะมีอำนาจในการสั่งจ่ายแต่ผู้เดียว

อาการนอนไม่หลับมีสาเหตุมาจากเหตุผลหลายประการ เราควรแก้ไขที่ต้นเหตุ การใช้ยานอนหลับเป็นเรื่องปลายทาง ซึ่งควรหลีกเลี่ยงและใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายโดยแพทย์เป็นผู้พิจาณาการใช้ยานี้

อนึ่ง มีบทความเรื่อง “นอนไม่หลับ” อยู่หลายบทความในเว็บไซด์ หาหมอ.com ที่ผู้อ่านสามารถนำข้อมูลมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ หรือแนะนำบุคคลในครอบครัวเพื่อบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้เป็นอย่างดี เช่นบทความเรื่อง สุขลักษณะการนอน เป็นต้น

ไนตราซีแพมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไนตราซีแพม

ยาไนตราซีแพมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาช่วยให้นอนหลับ/ยานอนหลับ ที่เหมาะกับผู้ที่นอนไม่หลับในระดับรุนแรงเท่านั้น
  • ใช้บำบัดอาการตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง

ไนตราซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไนตราซีแพมจะเข้ากระตุ้นตัวรับ(Receptor)ในสมอง ส่งผลให้สารสื่อประสาทที่ชื่อ GABA เข้าจับกับตัวรับที่มีชื่อเรียกว่า GABA receptor ได้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นผลให้ GABA แสดงฤทธิ์ออกมาอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน หน้าที่หลักๆของ GABA คือ ยับยั้งการทำงานของสารสื่อฯชนิดอื่นๆในสมองซึ่งมีความสัมพันธ์กระตุ้นให้รู้สึกง่วงนอน เกิดภาวะกล้ามเนื้อของร่างกายผ่อนคลายลง และยังช่วยควบคุมอาการวิตกกังวลได้อีกด้วย

ไนตราซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไนตราซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Nitrazepam ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Nitrazepam ขนาด 10 มิลลิกรัม/แคปซูล

ไนตราซีแพมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไนตราซีแพม มีขนาดรับประทานสำหรับใช้เป็นยานอนหลับ เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนนอน หากจำเป็น แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 10 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนนอนเช่นกัน
  • เด็ก: การใช้ยานี้รวมถึงขนาดของยานี้ในเด็ก อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์ โดยทั่วไป ไม่ควรใช้ยานี้นานเกิน 1–2 สัปดาห์

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไนตราซีแพม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/ หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไนตราซีแพมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไนตราซีแพม สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

ไนตราซีแพมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไนตราซีแพมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการความจําเสื่อม เดินเซ วิงเวียน มีอาการคล้ายเมาค้าง ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย
  • ผลต่อระบบเลือด:เช่น มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อตา:เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด มีสารคัดหลั่งในหลอดลมเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ:เช่น อยู่ไม่สุข/ลุกลี้ลุกรน เกิดอาการสับสน ประสาทหลอน ฝันร้าย
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด:เช่น ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเร็ว

มีข้อควรระวังการใช้ไนตราซีแพมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไนตราซีแพม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยานอนหลับชนิดอื่นใดร่วมกับไนตราซีแพมโดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • กรณีพบอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยา ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/แกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไนตราซีแพมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไนตราซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไนตราซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาไนตราซีแพม ร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะเพิ่มการวิงเวียนและทำให้เกิดอาการง่วงนอนมากยิ่งขึ้น จนส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไนตราซีแพมร่วมกับ ยาBarbiturates, ยาPhenothiazine, ยาต้านฮีสตามีน/ยาแก้แพ้ และยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ เพราะจะทำให้เกิดฤทธิ์สงบประสาท/กดการทำงานสมองมากจนเกินไปจนเกิดอันตราย/ภาวะโคม่าได้

ควรเก็บรักษาไนตราซีแพมอย่างไร?

ควรเก็บยาไนตราซีแพมภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไนตราซีแพมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไนตราซีแพม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Hypnotex (ฮิปโนเท็กซ์)Pharma Corp Inc.
Insomin Forte (อินโซมิน ฟอร์ท)Psyco Remedies.
Mogadon (โมกาดอน)Labiana Pharmaceuticals S.L.U.
Nitrados (ไนทราดอส)Douglas
Nipam (ไนแพม)La Pharmaceuticals
Nitrac - 10 (ไนแทร็ก-10)Cooper Pharma Ltd
Nitraplan (ไนทราแพลน)Magnet Labs Pvt Ltd
Sleeparm (สลีปพาร์ม)Symbiosis Labs (P) Ltd.

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Apo-nitraxepam

บรรณานุกรม

  1. http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/wp-content/uploads/2012/01/psychotropic-table-jan2013.pdf[2017,Dec16]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Nitrazepam[2017,Dec16]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/nitrazepam/?type=brief&mtype=generic[2017,Dec16]
  4. https://www.drugs.com/uk/pdf/leaflet/1041292.pdf[2017,Dec16]
  5. https://www.drugs.com/uk/nitrazepam-tablets-5mg-leaflet.html[2017,Dec16]
  6. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01595[2017,Dec16]
  7. https://www.hpra.ie/img/uploaded/swedocuments/2137363.PA1332_035_001.27fa024b-a372-41a0-a973-56d7a81420ff.000001PIL.140411.pdf[2017,Dec16]
  8. http://www.mims.com/singapore/drug/info/nitrados[2017,Dec16]