ไทโอแซนทีน (Thioxanthene)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ไทโอแซนทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไทโอแซนทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไทโอแซนทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไทโอแซนทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไทโอแซนทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไทโอแซนทีนอย่างไร?
- ไทโอแซนทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไทโอแซนทีนอย่างไร?
- ไทโอแซนทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)
- อารมณ์สองขั้ว หรือ ไบโพล่า (Bipolar disorder)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- กลุ่มอาการยึกยือเหตุจากยา (Tardive dyskinesia)
บทนำ
ยาไทโอแซนทีน (Thioxanthene) เป็นกลุ่มยาที่นำมาใช้รักษาอาการของโรคทางจิตเวชแบบต่างๆ จัดเป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์แรง มีการออกฤทธิ์ที่ถูกเรียกในลักษณะของศัพท์ทางวิชาการว่า โดพามีน-2 รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Dopamine-2 receptor antagonists) ตัวยาจะกดและต่อต้านการทำงานของสารสื่อประสาทที่ชื่อ โดพามีน (Dopamine) และมีการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทนี้ที่สมองเสียใหม่จนทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น
อาจแบ่งยาในกลุ่มไทโอแซนทีนออกเป็นรายการย่อยได้ดังนี้
ก. Chlorprothixene: ถือเป็นยาตัวแรกของกลุ่มไทโอแซนทีนที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) หากตัวยาออกฤทธิ์ที่ตัวรับ (Receptor) ในสมองที่ชื่อ 5-HT2 receptors (5-hydroxytryptamine 2 receptors) จะช่วยลดความวิตกกังวล กรณีออกฤทธิ์ที่ตัวรับชื่อ Dopamine 1 (D1), Dopamine2 (D2), Dopamine3 (D3) receptors และที่ตัวรับชื่อ H1 receptors (Histamine 1 receptor) ตัวยาจะช่วยสงบประสาทและทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม หรือถ้าออกฤทธิ์ที่ตัวรับชื่อ Alpha1-adrenergic receptors จะทำให้ความดันโลหิตต่ำและหัวใจเต้นเร็ว ผลิตภัณฑ์ยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานและยาฉีด ตัวยาอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 8 - 12 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกกำจัดออกไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
ข. Clopenthixol: เป็นยาที่มีสูตรเคมีเหมือนยา Zuclopenthixol แต่มีการจัดเรียงโครงสร้างโมเลกุลต่างกันเล็กน้อย รู้จักกันในทางคลินิกเมื่อปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน มีใช้กันอย่างแพร่หลายยกเว้นในอเมริกา โดยฤทธิ์ที่โดดเด่นของยานี้ คือเป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด
ค. Flupentixol หรือ Flupenthixol: เป็นยารักษาทางจิตเวชที่มีใช้ในประเทศไทย ในสูตรตำรับมักจะผสมยา Melitracen (ยาต้านเศร้า) ร่วมด้วยพบเห็นในรูปของยารับประทาน โดยตัวยาอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 35 ชั่วโมง การใช้ยานี้ในขนาดต่ำจะช่วยลดอาการซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ Flupenthixol จัดเป็นหนึ่งรายการยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย
ง. Thiothixene หรือ Tiotixene: เป็นยาที่มีฤทธิ์คล้ายกับยา Chlorpromazine มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยารับประทาน เริ่มเป็นที่รู้จักกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) โดยมีการจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Navane
ง. Zuclopenthixol: เป็นอีกหนึ่งรายการยาที่พบเห็นการใช้ในประเทศไทย และถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยานี้เป็นที่รู้จักกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) รูปแบบของผลิตภัณฑ์ มีทั้งยารับประทานและยาฉีด
การเลือกใช้ยาแต่ละตัวในกลุ่มยาไทโอแซนทีนจะขึ้นอยู่กับอาการทางจิตของผู้ป่วยแต่ละบุคคลซึ่งมีอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป ผู้ป่วยบางกลุ่มควรได้รับยาชนิดออกฤทธิ์นานและมีความถี่การให้ยาน้อยครั้ง แต่ผู้ป่วยบางกลุ่มก็สามารถใช้ยารับประทานแบบเป็นประจำด้วยมีการให้ความร่วมมือและอาการไม่รุนแรงมากนัก นอกจากนี้การเลือกใช้ยาไทโอแซนทีนในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากเช่น การใช้กับผู้ป่วยเด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ล้วนแล้วเป็นปัจจัยที่แพทย์ต้องนำมาพิจารณาก่อนทำการจ่ายยาให้ผู้ป่วยเสมอ
การบริหารยา/การใช้ยาไทโอแซนทีนกับผู้ป่วยต้องอาศัยความต่อเนื่องและมีการเฝ้าติดตามอย่างสม่ำเสมอ และยาไทโอแซนทีนอาจไม่ใช่ยาทางเลือกแรกในการรักษาโรคทางจิตเวช
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ใช้ยาไทโอแซนทีนชนิดที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติก็ต่อเมื่อใช้ยารักษาโรคทางจิตเวชประเภทอื่นแล้วไม่ได้ผล อีกทั้งยาไทโอแซนทีนยังถูกจัดเป็นยาอันตราย การใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างปลอดภัยเหมาะสมต่อผู้ป่วยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ไทโอแซนทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไทโอแซนทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการทางจิตเวชแบบต่างๆเช่น ไบโพล่า (Bipolar)/โรคอารมณ์สองขั้ว ลดอาการซึมเศร้า และช่วยสงบประสาท/คลายเครียด
ไทโอแซนทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลุ่มยาไทโอแซนทีนมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อตัวรับ (Receptors) ของสารสื่อประสาทในสมองได้หลายชนิดเช่น 5-HT2 receptor, Dopamine (D1 D2 และ D3) receptor, H1-receptor, Alpha1-adrenergic receptor รวมถึง Muscarinic acetylcholine receptor ซึ่งการได้รับยาในกลุ่มไทโอ แซนทีนอย่างเหมาะสมจะทำให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทต่างๆในสมองได้อย่างพอเหมาะทำให้อาการทางจิตเวชแบบต่างๆทุเลาลง จนเป็นที่มาของสรรพคุณ
ไทโอแซนทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากลุ่มไทโอแซนทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาชนิดรับประทานเช่น ยาเม็ด ยาแคบซูล ยาน้ำ
- ยาฉีด
ไทโอแซนทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทาน/ขนาดการใช้ยาของยาไทโอแซนทีนจะขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์โดยต้องอาศัยข้อมูลต่างๆของตัวผู้ป่วยเช่น ชนิดโรค ความรุนแรงของอาการ อายุ โรคประจำตัว ชนิดยาต่างๆอื่นๆที่ใช้อยู่ ร่วมกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นการรับประทาน/การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
อนึ่งการใช้ยาไทโอแซนทีนรูปแบบรับประทานเพื่อลดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยานี้ในระบบทางเดินอาหารสามารถรับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือนมหรือน้ำดื่มในปริมาณที่เพียงพอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไทโอแซนทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทโอแซนทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไทโอแซนทีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไทโอแซนทีนตรงเวลา การลืมรับประทานยานี้บ่อยหลายครั้งหรือหยุดการใช้ยานี้เองสามารถก่อให้เกิดผลเสียต่างๆตามมา เช่น ทำให้อาการป่วยแย่ลง
ไทโอแซนทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากยากลุ่มไทโอแซนทีนที่ดูเหมือนรุนแรง จะเป็นเรื่องความผิดปกติของการเคลื่อนไหวร่างกายคือ ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการทรงตัวได้หรือที่เรียกในศัพท์วิชาการว่า Tardive dyskinesia
นอกจากนี้ยากลุ่มไทโอแซนทีนยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น สูญเสียการทรงตัว กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว ไม่สามารถควบคุมการทำงานของแขน-ขาได้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ ค่า ECG เปลี่ยนไป ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น พบอาการผื่นคัน ทำให้ผิวแห้ง สีผิวเปลี่ยนไป ผิวมีสีเหลือง การหลั่งเหงื่อน้อยลง
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ทำให้เกิดภาวะรวมตัวของเกล็ดเลือด/เกิดลิ่มเลือดได้ง่าย
- ผลต่อการมองเห็น: เช่น ตาพร่า กระพริบตาบ่อย รูม่านตาขยาย มองภาพไม่ชัดเจน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง อาเจียน ปวดท้อง
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนไป มีภาวะเต้านมโตทั้งในบุรุษและสตรี อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนไป น้ำหนักตัวเพิ่ม
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ทำให้สมรรถนะทางเพศของบุรุษถดถอย (โรคนกเขาไม่ขัน) ประจำเดือนมาผิดปกติในสตรี
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น นอนไม่หลับหรือง่วงนอน วิงเวียน เป็นลม ซึมเศร้า วิตกกังวล ฝันร้าย เกิดอาการชัก มีไข้สูง
*อนึ่งกรณีได้รับยากลุ่มไทโอแซนทีนเกินขนาดสามารถพบอาการหายใจลำบาก วิงเวียนและง่วงนอนอย่างรุนแรง รูม่านตาหดเล็ก อ่อนแรงและอ่อนเพลียอย่างมาก หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ไทโอแซนทีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไทโอแซนทีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มไทโอแซนทีน
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยานี้หลังการรับประทานเช่น ตัวบวม มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว แน่นอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองควรรับประทานยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์
- ห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยมิได้ปรึกษาแพทย์ด้วยอาจทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น
- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดด้วยระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้จะทำให้ความสามารถในการทนต่อแสงแดดเปลี่ยนไป/ลดลง
- กรณีพบอาการปากแห้งหลังใช้ยานี้สามารถบรรเทาอาการโดยเคี้ยวหมากฝรั่ง อมลูกกวาด หรืออมน้ำแข็งเพื่อช่วยบรรเทา กรณีอาการปากแห้งไม่ดีขึ้นเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด หรือถ้าอาการรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ในการพูด ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด
- หากใช้ยานี้ไปตามระยะเวลาที่เหมาะสมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ระหว่างการใช้ยานี้หากมีอาการวิงเวียน ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่ต้องควบคุมเครื่องจักรด้วยอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มไทโอแซนทีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไทโอแซนทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไทโอแซนทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- ห้ามใช้ยากลุ่มไทโอแซนทีนร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะก่อให้เกิดการกดการทำงานของสมองส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอนและวิงเวียนอย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยากลุ่มไทโอแซนทีนร่วมกับยาลดกรดด้วยจะทำให้ฤทธิ์การรักษาของตัวยาไทโอ แซนทีนด้อยลงไป
- การใช้ยากลุ่มไทโอแซนทีนร่วมกับยาบางกลุ่มจะทำให้ผลข้างเคียงของตัวยาไทโอแซนทีนเกิดกับผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างเช่น กลุ่มยาต้านฮีสตามีน/ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียด ยากลุ่ม Barbiturates ยารักษาอาการชัก/ยาต้านชัก ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาไทโอแซนทีน
ควรเก็บรักษาไทโอแซนทีนอย่างไร?
ควรเก็บยาไทโอแซนทีนในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไทโอแซนทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไทโอแซนทีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anxiset (แอนไซเซ็ต) | Rhavenbhel |
Deanxit (ดีนซิท) | Lundbeck |
Clopixol (โคลพิซอล) | Lundbeck |
Cisordinol (ซิซอร์ดินอล) | Lundbeck |
Acuphase (แอคูเฟส) | Lundbeck |
Navane (นาเวน) | Pfizer |
Sordinol (ซอร์ดินอล) | Lundbeck |
Depixol (ดีพิซอล) | Lundbeck |
Fluanxol (ฟลูแอนซอล) | Lundbeck |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Thioxanthene [2016,April16]
- http://www.drugs.com/drug-class/thioxanthenes.html [2016,April16]
- http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/thioxanthene-oral-route-parenteral-route/proper-use/drg-20069571 [2016,April16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Chlorprothixene [2016,April16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Clopenthixol [2016,April16]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/64#item-8488 [2016,April16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Flupentixol [2016,April16]
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Tiotixene [2016,April16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Zuclopenthixol [2016,April16]
- https://www.doctor.or.th/ask/detail/7333 [2016,April16]
- http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/thioxanthene-oral-route-parenteral-route/precautions/drg-20069571 [2016,April16]