ไทอามิดอล (Thiamidol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- สาเหตุหลักของการเกิดฝ้าคืออะไร?
- ผลิตภัณฑ์รักษาฝ้ากระในประเทศไทย
- ไทอามิดอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไทอามิดอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไทอามิดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไทอามิดอลอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไทอามิดอลอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- ฝ้า (Melasma)
- กระ (Freckle)
- แสงแดด (Sunlight)
- ครีมกันแดด (Sunscreen)
- ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)
- กรดเรทิโนอิก (Retinoic acid)
- กรดอะซีลาอิก (Azelaic acid)
- อาร์บูติน (Arbutin)
บทนำ
‘ฝ้า’ เป็นลักษณะของผิวหนังที่มีเม็ดสีหรือที่เรียกกันว่าเมลานิน (Melanin) มากเกินปกติมารวมตัวกันในบริเวณผิวหนังที่โดนแสงแดดจัดบ่อยๆ โดยเฉพาะตรงใบหน้าและลำคอ ประชากรโลกหลายล้านคนพบปัญหากับฝ้าบนใบหน้า ส่งผลให้สูญเสียความสวยงามตลอดจนกระทั่งขาดความมั่นใจและก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายมากมายในการรักษา บางกรณี อาจเกิดฝ้าได้ยาวนานตลอดชีวิต นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานถึงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดฝ้ามีอยู่หลายประการ อาทิ แสงยูวีในแสงแดด, ฮอร์โมนเพศ, พันธุกรรม, สภาวะการตั้งครรภ์ การใช้ยาคุมกำเนิด, และ/หรือการใช้ฮอร์โมนทดแทนต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า กลไกการผลิตเมลานินเกิดจากการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่าไทโรซิเนส Tyrosinase) ดังนั้นการป้องกันการเกิดฝ้าโดยการใช้อนุพันธุ์ไทโรซิเนส อินฮิบิเตอร์ (Tyrosinase inhibitors, สารต้านไทโรซิเนส) ซึ่งมนุษย์สามารถสืบค้นได้มากกว่า 50,000 ชนิด สามารถป้องกันและปิดกั้นการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ในระดับหนึ่ง
ในปี ค.ศ.2019 (พ.ศ.2562) มีการศึกษาในเบื้องต้นที่พบว่า สารประกอบไทอามิดอล(Thiamidol) หรือในชื่ออื่นว่า Isobutylamido-thiazolyl-resorcinol มีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ค่อนข้างดี และได้ตีพิมพ์การศึกษานี้ใน Journal of Investigative Dermatology โดยคณะผู้วิจัย นำโดย Craig Arrowitz จาก Beiersdorf Inc, Wilton, Connecticut, USA ,และท่านอื่นๆได้แก่ Andrea M. Schoelermann , Tobias Mann , Lily I. Jiang , Teresa Weber, and Ludger Kolbe ศึกษาทดลองกับอาสาสมัครที่ต้องการรักษาฝ้า 41 คน ได้รับการทาผิวหนังบริเวณที่เกิดฝ้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไทอามิดอลเป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า 79% ของอาสาสมัคร
- สภาพฝ้าจางลงภายใน 4 สัปดาห์แรกของการใช้
- สภาพการเป็นฝ้าจะจางลงอีกในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 ตามลำดับ และ
- ไม่พบว่าอาสาสมัครที่เข้ารับการใช้ไทอามิดอลมีปริมาณฝ้าเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
- เมื่อเปรียบเทียบกับอาสาสมัครกลุ่มควบคุมทดลอง (ไม่ระบุจำนวนอาสาสมัคร) ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบไฮโดรควิโนน (Hydroquinone, สารอีกชนิดที่ใช้รักษาฝ้า) ในระยะเวลาเท่าๆกัน พบว่า
- 61% มีสภาพฝ้าดีขึ้น และ
- พบว่า 10% ของอาสาสมัครกลุ่มควบคุมฯมีสภาพของฝ้าแย่ลงกว่าเดิม
(Journal of Investigative Dermatology 2019. 139; 1691e-1698e)
https://www.jidonline.org/article/S0022-202X(19)30137-X/pdf
รูปแบบผลิตภัณฑ์ของสารไทอามิดอล (Thiamidol) ที่ใช้เป็นเครื่องสำอางทาผิวหนังบริเวณใบหน้าและลำคอ ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไทอามิดอลภายใต้ชื่อการค้าของ Eucerin
สาเหตุหลักของการเกิดฝ้าคืออะไร?
ถ้าไม่นับ กลุ่มสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ผู้ที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด, ผู้ที่ได้รับฮอร์โมนเพศ, ผู้ที่มีภาวะเครียด, และผู้ป่วยด้วยโรคของต่อมไทรอยด์(ไทรอยด์) อีกสาเหตุของการเกิดฝ้ามาจากการกระตุ้นโดยรังสียูวี (UV) ที่ปนมากับแสงแดด ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังสร้างเม็ดสีเมลานินออกมามากเกินไป เกิดลักษณะสีผิวไม่สม่ำเสมอที่เรียกว่า ‘ฝ้า-กระ’
*อนึ่ง: เพื่อการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษาฝ้าในท้องตลาดซึ่งมีอยู่มากมายได้อย่างปลอดภัย ผู้บริโภคสามารถขอคำแนะนำก่อนใช้ จาก แพทย์ เภสัชกร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญของผลิตภัณฑ์รักษาฝ้านั้นๆ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสามารถสืบค้นการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาฝ้าชนิดต่างๆได้จากบทความวิชาการจากแหล่งที่น่าเชื่อถือต่างๆ รวมถึงที่มีแหล่งอ้างอิงเชิงวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื้อถือมาประกอบกัน
ผลิตภัณฑ์รักษาฝ้ากระในประเทศไทย
อาจจำแนกผลิตภัณฑ์รักษาฝ้า-กระ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดบ้านเรา ดังนี้
ก. ยาทากลุ่มกรดวิตามินเอ หรือ กรดเรทิโนอิก (Retinoic Acid) เป็นยาทาที่ช่วยเร่งการผลัดเซลล์ผิวชั้นบน ช่วยให้รอยฝ้าดูจางลง การใช้ยาประเภทนี้ต้องใช้อย่างต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์จึงจะเห็นประสิทธิผล ระหว่างที่ใช้กรดวิตามินเอ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด ด้วยตัวยาทำให้ผิวหนังไวต่อแสงหรือเกิดอาการแพ้ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ข. กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน ทางคลินิกนำมาใช้ทดแทนกลุ่มยาไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) การใช้ กรดอะซีลาอิก ช่วงแรกอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังหรือแสบร้อนบริเวณผิวหนัง จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น
ค. สารไวท์เทนนิ่ง (Whitening Agents) ที่นำมาเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางเพื่อสนับสนุนการบำรุงผิว เช่น วิตามินซี (Vitamin C), กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic acid), สารสกัดจากชะเอมเทศ, สาร อาร์บูติน (Arbutin), กรดโคจิก (Kojic acid) และสารสกัดจากถั่วเหลือง เป็นต้น
ง. ไทอามิดอล (Thiamidol) เป็นสารลดการเกิดฝ้าที่คิดค้นและพัฒนาโดย บริษัท ไบเออร์สดอรฟ (Beiersdorf AG) จากประเทศเยอรมันนี โดยใช้ชื่อการค้าผลิตภัณฑ์ว่า Eucerin ที่สามารถยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase)
ไทอามิดอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
สารไทอามิดอล มีการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีของผิวหนังจึงมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ช่วยลด ฝ้า กระ บนใบหน้าและลำคอ
ไทอามิดอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
เมลลาโนไซด์ (Melanocyte) ซึ่งเป็นเซลล์ใต้ผิวหนังชั้นอีพิเดอร์มิส (Epidermis, หนังกำพร้า) มีหน้าที่ผลิตเม็ดสีที่เรียกว่าเมลานิน (Melanin) โดยมีรังสียูวีจากแสงแดดเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นหรือเร่งการผลิตเมลานิน จากนั้นเมลานินจะถูกส่งมายังชั้นหนังกำพร้าซึ่งมีการผลัดเซลล์อยู่เป็นประจำ สำหรับการผลิตเม็ดสีเมลานินนั้น เมลลาโนไซด์ต้องอาศัยไทโรซิเนส(Tyrosinase) เป็นตัวขับเคลื่อน สารไทอามิดอลจะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส ส่งผลให้สารเมลลาโนไซด์ผลิตเม็ดสีเมลานินได้ลดน้อยลง จากนั้นหนังกำพร้าจะทำการผลัดเซลล์ทิ้งตามกลไกธรรมชาติ จึงทำให้รอยฝ้าจางลง
ทั้งนี้ เราอาจสรุปกลไกการเกิดฝ้าและการรักษาโดยเขียนเป็นแผนผัง ดังนี้
ไทอามิดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
สารไทอามิดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง,โลชั่น, สำหรับทาผิวหนังภายนอก โดยมีส่วนประกอบของสารประกอบ Thiamidol เป็นสารสำคัญ ซึ่งในท้องตลาดสามารถพบเห็นสารสำคัญตัวอื่นที่ผสมร่วมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ Thiamidol อาทิ
- Dexpanthenol, เป็นโปรวิตามินบี5 ช่วยเร่งการซ่อมแซมผิวหนัง เพิ่มความชุ่มชื้น และลดการอักเสบตลอดจนความหยาบกร้านของผิวหนัง
- Tocopherol(วิตามินอี), ช่วยให้เซลล์ผิวหนังรุ่นใหม่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง ส่งผลให้ริ้วรอยจางลง
- Sunscreen(ครีมกันแดด), เป็นสารประกอบที่สามารถกรองและลดพลังงานของรังสียูวีเอและยูวีบีที่ปนมากับแสงแดด ทำให้ลดการกระตุ้นการสร้างเมลานิน จากเมลาโนไซด์
มีข้อควรระวังการใช้ไทอามิดอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ไทอามิดอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยา/แพ้สารไทอามิดอล
- ห้ามรับประทานหรือให้เข้าตา
- หลีกเลี่ยงปรับเปลี่ยนการใช้ผลิตภัณฑ์เกินขนาดจากคำแนะนำจากเอกสารกำกับตัวผลิตภัณฑ์/ฉลากยา
- กรณีมีอาการแพ้ไทอามิดอลเกิดขึ้น ให้หยุดการใช้ผลิตภัณฑ์ แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
- หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจัดเพื่อลดการกระตุ้นฝ้าจากรังสียูวีเอและยูวีบี(แสงแดด)
- ศึกษาตัวผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไทอามิดอลแต่ละประเภทโดยละเอียด เพื่อเลือกใช้ได้เหมาะกับตนเอง
- ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ
- กรณีใช้ผลิตภัณฑ์ไทอามิดอลตามระยะเวลาที่กำหนดแล้วอาการฝ้า-รอยดำ บนใบหน้าไม่ดีขึ้นให้กลับมาปรึกษาแพทย์ผิวหนัง/มาโรงพยาบาล
ควรเก็บรักษาไทอามิดอลอย่างไร?
ควรเก็บรักษาสารไทอามิดอล เช่น
- เก็บผลิตภัณฑ์ไทอามิดอลที่อุณหภูมิห้อง (15–30 องศาเซลเซียส/Celsius)
- ห้ามเก็บผลิตภัณฑ์ในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- ไม่เก็บผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บผลิตภัณฑ์ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บผลิตภัณฑ์ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งผลิตภัณฑ์ลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
บรรณานุกรม
- https://www.jidonline.org/article/S0022-202X(19)30137-X/pdf [2020, Jan8]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/29427586 [2020, Jan8]
- https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0022202X18301003 [2020, Jan8]
- https://bmcdermatol.biomedcentral.com/articles/10.1186/1471-5945-12-18 [2020, Jan8]
- https://www.youtube.com/watch?v=VC0TL_lYLm8 [2020, Jan8]
- https://www.eucerin.co.th/products/ultrawhite/ultrawhite-night-fluid [2020, Jan8]
- https://www.healthline.com/health/melasma#symptoms [2020, Jan8]
- https://www.boon-herb.com/herballibrary/soy-protein [2020, Jan8]
- https://reader.elsevier.com/reader/sd/pii/S0022202X18301003?token=EB3385BC8F01CCC03C2F4EAAD1489CFA3AB34D6E9B9B26E4EACB35DFA9294087DB90F5CBC7801605231930F6413195F1 [2020, Jan8]