ไทลูโดรเนต (Tiludronate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 มิถุนายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- ไทลูโดรเนตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไทลูโดรเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไทลูโดรเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไทลูโดรเนตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไทลูโดรเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไทลูโดรเนตอย่างไร?
- ไทลูโดรเนตมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไทลูโดรเนตอย่างไร?
- ไทลูโดรเนตมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- ยาแอสไพริน (Aspirin)
บทนำ
ยาไทลูโดรเนต(Tiludronate หรือ Tiludronate disodium) หรือในชื่ออื่นคือ กรดไทลูโดรนิก(Tiludronic acid) เป็นยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต(Bisphosphonates) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคพาเจตของกระดูก (Paget’s disease of bone, โรคกระดูกชนิดหนึ่งที่พบยาก ยังไม่ทราบสาเหตุเกิด อาการโรค คือปวดกระดูกเรื้อรังและกระดูกหักง่าย)ที่กลไกของโรคนี้จะมีการรบกวนกระบวนการนำแร่ธาตุ เช่น แคลเซียมจากมวลกระดูกเดิม เพื่อกลับมาใช้ใหม่(Recycling process)เสียสมดุลไป ซึ่งสามารถพบเห็นโรคเกิดใน กระดูกเชิงกราน กะโหลก กระดูกสันหลัง และกระดูกขา ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการปวดกระดูกด้วยกระดูกพยายามสร้างเนื้อเยื่อกระดูกรุ่นใหม่เข้ามาทดแทนรวดเร็วเกินไป ทำให้กระดูกเจริญในลักษณะเสียรูปและอาจเกิดความพิการของกระดูกตามมา
อนึ่ง ในปี ค.ศ.2014 (พ.ศ.2557)ทางอเมริกาได้รับรองให้ใช้ยาไทลูโดรเนตรักษาโรค นาวิคูลาร์(Navicular disease, โรคกระดูกข้อเท้าสัตว์กีบ)ในสัตว์กีบเช่นม้าเพิ่มขึ้นอีก1 โรค ซึ่งบทความนี้ จะกล่าวถึงยาไทลูโดรเนต กรณี”ใช้ในคน”เท่านั้น
ยาไทลูโดรเนต มีลักษณะเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน และมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเพียงประมาณ 6% ประมาณครึ่งหนึ่งของตัวยาในกระแสเลือดจะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ และยาที่เหลือจะมีกลไกป้องกันการสลายแคลเซียมจากมวลกระดูก ส่งผลลดความรุนแรงของกระดูกที่ชำรุด และทำให้การปรับคืนรูปของกระดูกเป็นไปในลักษณะที่ดีขึ้น
ธรรมชาติของร่างกาย การทำลายตัวยาหลายชนิดจะมีความสัมพันธ์กับการทำงานของไต ด้วยไตเป็นอวัยวะที่สามารถกำจัดยาไทลูโดรเนตออกจากกระแสเลือดได้ จึงเป็นเหตุผลทำให้ไม่สามารถใช้ยาชนิดนี้/ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตในขั้นรุนแรง รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาทางกายภาพที่ไม่สามารถยืนหรือนั่งได้เป็นเวลานาน 30 นาทีขึ้นไป ก็อยู่ในขอบข่ายห้ามใช้ยาชนิดนี้เช่นเดียวกัน เพราะอาจทำให้ยานี้อาจตกค้างอยู่ในหลอดอาหารหลังการกลืนกินยาซึ่งจะส่งผลให้ยานี้ก็การอักเสบ/แผลต่อหลอดอาหารได้
ยาไทลูโดรเนต จัดว่าเป็นยาอันตรายชนิดหนึ่ง ด้วยมีผลข้างเคียงต่างๆ และ ผู้ป่วยบางรายอาจแพ้ยาชนิดนี้ *ทางคลินิกจึงมีคำเตือนให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการดังต่อไปนี้ เช่น กลืนลำบาก แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง ไอมีเลือดปน/ไอเป็นเลือด ปวดข้อ ปวดกระดูก หรือปวดกล้ามเนื้อ อย่างรุนแรง ท้องเสียอย่างหนัก เกิดตุ่ม/ผื่นแดงบนผิวหนัง หากพบเป็นอาการเหล่านี้ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ห้ามรอถึงวันแพทย์นัด
อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้ยาชนิดนี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อประเมินความเหมาะสมในการใช้ยาไทลูโดรเนต การใช้ยานี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต้องอาศัยระยะเวลาและความต่อเนื่องในการใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
ไทลูโดรเนตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไทลูโดรเนตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาโรคพาเจตของกระดูก(Paget’s disease of bone)
ไทลูโดรเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไทลูโดรเนต มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งหรือรบกวนการทำงานของเซลล์ออสทิโอคลาส(Osteoclast, เซลล์กระดูกชนิดมีหน้าที่สลายมวลกระดูกเพื่อให้กระดูกมีรูปร่างสมดุลกับมวลกระดูกที่สร้างจากเซลล์กระดูกชนิด Osteoblast) มิให้เกาะติดกับผิวกระดูก ส่งผลให้ลดการสลายมวลกระดูกจากเซลล์ออสทิโอคลาส ทำให้กระดูกมีการปรับสมดุลของการดูดซับแคลเซียมเข้าสู่กระดูกให้เป็นไปอย่างปกติมากขึ้น จึงทำให้อาการของโรคทุเลาลง
ไทลูโดรเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไทลูโดรเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Tiludronate disodium ขนาด 240 มิลลิกรัม/เม็ด
ไทลูโดรเนตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไทลูโดรเนตมีขนาดรับประทานเพื่อใช้รักษาโรคพาเจตของกระดูก(Paget’s disease of bone) เช่น
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 400 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งเป็นเวลา 3 เดือน หากจำเป็นแพทย์อาจต้องให้ยาซ้ำหลังการใช้ยาครั้งแรกไปแล้ว 3–6 เดือน
- ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยที่เพียงพอในการใช้ยานี้/ขนาดยานี้ในกลุ่มคนวัยนี้
อนึ่ง:
- ไม่ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารเพราะจะลดการดูดซึมตัวยา
- ควรรับประทานยานี้ หลัง หรือ ก่อนอาหารประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นอย่างต่ำ
- การรับประทานยานี้เกินขนาดสามารถส่งผลให้มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ
- ผู้ป่วยที่ได้รับแคลเซียมหรืออาหารเสริมที่มีแคลเซียมร่วมในการรักษาต้องเว้นระยะห่างจากการรับประทานยาไทลูโดรเนตอย่างต่ำ 2 ชั่วโมงขึ้นไป
- ห้ามรับประทานยาไทลูโดรเนต ร่วมกับ ยาIndomethacin หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรเว้นระยะเวลาห่างกัน 2 ชั่วโมงขึ้นไป
- เข้ารับการตรวจระดับแคลเซียม และมวลกระดูก ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไทลูโดรเนต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทลูโดรเนต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไทลูโดรเนต สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ให้รับประทานยานี้ที่ขนาดปกติในเวลาเดิมห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
ไทลูโดรเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไทลูโดรเนตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง/อ่อนเพลีย มีภาวะแคลเซียม และ/หรือฟอสเฟตในเลือดต่ำ เกิดภาวะกระดูกขากรรไกตาย(Osteonecrosis of the jaw)
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง ใบหน้าแดง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องผูก อาเจียน กระเพาะอาหารอักเสบ ปากแห้ง
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล ง่วงนอนหรือไม่ก็นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร กระสับกระส่าย
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมอักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เหงื่อออกมาก มีภาวะ/กลุ่มอาการ Stevens-Johnson syndrome
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น โรคระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
มีข้อควรระวังการใช้ไทลูโดรเนตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไทลูโดรเนต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- รับประทานยานี้ตรงขนาดและเวลาที่แพทย์กำหนด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาชนิดอื่นๆร่วมกับยาไทลูโดรเนตโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องอยู่ภายใต้คำสั่ง ของแพทย์เท่านั้น
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง ไม่ควรหยุดการรักษาไปเฉยๆโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไทลูโดรเนตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไทลูโดรเนตมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไทลูโดรเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาไทลูโดรเนตร่วมกับ ยาIndometacin เพราะจะทำให้ระดับยาไทลูโดรเนตในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่างๆสูงขึ้นตามมาจากยาIndometacin
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไทลูโดรเนตร่วมกับ กลุ่มยาAminoglycosides ด้วยจะทำให้ ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไทลูโดรเนตร่วมกับ ยาAspirin เพราะจะทำให้ลดการดูดซึมของยาไทลูโดรเนตจากระบบทางเดินอาหาร จนเป็นเหตุให้ประสิทธิผลการรักษาของยาไทลูโดรเนตด้อยลง
- ห้ามใช้ยาไทลูโดรเนตร่วมกับ ยาลดกรด หรือยาที่มีแคลเซียม หรือแมกนีเซียม เป็นองค์ประกอบ รวมถึงยาจำพวกธาตุเหล็ก เพราะจะทำให้การดูดซึมยาไทลูโดรเนตจากระบบทางเดินอาหารน้อยลง
ควรเก็บรักษาไทลูโดรเนตอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาไทลูโดรเนตดังนี้ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่เสื่อมสภาพหรือยาที่หมดอายุแล้ว
- ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองตามธรรมชาติ
ไทลูโดรเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไทลูโดรเนต มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
SKELID (สเคลิด) | sanofi-aventis |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tiludronic_acid [2018,June9]
- https://www.drugs.com/cdi/tiludronate.html [2018,June9]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/020707s006lbl.pdf [2018,June9]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/tiludronic%20acid/?type=brief&mtype=generic [2018,June9]
- https://www.rxlist.com/skelid-drug/patient-images-side-effects.html [2018,June9]
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pagets-disease-of-bone/symptoms-causes/syc-20350811 [2018,June9]