ไทรมิพรามีน (Trimipramine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 มีนาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ไทรมิพรามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไทรมิพรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไทรมิพรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไทรมิพรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไทรมิพรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไทรมิพรามีนอย่างไร?
- ไทรมิพรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไทรมิพรามีนอย่างไร?
- ไทรมิพรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาทีซีเอ ยารักษาโรคซึมเศร้า (TCAs : Tricyclic and tetracyclic antidepressants)
- โรคซึมเศร้า (Depression): สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- ยาต้านเศร้า(Antidepressants)
- สารสื่อประสาท (Neurotransmitter)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
บทนำ
ยาไทรมิพรามีน(Trimipramine หรือ Trimipramine maleate) เป็นยาประเภท Tricyclic antidepressant(TCA) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคซึมเศร้า โดยมีฤทธิ์ช่วยสงบประสาทร่วมด้วย บางกรณีแพทย์อาจจะสั่งจ่ายยานี้เพื่อบำบัดอาการนอนไม่หลับได้เช่นกัน รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไทรมิพรามีนเป็นยาชนิดรับประทานและยาฉีด ตัวยาในกระแสเลือดจะถูกทำลายโครงสร้างเดิมที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 23–24 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ยาชนิดนี้ เช่น
- ผู้ที่แพ้ยานี้
- ผู้ที่เพิ่งมีอาการหัวใจวายมาไม่นาน หรือมีภาวะหัวใจหยุดเต้น หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผู้ที่มีอาการทางจิตประสาทในลักษณะคลุ้มคลั่ง
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับในระยะรุนแรง
- สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ผู้ที่ใช้ยากลุ่ม MAOI
ผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าจะต้องได้รับไทรมิพรามีนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ขึ้นไป อาการจึงค่อยดีขึ้นเป็นลำดับ *กรณีที่ได้รับยาไทรมิพรามีนมากเกินไปจะส่งผลให้มีอาการง่วงนอนมาก อาเจียนรุนแรง รูม่านตาขยาย กล้ามเนื้อตามร่างกายหดแข็งแกร่ง/เป็นตะคริว มีไข้ รู้สึกหนาว หรือเกิดอาการเป็นลม ความรุนแรงเหล่านี้จะมากกว่าการได้รับยากลุ่ม SSRIs และยากลุ่ม SNRIs เกินขนาดเสียอีก
ยาไทรมิพรามีน เป็นยาที่ออกฤทธิ์ที่สมอง สิ่งที่ต้องระมัดระวังเมื่อเกิดการปรับสารสื่อประสาทในผู้ป่วยด้วยอาการซึมเศร้า คือ อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ได้รับยาต้านเศร้า อาจทำให้เกิดความคิดอยากทำร้ายตนเอง หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตายตามมา เราจึงไม่พบเห็นข้อบ่งใช้ทางคลินิกของยาชนิดนี้กับ ผู้ป่วยเด็กหรือผู้ป่วยที่เป็นวัยรุ่น
ข้อควรระวังด้านอื่นของการใช้ยาไทรมิพรามีน ยังมีเรื่องการรับประทานยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์ ผลข้างเคียงหรือไม่ก็มีภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยาเมื่อใช้ไทรมิพรามีนร่วมกับยาชนิดอื่น ดังนั้นผู้ป่วยไม่ควรไปซื้อหายาชนิดนี้มารับประทานเอง การใช้ไทรมิพรามีนได้อย่างปลอดภัยและถูกต้อง ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แต่ผู้เดียว
ไทรมิพรามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไทรมิพรามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้บำบัดรักษาอาการซึมเศร้า
ไทรมิพรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายกลไกการออกฤทธิ์ของยาไทรมิพรามีนได้อย่างชัดเจน กล่าวคือตัวยาชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาท Serotonin, Norepinephrine, และ Dopamine คืนสู่เซลล์ประสาทได้เล็กน้อย แต่จะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ชื่อ H1/Histamine1 receptor ได้รวดเร็ว และเข้ารวมตัวกับตัวรับชื่อ 5-HT2A/5-5-hydroxytryptamine receptor และ Alpha1-adrenergic receptor ได้เป็นอย่างดี ด้วยกลไกเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ต้านอารมณ์ซึมเศร้าได้ตามสรรพคุณ
ไทรมิพรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไทรมิพรามีน จะถูกออกแบบให้จำหน่ายในลักษณะของยารับประทานมากกว่ายาฉีด ด้วยผู้ป่วยสามารถนำกลับมารับประทานที่บ้านได้ ดังนั้นเรามักจะพบเห็นยาไทรมิพรามีนในลักษณะ ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่มีส่วนประกอบของตัวยา Trimipramine maleate ขนาด 25, 50, และ 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
ไทรมิพรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไทรมิพรามีน มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 50–75 มิลลิกรัม/วัน อาจแบ่งรับประทานหรือรับประทานครั้งเดียวก่อนนอนก็ได้ โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ กรณีจำเป็น แพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 150–300 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้สูงอายุ: เริ่มต้นรับประทานยา 50–75 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก: การใช้และขนาดยานี้ในเด็ก ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไทรมิพรามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทรมิพรามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับ ยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาไทรมิพรามีน ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานที่ขนาดปกติ
อนึ่ง การใช้ยาไทรมิพรามีน ผู้ป่วยจะต้องได้รับยานี้อย่างต่อเนื่อง จึงจะเห็นประสิทธิผล
ไทรมิพรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไทรมิพรามีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีความวิตกกังวล รู้สึกสับสน เกิดประสาทหลอน หลงผิด อาจมีอารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ลดลง ฝันร้าย กระสับกระส่าย มีความรู้สึกอยากทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ตัวสั่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงนอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน มีอาการชัก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เป็นตะคริวที่ท้อง ลิ้นเปลี่ยนเป็นสีดำ ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย ปากแห้ง คลื่นไส้ ลำไส้ไม่ทำงาน/ท้องอืด กระเพาะอาหารอักเสบ ลิ้นบวม อาเจียน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น หัวใจวาย ใบหน้าแดง ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ ชีพจรเต้นผิดปกติ และหัวใจเต้นเร็ว
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ลูกอัณฑะบวม ปัสสาวะออกช้า ความรู้สึกทางเพศถดถอย
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการ ผมร่วง ใบหน้าบวม คันตามผิวหนัง เกิดผื่นแพ้แสงแดดง่าย เหงื่อออกมาก ลมพิษ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดไขกระดูก มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ กดการ สร้างเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil
- ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำตาลในเลือดสูงหรือไม่ก็ต่ำ น้ำหนักตัวเพิ่มหรือไม่ก็ลดลง
- ผลต่อตับ: เช่น มีอาการดีซ่าน ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น หน้าอก/เต้านมโต
- ผลต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ: เช่น มีภาวะกระดูกหักง่าย
มีข้อควรระวังการใช้ไทรมิพรามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไทรมิพรามีน เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- ห้ามหยุดใช้ยานี้ทันที ด้วยจะมีภาวะถอนยาตามมา การหยุดใช้ยานี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับลดขนาดการใช้ยานี้ตามความเหมาะสม
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคต้อหิน ต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีประวัติเป็นลมชัก ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ด้วยตัวยานี้ จะทำให้อาการเจ็บป่วยดังกล่าว กลับมาทวีความรุนแรงมากขึ้น
- ผู้ที่ได้รับยานี้ต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด เพื่อแพทย์ตรวจการทำงานของตับ ว่ายังปกติดีหรือไม่
- ผู้ที่ได้รับยาไทรมิพรามีนเกินขนาด ควรต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที ด้วยตัวยานี้ จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดอาการชัก ความดันโลหิตต่ำ และมีภาวะเลือด เป็นกรด ตลอดจนเกิดอาการโคม่า
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบเห็นอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันตามผิวหนัง หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก แน่นหน้าอก มีไข้สูง กรณีดังกล่าวต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที่/ฉุกเฉิน
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไทรมิพรามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไทรมิพรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไทรมิพรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไทรมิพรามีนร่วมกับยารักษาความดันโลหิตสูง อย่างเช่น Guanethidine และ Debrisoquine ด้วยจะทำให้การลดความดันโลหิตทำได้ยากยิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ยาไทรมิพรามีนร่วมกับยากลุ่ม Barbiturates ด้วยจะทำให้ระดับยาไทรมิพรามีนในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลกระทบต่อการรักษาอาการซึมเศร้า
- ห้ามใช้ยาไทรมิพรามีนร่วมกับ ยา Linezolid ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะที่เรียกว่า Serotonin syndrome
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไทรมิพรามีนร่วมกับกลุ่มยาประเภท Sympathomimetic ด้วยจะทำให้มี ภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ตามมา
ควรเก็บรักษาไทรมิพรามีนอย่างไร?
ควรเก็บยาไทรมิพรามีนภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไทรมิพรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไทรมิพรามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Surmontil (เซอร์มอนทิล) | Aventis |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Trimipramine [2018,March3]
- https://www.drugs.com/mtm/surmontil.html [2018,March3]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/016792s034lbl.pdf [2018,March3]