ยาไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 กันยายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- ยาไตรแอมซิโนโลน มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาไตรแอมซิโนโลน มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไตรแอมซิโนโลน มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไตรแอมซิโนโลน มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาไตรแอมซิโนโลน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาไตรแอมซิโนโลน ควรทำอย่างไร?
- ยาไตรแอมซิโนโลน มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไตรแอมซิโนโลนอย่างไร?
- ยาไตรแอมซิโนโลน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไตรแอมซิโนโลนอย่างไร?
- ยาไตรแอมซิโนโลน มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- สเตียรอยด์ ยาสเตียรอยด์ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)
- โรคผิวหนัง
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- ริดสีดวงจมูก (Nasal polyp)
- ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
บทนำ
ยาไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) เป็นสารสังเคราะห์จากสเตียรอยด์ในกลุ่ม Corticosteroid มีคุณสมบัติต้านการอักเสบและกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ในร้านขายยาและในสถานพยาบาลสามารถพบไตรแอมซิโนโลน ในรูปแบบของ ยากิน ยาฉีด ยาพ่นสเปรย์ ยาทาชนิดครีมหรือขี้ผึ้ง ซึ่งใช้ในการรักษาอาการแพ้ต่างๆ หรืออาการคันตามผิวหนัง จากการศึกษาโดยให้ยาไตรแอมซิโนโลนกับสัตว์ทดลองพบว่า ยาก่อผลกระทบต่อตัวอ่อนในครรภ์ โดยทำให้พิการและเสียชีวิตได้ จึงไม่มีการทดลองใช้ยานี้ในสตรีที่ตั้งครรภ์เพราะผิดจริยธรรม เนื่องจากยานี้อาจก่ออันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
ยานี้หลังการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนรูป/ทำลายโดยตับและถูกขับออกจากร่างกายทางอุจจาระและทางปัสสาวะ
ยาไตรแอมซิโนโลน มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไตรแอมซิโนโลน มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อบำบัดรักษา อาการแพ้ต่างๆ เช่น ข้ออักเสบ ผิวหนังอักเสบ กดอา การของโรคภูมิแพ้ แผลอักเสบภายในปาก และในการรักษาและการป้องกันโรคริดสีดวงจมูก
ยาไตรแอมซิโนโลน มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไตรแอมซิโนโลน ออกฤทธิ์โดยการชะลอการทำงานของเม็ดเลือดขาว และลดการซึมผ่านทางหลอดเลือดฝอยของสารต่างๆ จึงส่งผลให้ลดภาวะการอักเสบได้ในที่สุด
ยาไตรแอมซิโนโลน มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไตรแอมซิโนโลน มักจัดจำหน่าย ในรูปแบบของ ยารับประทาน ยาพ่นทางจมูก ยาฉีด ยาครีม-โลชั่นสำหรับทาผิวหนัง ทั้งในรูปของยาเดี่ยวหรือผสมกับกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยมีความเข้มข้นของตัวยาหลายระดับ ทั้งนี้ขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการรักษา
ยาไตรแอมซิโนโลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดของยาไตรแอมซิโนโลนที่รับประทานในผู้ใหญ่และในเด็กมีขนาดที่ต่างกัน ซึ่งสำหรับการรักษาการอักเสบต่างๆ มีดังนี้ เช่น
- ผู้ใหญ่: มีขนาดการใช้ยาไตรแอมซิโนโลน เช่น
- มีขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 48 มิลลิกรัมต่อวัน
- ขนาดยาพ่นจมูกในผู้ใหญ่สูงสุดไม่เกิน 110 ไมโครกรัมต่อวัน
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาไตรแอมซิโนโลนควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาไตรแอมซิโนโลน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไตรแอมซิโนโลน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาไตรแอมซิโนโลนกับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรต้องแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่ หรือ กำลังให้นมบุตรหรือ ไม่ เพราะยาไตรแอมซิโนโลนสามารถผ่านรกและก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาไตรแอมซิโนโลน ควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทาน/ใช้ยาไตรแอมซิโนโลน สามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ และถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทาน/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องรับประทาน/ใช้ยาไตรแอมซิโนโลน เป็น 2 เท่า
ยาไตรแอมซิโนโลน มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไตรแอมซิโนโลน มีผลไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียงได้ดังต่อไปนี้ เช่น
- สามารถก่อให้เกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง
- ลดการสะสมแคลเซียมของกระดูกและก่อให้เกิดภาวะ/โรคกระดูกพรุน
- สามารถก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร จึงมีการแนะนำว่าให้รับประทานยาหลังอาหารทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผล/ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร
- กระตุ้นความอยากอาหารเพิ่มขึ้น และเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด
- การใช้ยานี้ในเด็กเป็นเวลานานๆ จะส่งผลให้ชะลอการเจริญเติบโตของเด็ก
- การใช้ยานี้ในรูปแบบยาชนิดทา สามารถทำให้ผิวหนังบริเวณที่ได้รับยามีสภาพที่บางกว่าปกติ จึงติดเชื้อได้ง่าย เป็นแผลง่าย และเกิดการแพ้ต่อสารต่างๆได้ง่าย
มีข้อควรระวังการใช้ยาไตรแอมซิโนโลนอย่างไร?
ข้อควรระวังของการใช้ยาไตรแอมซิโนโลน คือ
- ระวังการใช้ยาไตรแอมซิโนโลนกับผู้ที่มีภาวะ/โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคกระดูกพรุน โรคเบาหวาน โรคทางจิตเวช ด้วยจะส่งผลให้อาการของโรคดังกล่าวรุนแรงมากยิ่งขึ้น
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เพราะจะเกิดอันตรายต่อทารกได้ และในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ที่ป่วยเป็นโรคต้อหิน ผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) เพราะจะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้
- เฝ้าระวังการใช้ยานี้กับทารกและเด็กอย่างใกล้ชิด ด้วยยานี้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกและของเด็กได้
- เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องกับผู้ป่วยที่เป็น โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน เพราะยานี้อาจส่งผลให้โรครุนแรงขึ้นได้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีการแพ้ยานี้
- ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
ยาไตรแอมซิโนโลน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไตรแอมซิโนโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นได้ เช่น
- การใช้ยาไตรแอมซิโนโลนร่วมกับยารักษาโรคเบาหวาน สามารถลดประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย แพทย์และผู้ป่วยจึงต้องบริหารยาด้วยความระมัดระวัง ยารักษาโรคเบาหวาน ที่กล่าวถึง เช่น ไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) ไกลคลาไซด์ (Gliclazide) ไกลเมพิไรด์ (Glimepiride)
- การใช้ยาไตรแอมซิโนโลนร่วมกับยาแก้ปวด สามารถเพิ่มผลข้างเคียงของยาแก้ปวด โดยก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ยาแก้ปวดที่กล่าวถึง เช่น แอส ไพริน (Aspirin) ไดโคลฟีแนคโซเดียม (Diclofenac sodium) ไพรอกซิแคม (Piroxicam)
ควรเก็บรักษายาไตรแอมซิโนโลนอย่างไร?
ยาไตรแอมซิโนโลนในรูปแบบของยาฉีด และยาเม็ด ให้เก็บภายใต้อุณหภูมิที่ 20-25 องศาเซลเซียส (Celsius) ส่วนยาที่อยู่ในรูปแบบทาผิวหนัง ให้เก็บภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส และยาพ่นจมูก ให้เก็บตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยาที่กำกับมากับผลิตภัณฑ์ยานั้น
อนึ่ง ห้ามเก็บยาทุกรูปแบบในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ยาไตรแอมซิโนโลน มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาชื่อการค้าและบริษัทที่ผลิต/ผู้จำหน่าย ยาไตรแอมซิโนโลน ในประเทศไทย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aristocort (อลิสโตคอท) | Pfizer |
Aristocort A (อลิสโตคอท เอ) | Pfizer |
Centocort (เซนโตคอท) | Pharmasant Lab |
Curran (เคอแรน) | Community Pharm PCL |
Dynacort (ไดนาคอท) | Utopian |
Econazine (อีโคนาซีน) | YSP Industries |
Facort (ฟาคอท) | Biolab |
Fungisil-T (ฟังจิซิล-ที) | Silom Medical |
Generlog (เจนเนอล็อก) | General Drugs House |
Kanolone (คาโนโลน) | L.B.S. |
Kela (คีลา) | T. O. Chemicals |
Kemzid (เคมซิด) | Unison |
Lala Lotion (ลาลา โลชั่น) | Osoth Interlab |
Laver (เลเวอร์) | Neopharm |
Manolone (มาโนโลน) | Lam Thong |
Nasacort AQ (นาซาคอท เอคิว) | Sanofi-Aventis |
Oracortia (ออราคอร์เตีย) | Thai Nakorn Patana |
Tramsilone (แทรมซิโลน) | Greater Pharma |
Tram (ทราม) | Thai Nakorn Patana |
Triama (ไตรเอมา) | Union Drug |
Triamcinolone GPO (ไตรแอมซิโนโลน จีพีโอ) | GPO |
Tricozole (ไตรโคโซล) | Pharmasant Lab |
Trilosil (ไตรโลซิล) | Silom Medical |
Trim (ทริม) | M & H Manufacturing |
Trimicon (ไตรมิคอน) | Unison |
Trinoman (ไตรโนแมน) | T. Man Pharma |
V. Nolone (วี โนโลน) | T.C. Pharma-Chem |
Vacinolone-V (วาซิโนโลน-วี) | Atlantic Lab |
Zyno Cream (ไซโน ครีม) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Zarontin (ซารอนติน) | Pfizer |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Aristocort, Kenacort, Kenalog, Tricort, Triaderm, Azmacort, Trilone, Volon A, Tristoject, Tricortone, Ratio-Triacomb
บรรณานุกรม
- Drug Information Handbook 20th edition with Charles Flacy RPh. Ms, Pharm D FCSHP , Lora L.Armstrong RPh, PharmD BCPS , Morton P.Goldman, RPh, PharmD BCPS,FCCP , Leonard L. RPh. BSPharm
- http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=tramcinolone [2016,Aug27]
- https://www.drugs.com/triamcinolone.html [2016,Aug27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Triamcinolone [2016,Aug27]
Updated 2016, Aug27