ไตรเบโนไซด์ (Tribenoside)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 ตุลาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ไตรเบโนไซด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไตรเบโนไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไตรเบโนไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไตรเบโนไซด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- ไตรเบโนไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไตรเบโนไซด์อย่างไร?
- ไตรเบโนไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไตรเบโนไซด์อย่างไร?
- ไตรเบโนไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ลิโดเคน (Lidocaine)
- ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids or piles)
- ริดสีดวงจมูก (Nasal polyp)
- ริดสีดวงตา (Trachoma)
- วิธีใช้ยาเหน็บทวารหนัก (How to use anal suppository)
บทนำ
ยาไตรเบโนไซด์(Tribenoside) หรือในชื่ออื่นคือ ไกลเวนอล(Glyvenol) เป็นยาที่ฤทธิ์ยับยั้งการซึมผ่านของเหลวที่ผนังหลอดเลือดฝอยพร้อมกับเพิ่มการบีบตัวของหลอดเลือดทำให้ลดอาการเลือดคั่งภายใน ยานี้ยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อซึ่งเป็นสาเหตุ ของอาการปวดตามมา ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ทางคลินิกจึงนำยาชนิดนี้/ยานี้มาบำบัดอาการโรคริดสีดวงทวารหนัก ในสูตรตำรับจะมีการผสมยาลิโดเคน(Lidocaine) เพื่อบรรเทาอาการปวดของริดสีดวงฯร่วมด้วย
อนึ่ง มีข้อจำกัดการใช้ยาไตรเบโนไซด์บางประการที่ผู้บริโภคควรทราบ ดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไตรเบโนไซด์
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ ด้วยมีรายงานทางคลินิกการใช้ไตรเบโนไซด์กับสตรี มีครรภ์ที่เป็นริดสีดวงทวารพบว่า มีโอกาสเสี่ยงทำให้เกิดภาวะโพรงสมองคั่งน้ำในทารก
- ยานี้ไม่เหมาะกับผู้ป่วยด้วยโรคตับ
- หากเป็นริดสีดวงทวารที่อยู่ในระยะที่มีเลือดซึมออกจากริดสีดวง ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาที่ระงับการไหลซึมของเลือด เพราะยาทั้งสองชนิดอาจส่งผลกระทบต่อกันได้
- กรณีที่ใช้ยาไตรเบโนไซด์แล้วมีอาการผิดปกติ เช่น เกิดผื่นคัน มีไข้ อึดอัด/หายใจ ไม่ออก/หายใจลำบาก ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- การใช้ยานี้กับสตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องให้มารดาเปลี่ยนการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาเป็นนมผงดัดแปลงแทน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการส่งผ่านตัวยานี้ถึงตัวทารกโดยผ่านไปกับน้ำนมมารดา
- ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้กับเด็ก
ทั้งนี้ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไตรเบโนไซด์มีทั้ง ยาเหน็บทวารหนัก และยาครีมสำหรับทาบริเวณทวารหนัก ก่อนการใช้ยาไตรเบโนไซด์ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการและความเหมาะสมในการใช้ยาชนิดนี้ก่อนเสมอ และหากต้องการข้อมูลการใช้ยาเพิ่มเติม ก็สามารถปรึกษาเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป
ไตรเบโนไซด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไตรเบโนไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งชี้ เช่น
- ใช้สำหรับบำบัดอาการริดสีดวงทวารหนัก
ไตรเบโนไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไตรเบโนไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการซึมผ่านของของเหลวในร่างกายเข้าสู่หลอดเลือดแดง ส่งผลทำให้ลดปริมาณเลือดที่จะเข้าไปคั่งในริดสีดวงทวาร นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์เพิ่มการบีบตัวเพื่อไล่เลือดที่คั่งค้างในหลอดเลือดให้ไหลเวียนออกไป จากกลไกดังกล่าวจึงเป็นผลให้อาการริดสีดวงทวารบรรเทาลง
ไตรเบโนไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไตรเบโนไซด์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเหน็บทวารหนัก ที่ประกอบด้วยตัวยา Tribenoside 400 มิลลิกรัม + Lidocaine 40 มิลลิกรัม/แท่ง
- ยาครีมสำหรับทาบริเวณทวารหนัก ที่ประกอบด้วย Tribenoside 5% + Lidocaine HCl 2.12%
ไตรเบโนไซด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไตรเบโนไซด์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับรักษาอาการริดสีดวงทวารหนัก เช่น
- ผู้ใหญ่: เหน็บยาเข้าทางทวารหนักครั้งละ 1 แท่ง วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น โดย ควรแช่ยาในตู้เย็นเพื่อให้แท่งยามีความแข็งตัวเพื่อสามารถสอดเข้าทวารหนักได้ง่าย หรือบีบยาครีมผ่านอุปกรณ์สอดใส่ยาเข้าบริเวณทวารหนักวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เมื่ออาการดีขึ้นแพทย์อาจแนะนำให้ลดความถี่การทายาเหลือวันละ 1 ครั้ง
- เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงประสิทธิผล ขนาด และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ระยะเวลาในการใช้ยานี้ ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- ยา Lidocaine เป็นยาชาเฉพาะที่เพื่อเสริมฤทธิ์ช่วยลดอาการปวดริดสีดวงทวาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไตรเบโนไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหน้าอก/หายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ มีแผลติดเชื้อที่อวัยวะต่างๆ โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไตรเบโนไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรเพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
หากลืมใช้ยาไตรเบโนไซด์ เหน็บ หรือ ลืมทายาไตรเบโนไซด์ สามารถใช้ยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้ใช้ยาที่ขนาดปกติ
แต่การลืมใช้ยาไตรเบโนไซด์บ่อยๆหลายครั้ง ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโดยตรงเพราะอาจทำให้อาการโรคกำเริบลุกลามมากยิ่งขึ้น
อนึ่ง ในผู้ป่วยแต่ละรายแพทย์ อาจแนะนำวิธีใช้ยาเมื่อลืมทาในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับอาการเจ็บป่วยของโรคแต่ละประเภท ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าไว้ก่อนว่า ควรทำอย่างไรเมื่อตนเองลืมใช้ยานั้นๆ
ไตรเบโนไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไตรเบโนไซด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อทวารหนัก เช่น มีความรู้สึกแสบคันในครั้งแรกๆที่ใช้ยานี้
* กรณีแพ้ยานี้ จะพบเห็นอาการผื่นคันขึ้นตามร่างกาย หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้า-ริมฝีปาก-คอ มีอาการบวม หรือมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเมื่อเกิดอาการดังกล่าว ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ไตรเบโนไซด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไตรเบโนไซด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้ หรือ แพ้ยาลิโดเคน
- ใช้ยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์
- ห้ามรับประทานอาหารรสจัด ด้วยสามารถส่งผลกระทบต่อริดสีดวงทวารให้มีอาการ อักเสบมากขึ้น
- ไม่ใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ไม่ปรับขนาดการใช้ยานี้โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ปรับสภาพการใช้ชีวิตประจำวันโดยเฉพาะเรื่องการรับประทานอาหาร การฝึกขับถ่ายเพื่อมิให้มีอาการท้องผูก ซึ่งเป็นสาเหตุของริดสีดวงทวาร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไตรเบโนไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไตรเบโนไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยเป็นยาใช้เฉพาะที่บริเวณทวารหนัก จึงยังไม่พบเห็น/ไม่มีรายงานการเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทาใดๆ
ควรเก็บรักษาไตรเบโนไซด์อย่างไร?
ควรเก็บยาไตรเบโนไซด์ ดังนี้
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว และ
- ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลอง หรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
ไตรเบโนไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไตรเบโนไซด์มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Procto-Glyvenol (พร็อกโต-ไกลเวนอล) | Novartis Pharma |
บรรณานุกรม
- http://drugspi.org/Tribenoside/Lidocaine [2018,Sep22]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/578928 [2018,Sep22]
- http://standalone-preprod-cl.vademecum.es/html_docs/ae/HTML_VMP/vmp_4345.html [2018,Sep22]
- https://pdfs.semanticscholar.org/a0fa/8f86b1cac9d9012354a45532f8d82b17878b.pdf [2018,Sep22]
- https://www.old.health.gov.il/units/pharmacy/trufot/alonim/Rishum_5_102805417.pdf [2018,Sep22]
- https://www.researchgate.net/publication/49706664_Teratogenic_potential_of_tribenoside_a_drug_for_the_treatment_of_haemorrhoids_and_varicose_veins-A_population-based_case-control_study [2018,Sep22]